คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9002/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ก่อนผู้ตายถึงแก่กรรม ผู้ตายเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งซึ่งถึงที่สุด แม้ผู้ตายจะทำหนังสือรับสภาพหนี้พิพาทซึ่งเป็นการรับสภาพหนี้ตามคำพิพากษาคดีดังกล่าว ก็ไม่ทำให้หนี้ที่ผู้ตายมีอยู่ตามคำพิพากษาสิ้นไป การรับสภาพหนี้ดังกล่าวก็เพียงขยายเวลาการผ่อนชำระหนี้และงดเว้นเฉพาะดอกเบี้ย ซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์ที่ผู้ตายจะต้องชำระแก่โจทก์เท่านั้น หนี้ประธานยังไม่ระงับคู่กรณีไม่ได้ทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้แต่อย่างใด มูลหนี้เดิมยังมีอยู่ ทั้งไม่ใช่เป็นการระงับข้อพิพาทซึ่งมีอยู่แล้วให้เสร็จสิ้นไป หนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่หรือเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความและไม่ได้ก่อให้เกิดหนี้ขึ้นใหม่ การที่โจทก์นำมูลหนี้เดิมซึ่งโจทก์เคยฟ้องผู้ตายและศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดดังกล่าวมาฟ้องจำเลยซึ่งเป็นทายาทของผู้ตายในครั้งหลังโดยอาศัยหนังสือรับสภาพหนี้พิพาทนั้น จึงเป็นการฟ้องซ้ำกับคดีเดิม ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 148

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันชำระเงินจำนวน 942,833.28บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งหกให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่าก่อนผู้ตายถึงแก่กรรม ผู้ตายเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1213/2531 ของศาลชั้นต้นซึ่งถึงที่สุดให้ผู้ตายชำระหนี้จำนวน 975,991.43 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยตามสำเนาคำบังคับและสำเนาหมายบังคับคดีเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ต่อมาผู้ตายไม่ชำระหนี้ โจทก์จึงฟ้องผู้ตายเป็นคดีล้มละลาย ในระหว่างการพิจารณาดังกล่าว ผู้ตายขอผ่อนชำระหนี้โดยขอยกเว้นดอกเบี้ย ซึ่งกระทรวงการคลังได้พิจารณาแล้วอนุมัติให้ผู้ตายผ่อนชำระหนี้ในอัตราเดือนละ 3,000 บาท โดยยกเว้นดอกเบี้ย ผู้ตายจึงได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้ไว้ต่อโจทก์ขอผ่อนชำระหนี้เดือนละ 3,000 บาท ให้แล้วเสร็จภายใน27 ปี โดยยกเว้นดอกเบี้ยตามหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.4 โจทก์จึงถอนฟ้องคดีล้มละลาย ผู้ตายถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2541ผู้ตายยังคงค้างชำระหนี้โจทก์อยู่จำนวน 942,833.28 บาท โจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งหกซึ่งเป็นทายาทของผู้ตายให้ชำระหนี้แก่โจทก์ตามหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าว มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้ซ้ำกับคดีเดิมหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่าหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.4ระบุให้ผู้ตายงดเว้นการชำระดอกเบี้ยและให้มีระยะเวลาชำระหนี้ยาวถึง27 ปี และเป็นการระงับข้อพิพาทที่มีอยู่ให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงเป็นการแปลงหนี้ใหม่และเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 และมาตรา 850 ด้วยมูลหนี้เดิมระงับ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งหกซึ่งเป็นทายาทชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าแม้ผู้ตายจะทำหนังสือรับสภาพหนี้ตามเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งเป็นการรับสภาพหนี้ตามคำพิพากษา ก็ไม่ทำให้หนี้ที่ผู้ตายมีอยู่ตามคำพิพากษาสิ้นไป การรับสภาพหนี้ดังกล่าวก็เพียงขยายเวลาการผ่อนชำระหนี้และงดเว้นเฉพาะดอกเบี้ย ซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์ที่ผู้ตายจะต้องชำระแก่โจทก์เท่านั้น หนี้ประธานยังไม่ระงับ คู่กรณีไม่ได้ทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้แต่อย่างใด มูลหนี้เดิมยังมีอยู่ ทั้งไม่ใช่เป็นการระงับข้อพิพาทซึ่งมีอยู่แล้วให้เสร็จสิ้นไป หนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่หรือเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความดังที่จำเลยทั้งหกอ้าง หนังสือรับสภาพหนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดหนี้ขึ้นใหม่การที่โจทก์นำมูลหนี้เดิมซึ่งโจทก์เคยฟ้องผู้ตายและศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1213/2531 ของศาลชั้นต้นมาฟ้องจำเลยทั้งหกซึ่งเป็นทายาทของผู้ตายในครั้งหลังโดยอาศัยหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ตามเอกสารหมาย จ.4 นั้น จึงเป็นการฟ้องซ้ำกับคดีเดิมต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share