แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
อธิบดีกรมโจทก์เป็นผู้แทนมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ เมื่ออธิบดีกรมโจทก์ได้ทราบเรื่องการโอนที่ดินอันเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2530 ซึ่งเป็นเหตุให้เพิกถอนการโอนได้ การนับระยะเวลาที่จะใช้สิทธิเรียกร้องเพิกถอนการโอนจึงต้องนับแต่วันดังกล่าว แม้เจ้าหน้าที่ระดับต่าง ๆของโจทก์ได้ทราบเรื่องที่จะขอให้เพิกถอนโอนเกินกำหนด 1 ปีแต่บุคคลดังกล่าวมิใช่ผู้ที่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์จึงยังถือว่าโจทก์ได้รู้ถึงสิทธิเรียกร้องดังกล่าวไม่ได้ โจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2530 จึงเป็นการฟ้องคดีภายในกำหนดอายุความ1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 แล้ว ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลโดยเป็นกรมในรัฐบาลสังกัดกระทรวงการคลัง ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นบิดาของจำเลยที่ 2และเป็นผู้ประกอบการค้า โดยจดทะเบียนการค้าตามกฎหมายที่สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดนครราชสีมา ใช้ชื่อว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดโกศลแอนด์วิทย์ มีจำเลยที่ 1 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิด เนื่องจากมีเหตุอันควรที่โจทก์เชื่อว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดโกศลแอนด์วิทย์เสียภาษีอากรไม่ถูกต้อง โจทก์จึงตรวจสอบในรอบระยะเวลาบัญชีระหว่างปี 2514 ถึงปี 2517 ปรากฏว่าเสียภาษีอากรไม่ถูกต้องจริงโจทก์จึงประเมินการเสียภาษีใหม่ ดังนี้ ในรอบระยะเวลาบัญชีระหว่างเดือนมกราคม 2514 ถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2514 ห้างหุ้นส่วนจำกัดโกศลแอนด์วิทย์ ต้องเสียภาษีการค้า เบี้ยปรับและเงินเพิ่มจำนวน39,721.62 บาท และต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2514และเงินเพิ่มอีกจำนวน 39,265.85 บาท ในรอบระยะเวลาบัญชีระหว่างเดือนมกราคม 2515 ถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2515 ห้างหุ้นส่วนจำกัดโกศลแอนด์วิทย์ต้องเสียภาษีการค้า เบี้ยปรับและเงินเพิ่มจำนวน7,707.64 บาท และต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2515และเงินเพิ่มอีกจำนวน 495.36 บาท ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2516ห้างหุ้นส่วนจำกัดโกศลแอนด์วิทย์ ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2516 และเงินเพิ่มจำนวน 290.04 บาท ในรอบเวลาบัญชีระหว่างมกราคม 2517 ถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2517 ห้างหุ้นส่วนจำกัดโกศลแอนด์วิทย์ต้องเสียภาษีการค้า เบี้ยปรับและเงินเพิ่มจำนวน32,484.90 บาท และต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2517และเงินเพิ่มจำนวน 7,518.86 บาท โจทก์แจ้งประเมินภาษีไปยังห้างหุ้นส่วนจำกัดโกศลแอนด์วิทย์ให้นำภาษีที่ค้างดังกล่าวไปชำระให้แก่โจทก์แต่ห้างหุ้นส่วนจำกัดโกศลแอนด์วิทย์เพิกเฉยและมิได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายในกำหนด 30 วันทั้งยอมรับว่าเป็นหนี้ค้างชำระเงินภาษีรวม 127,484.28 บาทจำเลยที่ 1 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการและเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดก็ต้องร่วมรับผิดกับห้างหุ้นส่วนจำกัดโกศลแอนด์วิทย์ด้วย โจทก์จึงมีสิทธิบังคับยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระภาษีอากรค้างจ่ายดังกล่าว เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2526จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินของจำเลยที่ 1โฉนดเลขที่ 8660 พร้อมบ้านไม้ 2 ชั้น คิดเป็นเงิน 235,100 บาทให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1โดยเสน่หา ซึ่งการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวกระทำขึ้นหลังจากที่จำเลยที่ 1 ตกเป็นลูกหนี้ค้างชำระเงินภาษีอากรต่อโจทก์ตามประมวลรัษฎากรแล้ว ทั้งนี้จำเลยที่ 1 รู้อยู่ว่าการที่จำเลยที่ 1โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หานั้นเป็นการฉ้อฉลทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ค่าภาษีอากรต้องเสียเปรียบอันเป็นการโอนโดยประสงค์จะไม่ให้โจทก์ยึดที่ดินดังกล่าวมาขายทอดตลาดชำระหนี้ภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12 ได้ เพราะจำเลยที่ 1ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดที่โจทก์จะบังคับยึดทรัพย์ออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้ภาษีอากรค้างชำระได้อีก โจทก์เพิ่งทราบมูลเหตุแห่งการฉ้อฉลเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2530 โดยสำนักงานสรรพากรกรุงเทพมหานครแจ้งให้โจทก์ทราบ ขอให้เพิกถอนนิติกรรมสัญญายกให้ที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 8660 แก่จำเลยที่ 2หากจำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาจำเลยทั้งสองโอนที่ดินดังกล่าวกลับคืนสู่ฐานะเดิม
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์โดยเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจของโจทก์ได้ทราบมูลเหตุที่จะเพิกถอนเกินกว่า 1 ปีแล้ว มิใช่โจทก์เพิ่งทราบเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2530 ฟ้องของโจทก์จึงขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์นำคดีมาฟ้องเกินกว่า 10 ปีแล้วจึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมสัญญาการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 8660 ตำบลวัดท่าพระ (เกาะท่าพระ) อำเภอบางกอกใหญ่กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 71 ตารางวา ระหว่างจำเลยที่ 1 ผู้ให้และจำเลยที่ 2 ผู้รับให้ ตามสัญญาฉบับลงวันที่ 19 เมษายน 2526และให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนกลับคืนสู่ฐานะเดิม หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสองเพียงว่า เมื่อนับแต่เจ้าหน้าที่สรรพากร กรุงเทพมหานครเขตบางกอกใหญ่ ของโจทก์ทราบเหตุที่จะขอให้เพิกถอนการโอนถึงวันฟ้องเป็นเวลาเกินกำหนด 1 ปี ฟ้องโจทก์ที่ขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 จึงขาดอายุความตามมาตรา 240 แล้ว ปัญหานี้ ข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาอุทธรณ์โดยโจทก์จำเลยมิได้ฎีกาโต้แย้งกันว่า สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครสาขาธนบุรี ได้มีหนังสือแจ้งให้ทางสำนักงานสรรพากร กรุงเทพมหานครเขตบางกอกใหญ่ ทราบถึงการโอนที่ดินอันเป็นมูลเหตุเพิกถอนการฉ้อฉลในคดีนี้เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2529 จากนั้นได้มีการรายงานไปตามลำดับชั้นถึงอธิบดีกรมสรรพากรโจทก์เมื่อวันที่2 มกราคม 2530 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2530 เห็นว่าอธิบดีกรมโจทก์เป็นผู้แทนมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ เมื่ออธิบดีกรมโจทก์ทราบเรื่องการโอนที่ดินอันเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2530 ซึ่งเป็นเหตุให้เพิกถอนการโอนได้ การนับระยะเวลาที่จะใช้สิทธิเรียกร้องเพิกถอนการโอนจึงต้องนับแต่วันดังกล่าว แม้เจ้าหน้าที่ระดับต่าง ๆ ของโจทก์ได้ทราบเรื่องที่จะขอให้เพิกถอนการโอนเกินกำหนด 1 ปี แต่บุคคลดังกล่าวมิใช่ผู้ที่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ จึงยังถือว่าโจทก์ได้รู้ถึงสิทธิเรียกร้องดังกล่าวไม่ได้ โจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2530 จึงเป็นการฟ้องคดีภายในกำหนดอายุความ1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 แล้ว ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ”
พิพากษายืน