คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3559/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจกท์ร่วมและบิดามารดากับ อ. พี่สาวโจทก์ร่วมได้ตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร้านทองร่วมกัน โดยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น เข้าลักษณะเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญตาม ป.พ.พ. มาตรา 1012 ประกอบมาตรา 1025 เมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนมิได้ตกลงกันไว้ในกระบวนจัดการห้างหุ้นส่วนไว้ ผู้เป็นหุ้นส่วนย่อมจัดการห้างหุ้นส่วนนั้นได้ทุกคนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1033 ดังนั้น โจทก์ร่วมซึ่งเป็นหุ้นส่วนในกิจการร้านทอง ย่อมเป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้สอบสวนคดีนี้ได้ โดยไม่จำต้องมีหลักฐานการมอบอำนาจให้โจทก์ร่วมมีอำนาจดำเนินคดีแทนร้านทอง
จำเลยกับพวกหลอกลวงโจทก์ร่วมว่าจะรับทองรูปพรรณจากร้านทองของโจทก์ร่วมไปจำหน่ายแก่ลูกค้าซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ โดยขอใบบันทึกรายการขายของร้านทองของโจทก์ร่วมไปให้ลูกค้าชำระเงินค่าทองรูปพรรณให้แก่โจทก์ร่วมด้วยบัตรเครดิต โจทก์ร่วมหลงเชื่อจึงมอบทองรูปพรรณและใบบันทึกรายการขายที่รูดกับเครื่องรูดบัตรของทางร้านซึ่งปรากฏชื่อร้านและหมายเลขสมาชิกของร้านทองแล้วให้จำเลยไป เมื่อจำเลยขายทองรูปพรรณให้แก่ลูกค้าได้แล้ว จำเลยจะได้จัดให้ลูกค้านำบัตรเครดิตของลูกค้ามารูดกับเครื่องรูดบัตรอีกเพื่อให้ปรากฏหมายเลขบัตรของลูกค้า วันหมดอายุบัตร และขออนุมัติวงเงินจากธนาคาร กรอกรายละเอียดวันที่ จำนวนเงินที่ลูกค้าชำระ และให้ลูกค้าลงลายมือชื่อในใบบันทึกรายการขายแล้วจำเลยจะได้ส่งใบบันทึกรายการขายนั้นให้แก่โจทก์ร่วมเพื่อให้โจกท์ร่วมนำไปขอรับเงินจากธนาคารต่อไป แต่เมื่อหลอกลวงได้ทองรูปพรรณและใบบันทึกรายการขายจากโจทก์ร่วมแล้ว จำเลยกลับใช้บัตรเครดิตปลอมมารูดกับเครื่องรูดบัตรเพื่อลงใบบันทึกรายการขาย แล้วส่งใบบันทึกรายการขายปลอมดังกล่าวมาให้โจทก์ร่วมเพื่อขอรับเอาทองรูปพรรณและใบบันทึกรายการขายไปจากโจทก์ร่วมอีก โจทก์ร่วมหลงเชื่อมอบทองรูปพรรณให้จำเลยรับไปคิดเป็นเงิน 889,400 บาท ซึ่งเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้อง และจำเลยยังได้ร่วมกับพวกใช้ใบบันทึกรายการขายปลอมเป็นเอกสารประกอบการฉ้อโกงโดยส่งไปให้โจทก์ร่วม เพื่อให้โจทก์ร่วมนำส่งใบบันทึกรายการขายปลอมนั้นไปขอรับเงินจากธนาคาร ก. และธนาคาร ท. แต่ละวันแยกต่างหากจากกันตามที่ปรากฏในใบบันทึกรายการขาย การกระทำของจำเลยกับพวกในส่วนนี้จึงเป็นความผิดฐานใช้มบบันทึกรายการขายซึ่งเป็นเอกสารสิทธิปลอมรวม 24 กระทง ตามฟ้อง
การที่จำเลยกับพวกใช้ใบบันทึกรายการขายทั้ง 24 กรรมนั้น จำเลยได้กระทำโดยมีเจตนาเดียวเพื่อฉ้อโกงโจทก์ร่วม บันทึกรายการขายปลอมที่จำเลยกับพวกร่วมกันใช้โดยจัดส่งไปให้โจทก์ร่วมก็เพื่อเป็นอุบายหลอกลวงให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อมอบทองรูปพรรณให้จำเลยกับพวกนั่นเอง ความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงโจทก์ร่วมที่จำเลยกับพวกกระทำต่อโจทก์ร่วมจึงเป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมทั้ง 24 กระทง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 264, 265, 268, 341 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 889,400 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานายปราโมทย์ เขาเหิน ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 268 ประกอบมาตรา 265, 83 ให้เรียงกระทงลงโทษตามกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฉ้อโกง จำคุก 2 ปี กระทงหนึ่ง ร่วมกันปลอม (ที่ถูกปลอมและใช้) เอกสารสิทธิ ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมเป็นรายกระทงไปอีก 24 กระทง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง จำคุกกระทงละ 2 ปี เป็นจำคุก 48 ปี รวมจำคุก 50 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดให้กึ่งหนึ่งจำเลยในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 33 ปี 4 เดือน แต่เนื่องจากกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) กำหนดให้ลงโทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนดยี่สิบปี จึงลงโทษจำคุกจำเลย 20 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 889,400 บาท แก่โจทก์ร่วม
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่รับกันฟังได้เป็ยยุติในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2539 โจทก์ร่วมได้ร้องทุกข์และชี้ให้เจ้าพนักงานตำรวจกองปราบปรามแผนก 4 กองกำกับการ 2 จับกุมจำเลย กล่าวหาว่าร่วมกันฉ้อโกงทรัพย์ตามบันทึกจับกุม พร้อมกับมอบใบบันทึกรายการขายของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) รวมจำนวน 37 ฉบับ ให้พนักงานสอบสวนเป็นหลักฐาน ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของจำเลยเป็นประการแรกก่อนว่า โจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกคดีนี้หรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมมีตัวโจทก์ร่วมเบิกความในปัญหาข้อนี้ว่า โจทก์ร่วมประกอบอาชีพค้าขายทองรูปพรรณโดยเปิดร้านที่บ้านของโจทก์ร่วมใช้ชื่อร้านว่าร้านทองสมสมัย โดยร่วมลงทุนกับบิดามารดาและพี่สาว ซึ่งความข้อนี้แม้โจทก์ร่วมจะเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านยอมรับว่า ร้านทองสมสมัยไม่ได้จดะเบียนเป็นนิติบุคคล มีเพียงทะเบียนการค้าซึ่งจดทะเบียนในนามนายปั้น เขาเหิน บิดาโจทก์ร่วม บัญชีเงินฝากของร้านที่เปิดไว้กับธนาคารต่าง ๆ เปิดในนามของบิดามารดาและเสียภาษีในนามของบิดามารดาก็ตามแต่โจทก์ร่วมก็เบิกความตอบอัยการโจทก์ถามติงยืนยันว่า ร้านทองสมสมัยเป็นของบิดามารดาโจทก์ร่วมโจทก์ร่วมและพี่สาวเป็นเจ้าของร่วมกันทำธุรกิจแบบกงสีผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนดังกล่าวสามารถใช้จ่ายเงินที่ได้จากการค้าทองได้ทุกคนเป็นการค้าแบบคนจีน อีกทั้งโจทก์และโจทก์ร่วมยังมีนางสาวอโนมา เขาเหิน พี่สาวโจทก์ร่วมมาเบิกความสนับสนุนคำพยานโจทก์ร่วมดังกล่าวว่า ร้านทองสมสมัยมีเจ้าของเป็นคนในครอบครัวคือบิดามารดา โจทก์ร่วมและพยานเป็นเจ้าของร่วมกัน ซึ่งทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมในปัญหาข้อนี้ จำเลยมิได้นำสืบหักล้างเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงฟังได้เป็นยุติตามทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า โจทก์ร่วมและบิดามารดากับนางสาวอโนมาพี่สาวโจทก์ร่วมได้ตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร้านทองสมสมัยร่วมกันด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น เข้าลักษณะเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1012 ประกอบมาตรา 1025 เมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนมิได้ตกลงกันไว้ในกระบวนการจัดการห้างหุ้นส่วนไว้ผู้เป็นหุ้นส่วนย่อมจัดการห้างหุ้นส่วนนั้นได้ทุกคนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1033 ดังนั้น โจกท์ร่วมซึ่งเป็นหุ้นส่วนในกิจการร้านทองสมสมัยย่อมเป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเป็นคดีนี้ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานการมอบอำนาจให้โจทก์ร่วมมีอำนาจดำเนินคดีแทนร้านทองสมสมัยดังที่จำเลยกล่าวอ้างในฎีกาแต่อย่างใด ส่วนที่จำเลยอ้างเหตุในฎีกาว่า ขณะโจทก์ร่วมร้องทุกข์ร้านทองสมสมัยยังไม่ได้ชำระเงินคืนแก่ธนาคารเพราะยังไม่ได้รับหลักฐานการเรียกเงินคืนจากใบบันทึกรายการขายฉบับใดจากธนาคารว่ามีบุคคลใดเป็นเจ้าของบัตรเครดิต และยังระบุไม่ได้ว่าเป็นรายการที่เกิดความเสียหายมาจากข้อกล่าวอ้างว่าเป็นการกระทำของจำเลยหรือเป็นลูกค้าของร้านทองสมสมัยเองเสียด้วยซ้ำ รวมทั้งยอดความเสียหายก็ยังไม่ทราบเป็นที่แน่นอนนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความเป็นยุติแล้วว่า ในการร้องทุกข์โจทก์ร่วมได้มอบใบบันทึกรายการขายของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) รวมจำนวน 37 ฉบับ ให้พนักงานสอบสวนเป็นหลักฐานด้วย ประกอบกับโจกท์และโจทก์ร่วมยังมีนายศักดิ์ฎา ลิ่มพันธ์ กับนางสาวสโรชา สุวณิช พนักงานของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ ฝ่ายบัตรเครดิต และนายสมชาย พิชิตสุรกิจ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบัตรเครดิตของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ มาเบิกความรับรองเอกสารหมาย จ.5 กับเอกสารหมาย จ.9 ถึง จ.12 ยืนยันข้อเท็จจริงตรงกันว่า เมื่อธนาคารทั้งสองแห่งดังกล่าวตรวจสอบพบว่าใบบันทึกรายการขายปลอมทั้ง 37 ฉบับ ดังกล่าวเป็นเอกสารปลอมเพราะรูดจากบัตราเครดิตปลอม ธนาคารทั้งสองแห่งนั้นได้หักบัญชีเรียกเก็บเงินจากร้านทองสมสมัยของโจทก์ร่วมคืนแล้ว ซึ่งข้อความข้อนี้ฝ่ายจำเลยก็มิได้นำสืบหักล้างเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงฟังได้เป็นยุติว่าขณะที่โจทก์ร่วมร้องทุกข์นั้น ร้านทองสมสมัยของโจทก์ร่วมได้ชำระเงินตามใบบันทึกรายการขายปลอมทั้ง 37 ฉบับ แก่ธนาคารทั้งสองแห่งแล้ว ความเสียที่โจทก์ร่วมได้รับก็มีจำนวนแน่นอนเป็นเงิน 889,400 บาท ตามยอดร่วมที่ปรากฏในใบบันทึกรายการขายปลอม ข้ออ้างตามฎีกาข้อนี้ของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปมีว่า จำเลยได้กระทำผิดฐานใช้ใบบันทึกรายการขายปลอมและฉ้อโกงโจทก์ร่วมจริงตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมมีโจทก์ร่วมและนางสาวอโนมาพี่สาวของโจทก์ร่วมเบิกความสอดคล้องกัน ได้ความโดยสรุปว่า เมื่อประมาณเดือนพฤจิกายน 2538 นางรจนาพร คุปต์กาญจนากุล ภริยาจำเลยซึ่งเป็นญาติห่าง ๆ กับมารดาโจกท์ร่วมได้พาจำเลยไปร้านทองสมสมัยเพื่อเจรจาขอรับทองรูปพรรณไปขายให้แก่ลูกค้าชาวต่างประเทศ โดยขอใบบันทึกรายการขายของทางร้านไปเพื่อนำไปให้ลูกค้าชำระเงินด้วยบัตรเครดิตผ่านธนาคาร โจทก์ร่วมตกลงมอบใบบันทึกรายการขายที่รูดกับเครื่องรูดบัตรของทางร้าน ซึ่งจะปรากฏชื่อร้านและหมายเลขสมาชิกให้จำเลยไปเมื่อจำเลยขายทองรูปพรรณให้แก่ลูกค้าแล้ว จำเลยจะนำบัตรเครดิตของลูกค้ามารูดกับเครื่องรูดบัตรอีกเพื่อให้ปรากฏหมายเลขบัตรของลูกค้า วันหมดอายุบัตร และขออนุมัติวงเงินจากธนาคารแล้วกรอกรายละเอียดเกี่ยวกับวันที่ จำนวนเงิน และให้ลูกค้าลงชื่อในใบบันทึกรายการขาย แล้วจำเลยจะต้องส่งใบบันทึกรายการขายเช่นว่านั้นให้แก่โจทก์ร่วม โดยโจทก์ร่วมเบิกความยืนยันว่าการขายทองรูปพรรณโดยใช้ใบบันทึกรายการขายเช่นว่านี้นำมาใช้เฉพาะแก่จำเลยเท่านั้น และเมื่อทางร้านได้รับเงินแล้วก็จะมอบทองรูปพรรณแก่จำเลยไปขายให้แก้ลูกค้าอีก จนกระทั่งต่อมาประมาณเดือนมกราคม 2539 โจทก์ร่วมได้รับแจ้งจากธนาคารว่าใบบันทึกรายการขายทางร้านไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ เพราะลูกค้าปฏิเสธว่าไม่ได้ซื้อสินค้า แต่เป็นการปลอมใบบันทึกรายการขายของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 26 ฉบับ และของธนาคารกรุงไทย จัด (มหาชน) จำนวน 11 ฉบับ รวมทั้งสิ้น 37 ฉบับ โดยโจทก์และโจทก์ร่วมมีใบบันทึกรายการขายทั้ง 37 ฉบับ เป็นหลักฐานสนับสนุนคำเบิกความของพยานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองคนดังกล่าว อีกทั้งในประเด็นที่ว่าใบบันทึกรายการขายทั้ง 37 ฉบับ เป็นเอกสารปลอมนั้น โจกท์และโจทก์ร่วมก็มีนายศักดิ์ฎา ลิ่มพันธ์ และนางสาวสโรชา สุวณิช พนักงานของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ ฝ่ายบัตรเครดิตมาเบิกความเป็นพยานประกอบสำเนาโทรสารของธนาคารผู้ออกบัตรยืนยันผลการตรวจสอบบัตรว่า ลูกค้าผู้ถือบัตรไม่ได้นำบัตรเครดิตไปชำระค่าสินค้าที่ร้านทองสมสมัยแต่อย่างใด และนายศักดิ์ฎายังเบิกความถึงข้อพิรุธในใบบันทึกรายการขายด้วยว่า ตัวอักษรภาษาอังกฤษซึ่งเป็นคำขึ้นต้น “วีซ่า” นั้น ปรากฏในใบบันทึกรายการขายไม่ชัดเจนหากเป็นบัตรที่แท้จริงแล้วตัวอักษรภาษาอังกฤษ “วี” จะปรากฏให้เห็นชัดเจน นอกจากนี้ ลายมือชื่อที่ลงในช่องผู้ใช้บัตรเครดิตปรากฏว่าไม่ใช่รายมือชื่อของชาวต่างประเทศหรือลักษณะไม่ใช่ลายมือชื่อของชาวต่างประเทศ อีกทั้งรายมือชื่อในใบบันทึกรายการขายหลายฉบับตามที่พยานตรวจสอบนั้นน่าเชื่อว่าเป็นลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกัน ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จึงได้หักเงินในบัญชีของร้านทองสมสมัยคืนตามเอกสารหมาย จ.5 สำหรับใบบันทึกรายการของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) นั้น โจทก์และโจทก์ร่วมมีนายสมชาย พิชิตสุรกิจ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบัตรเครดิตของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่มาเบิกความสนับสนุนว่า ตามสำเนาเอกสารของธนาคารยูซีการ์ดประเทศญี่ปุ่นซึ่งออกบัตรวีซ่าและบัตรมาสเตอร์การ์ดแจ้งว่า ใบบันทึกรายการขายของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ผู้ถือบัตรปฏิเสธการใช้บัตรและใบบันทึกรายการขายของร้านทองสมสมัยเป็นเอกสารปลอม โดยมีการตรวจสอบลายมือชื่อแล้วเห็นว่าลายมือชื่อผู้ถือบัตรในใบบันทึกรายการขายของร้านทองสมสมัยแตกต่างจากลายมือซึ่งผู้ถือบัตรตามเอกสารหมาย จ.9 ถึง จ.12 หมายเลขบัตรวันที่บัตรหมดอายุ และตัวอักษรภาษีอังกฤษว่า “พี.วี.” ที่ปรากฏในใบบันทึกรายการเป็นอักษรที่ปลอมไม่ได้มาตรฐาน ธนาคารจึงมีหนังสือแจ้งหักเงินในบัญชีของร้านค้าทองสมสมัยคืนเนื่องจากร้านค้าได้ปฏิบัติผิดเงื่อนไขการใช้บัตรโดยนำเครื่องรูดบัตรและใบบันทึกรายการขายไปใช้นอกร้านค้า และพยานปากนี้ยังเบิกความตอบคำถามของทนายจำเลยยืนยันว่าเกี่ยวกับคดีนี้ทางธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ได้เรียกเก็บเงินจากร้านค้าทองสมสมัยคืนเรียบร้อยแล้วด้วย ยิ่งกว่านั้นโจทก์และโจทก์ร่วมยังมีร้อยตำรวจเอก (หญิง) ปัทมาวดี สนองนารถ และร้อยตำรวจเอกพิทักษ์ อุทัยธรรม มาเบิกความสอดคล้องกันว่า สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้ตรวจสอบผู้ถือบัตรชาวต่างประเทศนี้แล้วได้ความว่าในช่วงเวลาเกิดเหตุ นักท่องเที่ยวเจ้าของบัตรไม่ได้เข้ามาในประเทศไทย นอกจากนี้ โจทก์และโจกท์ร่วมยังมีพันตำรวจตรีพิชิต นนทสุวรรณ เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับจำเลยมาเบิกความรับรองบันทึกการจับกุมว่าในชั้นจับกุมจำเลยให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา โดยจำเลยให้การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดร่วมกับนายวิรัตน์ หนูคง โดยจำเลยกับนายวิรัตน์ได้รับทองจากโจทก์ร่วมไป จากนั้นได้ใช้บัตรเครดิตรูดกับเครื่องรูดบัตรเพื่อนำใบบันทึกรายการขายไปมอบให้แก่โจทก์ร่วม เพื่อแสดว่าผู้ซื้อทองและได้มีการชำระราคาแล้ว และจำเลยยังแจ้งด้วยว่าใบบันทึกรายการขายได้รูดมาจากบัตรเครดิตปลอมด้วย ซึ่งคำพยานโจทก์และโจทก์ร่วมปากนี้ที่เบิกความยืนยันว่าจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมในบันทึกการจับกุมดังกล่าวข้างต้น ฝ่ายจำเลยก็มิได้ถามค้านหรือนำสืบพยานหักล้างเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงฟังได้เป็นยุติดังที่พยานได้เบิกความรับรองเอกสารดังกล่าวต่อศาล ทั้งปรากฏด้วยว่าจำเลยได้ให้การรับสารภาพทันทีที่โจทก์ร่วมชี้ตัวพยานจับกุมโดยที่จำเลยมิได้มีโอกาสคิดหรือปรึกษาผู้ใดเพื่อหาแนวทางต่อสู้คดีมาก่อน เมื่อปรากฏว่าจำเลยให้การด้วยความสมัครใจโดยเจ้าพนักงานตำรวจมิได้ขู่เข็ญหรือพูดจาหว่านล้อมจูงใจให้จำเลยให้การด้วยความสมัครใจโดยเจ้าพนักงานตำรวจมิได้ขู่เข็ญหรือพูดจาหว่ายล้อมจงใจให้จำเลยให้การรับสารภาพโดยมิชอบด้วยประการใด ๆ คำรับสารภาพของจำเลยเช่นนี้ย่อมมีน้ำหนักที่ศาลรับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่น ๆ ของโจทก์และโจทก์ร่วมได้อย่างสนิทใจ ซึ่งเมื่อพิจารณาประกอบพยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้นแล้ว เห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยกับพวกได้หลอกลวงโจทก์ร่วมว่าจะรับทองรูปพรรณจากร้านทองสมสมัยของโจทก์ร่วมไปจำหน่ายแก่ลูกค้าซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ โดยขอใบบันทึกรายการขายของร้านทองสมสมัยของโจทก์ร่วมไปให้ลูกค้าชำระเงินค่าทองรูปพรรณให้แก่โจทก์ร่วมด้วยบัตรเครดิต โจทก์ร่วมหลงเชื่อจึงมอบทองรูปพรรณและใบบันทึกรายการขายที่รูดกับเครื่องรูดบัตรของทางร้านซึ่งปรากฏชื่อร้านและหมายเลขสมาชิกของร้านทองสมสมัยแล้วให้จำเลยไป เมื่อจำเลยขายทองรูปพรรณให้แก่ลูกค้าได้แล้วจำเลยจะได้จัดให้ลูกค้านำบัตรเครดิตของลูกค้ามารูดกับเครื่องรูกบัตรอีก เพื่อให้ปรากฏหมายเลยบัตรของลูกค้า วันหมดอายุบัตร และขออนุมัติวงเงินจากธนาคาร กรอกละเอียดวันที่ จำนวนเงินที่ลูกค้าชำระ และให้ลูกค้าลงลายมือชื่อในใบบันทึกรายการขาย แล้วจำเลยจะได้ส่งใบบันทึกรายการขายนั้นให้แก่โจทก์ร่วมเพื่อให้โจทก์ร่วมนำไปขอรับเงินจากธนาคารต่อไป แต่เมื่อหลอกลวงได้ทองรูปพรรณและใบบันทึกรายการขายจากโจทก์ร่วมแล้ว จำเลยกลับใช้บัตรเครดิตปลอมมารูดกับเครื่องรูดบัตรเพื่อลงใบบันทึกรายการขาย แล้วส่งใบบันทึกรายการขายปลอมดังกล่าวมาให้โจทก์ร่วมเพื่อขอรับเอาทองรูปพรรณและใบบันทึกรายการขายไปจากโจทก์ร่วมอีก โจทก์ร่วมหลงเชื่อมอบทองรูปพรรณให้จำเลยรับไปคิดเป็นเงิน 889,400 บาท ซึ่งเป็นความผิดฐานฉ้อโกงจริงตามฟ้อง และจำเลยยังได้ร่วมกับพวกใช้ใบบันทึกรายการขายปลอมเป็นเอกสารประกอบการฉ้อโกงโดยส่งไปให้โจทก์ร่วมเพื่อให้โจทก์ร่วมนำส่งใบบันทึกรายการขายปลอมนั้นไปขอรับเงินจากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) แต่ละวันแยกต่างหากจากกันตามที่ปรากฏในใบบันทึกรายการขาย การกระทำของจำเลยกับพวกส่วนนี้จึงเป็นความผิดฐานใช้ใบบันทึกรายการขายซึ่งเป็นเอกสารสิทธิปลอมรวม 24 กระทง ตามฟ้องดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยยืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า ความผิดฐานร่วมกับพวกฉ้อโกงโจทก์ร่วมเป็นความผิดอีกกรรมหนึ่ง แยกต่างหากจากความผิดฐานร่วมกับพวกใช้เอกสารสิทธิปลอม รวม 24 กระทง นั้น เห็นว่า การที่จำเลยกับพวกใช้ใบบันทึกรายการขายทั้ง 24 กรรมนั้น จำเลยได้กระทำโดยมีเจตนาเดียวเพื่อฉ้อโกงโจทก์ร่วม บันทึกรายการขายปลอมที่จำเลยกับพวกร่วมกันใช้โดยจัดส่งไปให้โจทก์ร่วมก็เพื่อเป็นอุบายหลอกลวงให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อมอบทองรูปพรรณให้จำเลยกับพวกนั่นเอง ความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงโจทก์ร่วมที่จำเลยกับพวกกระทำต่อโจทก์ร่วมจึงเป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมทั้ง 24 กระทง หาใช่เป็นการกระทำอีกกรรมหนึ่งแยกต่างหากกัน ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมาไม่ และปัญหาข้อกฎหมายเช่นว่านี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็เห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น กำหนดโทษจำคุกฐานร่วมกับพวกใช้เอกสารสิทธิปลอมกระทงละ 2 ปี ก็เป็นการลงโทษที่หนักเกินสมควร ศาลฎีกาเห็นสมควรปรับลดให้เบาลงเพื่อให้เหมาะสมแก่ความผิดที่จำเลยกระทำด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานร่วมกับพวกฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 83 เป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานร่วมกับพวกใช้เอกสารสิทธิปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 ประกอบมาตรา 265, 83 ให้ลงโทษจำเลยฐานร่วมกับพวกใช้เอกสารสิทธิปลอม ซึ่งมีกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกกระทงละ 6 เดือน รวม 24 กระทง เป็นโทษจำคุก 144 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม และมิได้ถามค้านเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมกับนำสืบโต้เถียงเป็นอย่างอื่น เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาของศาล เป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยมีกำหนด 96 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share