คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6733/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ร้อยตำรวจเอก ท. และดาบตำรวจ บ. กับพวกตรวจยึดเมทแอมเฟตามีนของกลางได้จากจำเลยที่อำเภอปากพนัง ซึ่งอยู่ในอำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรปากพนัง การสอบสวนโดยพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองนครศรีธรรมราช จึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบ คดีนี้กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ไม่ได้กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน กรณีจึงมิใช่ความผิดส่วนหนึ่งกระทำในท้องที่หนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งในอีกท้องที่หนึ่งอันทำให้พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองนครศรีธรรมราช มีอำนาจสอบสวนได้
แม้ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องก็ชอบที่จะต้องมีคำสั่งเกี่ยวกับเมทแอมเฟตามีนและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางที่โจทก์มีคำขอให้ริบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) ประกอบมาตรา 215 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 การที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยเกี่ยวกับของกลางดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ เมื่อเมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จึงให้ริบตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102 ส่วนโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง โจทก์ขอให้ศาลสั่งริบโดยอ้างว่าจำเลยใช้ในการติดต่อจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน แต่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เมื่อคำเบิกความของพยานโจทก์มีข้อพิรุธน่าสงสัยว่าจะมีการวางแผนล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยหรือไม่ ทั้งโจทก์มิได้นำสืบถึงรายการการใช้โทรศัพท์ระหว่างโทรศัพท์ของสายลับกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง ข้อเท็จจริงจึงยังรับฟังไม่ได้ว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะหรือวัตถุอื่นใดซึ่งจำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามที่โจทก์ฟ้องโดยตรง และไม่ใช่ทรัพย์สิน ที่จำเลยได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือได้มาโดยได้กระทำความผิดซึ่งหมายถึงความผิดตามฐานที่โจทก์ฟ้องเท่านั้น จึงไม่อาจริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102 และ ป.อ. มาตรา 33 ทั้งโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์สินที่ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิด อันจะต้องริบเสียทั้งสิ้นตาม ป.อ. มาตรา 32

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67, 101/1, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33 ริบเมทแอมเฟตามีนและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง จำคุก 4 ปี และปรับ 400,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี และปรับ 300,000 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 กรณีกักขังแทนค่าปรับให้กักขังได้ไม่เกิน 2 ปี ริบเมทแอมเฟตามีนและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2551 เวลาประมาณ 12 นาฬิกา ร้อยตำรวจเอก เทวกฤต และดาบตำรวจ บุญเสริม กับพวก เจ้าพนักงานตำรวจประจำสถานีตำรวจภูธรเมืองนครศรีธรรมราช ร่วมกันตรวจค้นตัวจำเลยที่บริเวณหน้าร้านขายอาหารตามสั่งในอำเภอปากพนังห่างจากสถานีตำรวจภูธรเมืองนครศรีธรรมราชประมาณ 30 กิโลเมตร แต่ไม่พบสิ่งของผิดกฎหมาย จึงนำจำเลยเดินทางมาที่สถานีตำรวจภูธรเมืองนครศรีธรรมราชเพื่อตรวจค้นให้ละเอียดอีกครั้ง ระหว่างทางร้อยตำรวจเอก เทวกฤต และดาบตำรวจ บุญเสริม กับพวก ยึดได้เมทแอมเฟตามีน 50 เม็ด น้ำหนัก 4.670 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 0.919 กรัม โทรศัพท์เคลื่อนที่ 1 เครื่อง และรถกระบะ หมายเลขทะเบียน บม 9697 นครศรีธรรมราช เป็นของกลาง และกล่าวหาจำเลยว่ามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แล้วนำจำเลยพร้อมของกลางส่งร้อยตำรวจโท เอกวิทย์ พนักงานสอบสวน ดำเนินคดี
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ก่อนเกิดเหตุร้อยตำรวจเอก เทวกฤต กับพวก วางแผนให้สายลับโทรศัพท์ล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยจนจำเลยตกลงขายเมทแอมเฟตามีนให้สายลับและนัดส่งมอบที่ร้านอาหารตามสั่งในอำเภอปากพนัง แต่ร้อยตำรวจเอก เทวกฤต กลับไม่ได้รายงานผู้บังคับบัญชาเป็นลายลักษณ์อักษรหรือลงบันทึกประจำวันไว้เพื่อใช้เป็นหลักฐานยืนยันการล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลย และไม่ได้มีการเตรียมเงินเพื่อให้สายลับไปล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยตามที่สายลับตกลงซื้อขายเมทแอมเฟตามีนกับจำเลยอันเป็นการผิดปกติวิสัยในการวางแผนล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนเพื่อจับกุมผู้กระทำความผิดที่มีพฤติการณ์ในการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ทำให้มีข้อพิรุธน่าสงสัยว่าจะมีการวางแผนล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยจริงดังที่พยานโจทก์ทั้งสองเบิกความหรือไม่ เมื่อค้นตัวจำเลยที่หน้าร้านอาหารแล้วไม่พบสิ่งของผิดกฎหมาย การที่พยานโจทก์ทั้งสองประสงค์จะตรวจค้นตัวจำเลยอย่างละเอียดอีกครั้ง แสดงให้เห็นได้ว่าพยานโจทก์ทั้งสองต้องการตรวจค้นตัวจำเลยเพื่อหาเมทแอมเฟตามีนยืนยันถึงการกระทำความผิดของจำเลย พยานโจทก์ทั้งสองจึงควรนำจำเลยไปที่สถานีตำรวจภูธรปากพนัง ซึ่งเป็นสถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุและอยู่ใกล้กว่าสถานีตำรวจภูธรเมืองนครศรีธรรมราช แทนที่จะนำจำเลยเดินทางไปที่สถานีตำรวจภูธรเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งอยู่ห่างถึงประมาณ 30 กิโลเมตร นอกจากนี้การไม่พบสิ่งของผิดกฎหมายที่ตัวจำเลย เท่ากับพยานโจทก์ทั้งสองไม่มีพยานหลักฐานเอาผิดแก่จำเลยได้ ลำพังเพียงเจ้าพนักงานตำรวจสอบถามจำเลยเกี่ยวกับการซื้อขายเมทแอมเฟตามีนและแจ้งให้จำเลยทราบว่าเมื่อไปถึงสถานีตำรวจจะตรวจค้นจำเลยอย่างละเอียดเท่านั้น จึงไม่น่าเชื่อว่าจะทำให้จำเลยยอมบอกเจ้าพนักงานตำรวจว่าได้นำเมทแอมเฟตามีนติดตัวมา 50 เม็ด ทั้งขณะที่พยานโจทก์ทั้งสองพาจำเลยเดินทางไปสถานีตำรวจภูธรเมืองนครศรีธรรมราช ภายในรถมีเพียงพยานโจทก์ทั้งสองกับเจ้าพนักงานตำรวจอีก 2 คน เท่านั้น หากจำเลยซุกซ่อนเมทแอมเฟตามีนไว้ที่กางเกงชั้นในจริงแล้ว จำเลยซึ่งอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานตำรวจอย่างใกล้ชิดย่อมไม่มีโอกาสที่จะนำเมทแอมเฟตามีนออกมาจากกางเกงชั้นในเพื่อทำลายทิ้งได้ จึงไม่มีเหตุจำเป็นที่ร้อยตำรวจเอก เทวกฤต ต้องรีบตรวจค้นตัวจำเลยที่สถานีตำรวจภูธรย่อย บางจาก เพราะหากไปตรวจค้นตัวจำเลยที่สถานีตำรวจภูธรเมืองนครศรีธรรมราชก็ต้องพบเมทแอมเฟตามีนที่กางเกงชั้นในของจำเลยอยู่ดี ที่ร้อยตำรวจเอก เทวกฤต เบิกความตอบโจทก์ถามติงว่า เหตุที่นำจำเลยแวะไปตรวจค้นที่สถานีตำรวจภูธรย่อย บางจาก เนื่องจากจำเลยบอกว่ามีเมทแอมเฟตามีน 50 เม็ด และพยานต้องการทราบโดยเร็ว จึงเป็นคำเบิกความที่ไม่สมเหตุสมผล การตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนที่กางเกงชั้นในของจำเลยที่สถานีตำรวจภูธรย่อย บางจาก ก็อยู่ในความรู้เห็นของพยานโจทก์ทั้งสองกับพวกเท่านั้น โดยไม่มีเจ้าพนักงานตำรวจประจำสถานีตำรวจภูธรย่อย บางจาก ร่วมรู้เห็นเป็นพยานด้วย ดังนี้ พยานโจทก์ทั้งสองจะเบิกความอย่างไรก็ได้ แม้ชั้นจับกุมจำเลยให้การรับสารภาพ ตามบันทึกการจับกุมก็ตาม แต่ถ้อยคำรับสารภาพของจำเลยซึ่งเป็นผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความผิดห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84 วรรคท้าย ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองจึงไม่น่าเชื่อถือและรับฟังไม่ได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนของกลางที่สถานีตำรวจภูธรย่อย บางจาก เมื่อชั้นสอบสวนจำเลยให้การตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาว่า เจ้าพนักงานตำรวจพาจำเลยไปที่โอลิเวียรีสอร์ท ตำบลปากพนังฝั่งตะวันตก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช และตรวจค้นตัวพบเมทแอมเฟตามีน 50 เม็ด อยู่ที่กางเกงชั้นในของจำเลย ซึ่งร้อยตำรวจโท เอกวิทย์ เบิกความว่า ขณะสอบคำให้การมีทนายความซึ่งพนักงานสอบสวนเป็นผู้จัดให้ร่วมฟังการสอบสวนด้วย และจำเลยตอบโจทก์ถามค้านว่า ชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนไม่ได้ขู่เข็ญหรือทำร้ายจำเลย เชื่อว่าจำเลยให้การตามความเป็นจริง สอดคล้องกับทางนำสืบของจำเลยที่ว่า เจ้าพนักงานตำรวจได้พาจำเลยไปที่โอลิเวียรีสอร์ท ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ร้อยตำรวจเอก เทวกฤต และดาบตำรวจ บุญเสริม กับพวกตรวจยึดเมทแอมเฟตามีนของกลางได้จากจำเลยที่โอลิเวียรีสอร์ท อำเภอปากพนัง ซึ่งอยู่ในอำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรปากพนัง การสอบสวนโดยร้อยตำรวจโท เอกวิทย์ พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองนครศรีธรรมราช จึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบ ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน แม้โจทก์จะไม่ได้ฟ้องจำเลยในความผิดฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน แต่การที่จำเลยติดต่อกับสายลับในพื้นที่อำเภอเมืองนครศรีธรรมราชจนนำไปสู่การติดตามจับกุมจำเลยได้ในอำเภอปากพนังในเวลาต่อเนื่องกัน ย่อมถือได้ว่าการกระทำของจำเลยส่วนหนึ่งได้กระทำความผิดในท้องที่อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช และอีกส่วนหนึ่งกระทำในท้องที่อำเภอปากพนัง เป็นการกระทำความผิดต่อเนื่องกันในหลายท้องที่มากกว่าหนึ่งท้องที่ขึ้นไปเกี่ยวพันกัน พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นท้องที่ที่เกี่ยวข้องจึงมีอำนาจสอบสวนได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 นั้น เห็นว่า คดีนี้กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเท่านั้น ไม่ได้กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน กรณีจึงมิใช่ความผิดส่วนหนึ่งกระทำในท้องที่หนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งในอีกท้องที่หนึ่งอันทำให้พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองนครศรีธรรมราชมีอำนาจสอบสวนได้ดังที่โจทก์ฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง แม้ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องก็ชอบที่จะต้องมีคำสั่งเกี่ยวกับเมทแอมเฟตามีนและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางที่โจทก์ขอให้มีคำสั่งริบด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186 (9) ประกอบมาตรา 215 และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 การที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยเกี่ยวกับของกลางดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง เมื่อเมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จึงให้ริบเสียตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 102 ส่วนโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ขอให้ศาลสั่งริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางโดยอ้างว่าจำเลยใช้ในการติดต่อจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน แต่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เมื่อวินิจฉัยดังกล่าวข้างต้นว่า คำเบิกความของพยานโจทก์มีข้อพิรุธน่าสงสัยว่าจะมีการวางแผนล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยหรือไม่ ทั้งโจทก์มิได้นำสืบถึงรายการการใช้โทรศัพท์ระหว่างโทรศัพท์ของสายลับกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง ดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงยังรับฟังไม่ได้ว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะหรือวัตถุอื่นใดซึ่งจำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามที่โจทก์ฟ้องโดยตรง และไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือได้มาโดยได้กระทำความผิดซึ่งหมายถึงความผิดตามฐานที่โจทก์ฟ้องเท่านั้น จึงไม่อาจริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 102 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 ทั้งโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์สินที่ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิด อันจะต้องริบเสียทั้งสิ้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง แต่ไม่ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง โดยให้คืนแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share