คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3480/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ในการยื่นบัญชีระบุพยาน โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอส่งสำเนาเอกสารแทนต้นฉบับ เนื่อจากต้นฉบับอยู่ในความครอบครองดูแลของทางราชการ และทางราชการมีความจำเป็นต้องใช้ต้นฉบับเอกสารดังกล่าวอยู่ ซึ่งศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ใช้สำเนาเอกสารที่รับรองโดยถูกต้องแทนต้นฉบับได้ ทั้งบัญชีสินค้าสำหรับเรือเป็นพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นต้องนำพยานดังกล่าวมาสืบ เมื่อศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ส่งสำเนาเอกสารแทนต้นฉบับ โจทก์จึงมีสิทธินำสำเนาบัญชีสินค้าสำหรับเรือมาสืบได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 20 ประกอบข้อกำหนดคดีภาษีอากรฯ ข้อ 16 วรรคสอง
เมื่อจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลจึงต้องพิจารณาว่าคำฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมายหรือไม่ หากมีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย ศาลก็ต้องพิจารณาให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีไปตามคำฟ้องของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 198 ทวิ วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาภาษีอากรฯ มาตรา 17 ซึ่งคดีนี้โจทก์มีผู้จัดการฝ่ายเอกสารของบริษัทตัวแทนเรือเบิกความยืนยันว่ารายละเอียดสินค้าตามบัญชีสินค้าสำหรับเรือที่บริษัทตันแทนเรือรวบรวมนำส่งโจทก์ไม่ปรากฏสินค้าตามที่จำเลยที่ 1 สำแดงในใบขนสินค้าขาออก แสดงว่าเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ลงลายมือชื่อรับรองการตรวจสินค้าและรับรองการรับบรรทุกในใบขนสินค้าขาออกพิพาทไม่มีการตรวจสอบจริงและจำเลยที่ 1 มิได้ส่งสินค้าออกไปต่างประเทศตามที่สำแดงในใบขนสินค้าขาออกพิพาทนั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิยื่นคำขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าส่งออกในรูปบัตรภาษี การที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าส่งออกโดยสำแดงใบขนสินค้าขาออกเป็นเท็จ จึงเป็นการจงใจทำละเมิดต่อโจทก์ต้องรับผิดคืนเงินแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดคือวันที่จำเลยที่ 2 รับบัตรภาษีพิพาท
ในการขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษี จำเลยที่ 2 สัญญาว่า กรณีที่เกิดการทุจริตในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรและเกิดความเสียหายแก่โจทก์ไม่ว่ากรณีใด ๆ ยินยอมรับผิดต่อโจทก์ทุกประการโดยไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ ทั้งสิ้น นั้น เป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์ว่าในการขอรับสิทธิตามบัตรภาษี หากปรากฏว่าการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรของผู้โอนสิทธิเกิดจากการทุจริตและเกิดความเสียหายแก่โจกท์ไม่ว่ากรณีใด จำเลยที่ 2 ยินยอมรับผิดต่อโจทก์โดยไม่มีข้อโต้แย้ง เป็นข้อตกลงที่ไม่มีกฎหมายห้ามและมิใช่ความตกลงที่ทำไว้ล่วงหน้าเป็นข้อความยกเว้นมิให้โจทก์ต้องรับผิดเพื่อความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตนเองตาม ป.พ.พ. มาตรา 373 และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 จึงใช้บังคับได้ เมื่อจำเลยที่ 2 นำบัตรภาษีไปใช้ชำระค่าภาษีอากรแทนเงินสดแล้ว จึงมีความรับผิดตามสัญญาต้องใช้เงินคืนโจทก์ตามมูลค่าบัตรภาษีรายพิพาทที่เกิดจากการทุจริตในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรของจำเลยที่ 1 ซึ่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญาไม่มีกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือชดใช้เงินชดเชยค่าภาษีอากรเป็นเงินตามมูลค่าบัตรภาษีจำนวน 99,516.92 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันรับบัตรภาษีจนถึงวันฟ้องจำนวน 74,015.71 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 173,532.63 บาท ให้แก่โจทก์ และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 173,532.63 บาท นับจากวันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือชดใช้เงินค่าภาษีอากรตามมูลค่าบัตรภาษีจำนวน 99,516.92 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี สำหรับจำเลยที่ 1 นับแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2538 ส่วนจำเลยที่ 2 นับแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2547 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 ยื่นขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าส่งออกต่อโจทก์ และขอให้โอนสิทธิในบัตรภาษีดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ยื่นร้องขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษีดังกล่าวโดยมีข้อความระบุว่า กรณีที่เกิดการทุจริตในการขอรับเงินชดชเยค่าภาษีอากรและเกิดความเสียหายแก่โจทก์ไม่ว่ากรณีใด ๆ จำเลยที่ 2 ยินยอมรับผิดต่อโจทก์ทุกประการโดยไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ ทั้งสิ้น โจทก์จ่ายบัตรภาษีให้แก่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับโอน จำเลยที่ 2 นำบัตรภาษีพิพาทจำนวน 99,516.92 บาท ไปใช้ชำระค่าภาษีอากรแทนเงินสดแล้ว ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ประการแรกมีว่า โจกท์ใช้สิทธิฟ้องจำเลยที่ 2 โดยสุจริตหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องคดีนนี้โดยอาศัยสิทธิตามคำร้องขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษี ซึ่งจำเลยที่ 2 ได้ทำข้อตกลงให้ไว้แก่โจทก์ว่า กรณีที่เกิดการทุจริตในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรและเกิดความเสียแก่โจทก์ไม่ว่ากรณีใด ๆ จำเลยที่ 2 ยินยอมรับผิดต่อโจทก์ทุกประการ โดยไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ ทั้งสิ้น อันเป็นการใช้สิทธิฟ้องคดีตามข้อตกลงในสัญญาที่จำเลยที่ 2 ให้ไว้แก่โจทก์ก่อนรับโอนสิทธิตามบัตรภาษีพิพาท จึงหาใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตไม่ ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นจะมีสาเหตุจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์หรือไม่ เป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 จะต้องไปว่ากล่าวดำเนินการกันเองต่อไป อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ประการต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 ได้ส่งสินค้าตามใบขนสินค้าขาออกพิพาทออกไปนอกราชอาณาจักรหรือหรือไม่ เห็นว่า แม้ในใบขนสินค้าขาออกด้านหลังจะระบุว่ามีการเปิดตรวจ ควบคุมบรรทุกโดยมีพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ลงลายมือชื่อรับรองไว้ก็ตาม แต่มิได้หมายความว่าสินค้าตามใบขนสินค้าขาออกดังกล่าวได้มีการส่งออกจริง เพราะกระบวนการดังกล่าวเป็นขั้นตอนการผ่านพิธีการศุลกากร การตรวจปล่อยสินค้า และการรับบรรทุก ก่อนนำสินค้าลงเรือเท่านั้น แต่จะมีการนำสินค้าลงเรือหรือไม่ ต้องพิจารณาควบคู่กับบัญชีสินค้าสำหรับเรือด้วย และตามคำสั่งกองตรวจสินค้าขาออกดังกล่าว กรณีเรือคอนเทนเนอร์ พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่นายตรวจประจำเรือมีหน้าที่และความรับผิดชอบเกี่ยวกับการควบคุมการรับบรรทุก ต้องดำเนินการควบคุมการบรรทุกของลงเรือลำที่ได้รับมอบหมาย และรับเอกสารการนำของลงเรือ (Tally Sheet) จากตัวแทนเรือแล้วนำส่ง ฝคบ. ภายในวันรุ่งขึ้นนับจากวันเรือออก ส่วนเอกสารอื่นนั้นตัวแทนเรือยังคงต้องปฏิบัติตามระเบียบเดิม จึงเห็นได้ว่าเอกสารดังกล่าวก็เป็นกระบวนการในขั้นตอนการรับบรรทุกสินค้าเข้าตู้สินค้าก่อนนำตู้สินค้าลงเรือ ซึ่งระบุเพียงชื่อเรือ วันเดือนปีและเวลาที่เรือออก จำนวนตู้สินค้า ชื่อศุลการักษ์ผู้ตรวจสอบ สารวัตรฯ หรือนายตรวจฯ ลงนามพร้อมลงวันเดือนปีกำกับเท่านั้น ซึ่งเมื่อใบขนสินค้าขาออกพิพาทมีความแตกต่างจากบัญชีสินค้าสำหรับเรือในรายละเอียดเกี่ยวกับการส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักร จึงต้องพิจารณาว่าเอกสารใดมีความถูกต้องมากกว่ากัน สำหรับบัญชีสินค้าสำหรับเรือนั้นตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 51 กำหนดให้นายเรื่อทุกลำซึ่งบรรทุกสินค้าขาออกยื่นหรือจัดให้ตัวแทนยื่นบัญชีสินค้าสำหรับเรือ ซึ่งต้องมีรายละเอียดแห่งสินค้าตามที่ระบุไว้ในบัญชีรายชื่อสินค้าขาออกของศุลกากรนั้นต่อศุลกสถานภายในหกวันเต็มนับแต่วันที่ได้ออกใบปล่อยเรือขาออกให้ บัญชีสินค้าสำหรับเรือนี้ให้ทำเป็นสองฉบับมีข้อความต้องกัน และต้องมีใบรับรองสินค้าตามแบบที่กำหนดไว้ในใบแนบ 8 แห่งพระราชบัญญัตินี้ติดไปด้วย บัญชีสินค้าสำหรับเรือนั้นถูกจัดทำขึ้นโดยบุคคลภายนอกที่ไม่มีส่วนได้เสียกับโจทก์และจำเลยทั้งสอง และเป็นเอกสารที่กฎหมายกำหนดให้จัดทำขึ้นหลังจากที่ได้มีการปล่อยเรือออกไป ข้อมูลในบัญชีสินค้าสำหรับเรือดังกล่าวจึงสามารถนำมาเปรียบเทียบกับใบขนสินค้าขาออกได้ว่า จำเลยที่ 1 มีการส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักรตามใบขนสินค้าขาออกพิพาทจริงหรือไม่ ที่จำเลยที่ 2 อ้างว่า โจทก์ไม่มีสิทธินำสำเนาบัญชีสินค้าสำหรับเรือมาเป็นหลักฐานในการสืบพยานตามข้อกำหนดคดีภาษีอากร พ.ศ.2544 ข้อ 16 วรรคสอง และจำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำร้องคัดค้านการไม่ส่งต้นฉบับแล้วนั้น เห็นว่า ในการยื่นบัญชีระบุพยานโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอส่งสำเนาเอกสารแทนต้นฉบับเนื่องจากอยู่ในความครอบครองดูแลของทางราชการ และทางราชการยังมีความจำเป็นต้องใช้เอกสารเหล่านั้นอยู่ตามคำร้องฉบับลงวันที่ 15 มิถุยายน 2548 ซึ่งศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ใช้สำเนาเอกสารที่รับรองโดยถูกต้องแทนต้นฉบับได้ ทั้งบัญชีสินค้าสำหรับเรือเป็นพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี และเพื่อประโยชน์แห่งความบุติธรรมจำเป็นจะต้องนำพยานหลักฐานดังกล่าวมาสืบ เมื่อศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ส่งสำเนาเอกสารแทนต้นฉบับ โจทก์จึงมีสิทธินำบัญชีสินค้าสำหรับเรือมาสืบได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 20 ประกอบข้อกำหนดคดีภาษีอากร พ.ศ.2544 ข้อ 16 วรรคสอง แม้เอกสารที่จำเลยที่ 1 นำมายื่นคำขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าส่งออกจะประกอบไปด้วยใบแจ้งการโอนเงินหรือใบเข้าบัญชีอันเป็นเอกสารที่ธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยได้ออกให้แก่ผู้ส่งออกเพื่อแสดงว่าผู้ส่งออกได้รับชำระค่าสินค้าที่ส่งออกก็ตาม แต่เอกสารดังกล่าวก็ยังไม่อาจชี้ชัดได้ว่า จำเลยที่ 1 ส่งออกสินค้าตามใบขนสินค้าขาออกพิพาทจริง เมื่อจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและจำเลยที่ 2 คงอ้างแต่เพียงว่าใบขนสินค้าขาออกพิพาทมีรายการบันทึกการผ่านพิธีการศุลกากร การตรวจปล่อยสินค้าและการรับบรรทุกของพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ครบถ้วนเท่านั้น ศาลจึงต้องพิจารณาว่าคำฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 มีมูลและขัดต่อกฎหมายหรือไม่ หากมีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย ศาลก็ต้องพิจารณาพิพากษาให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีไปตามคำฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 198 ทวิ วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 ซึ่งคดีนี้โจทก์มีผู้จัดการฝ่ายเอกสารของบริษัทตัวแทนเรือมาเบิกความยืนยันว่ารายละเอียดสินค้าตามบัญชีสินค้าสำหรับเรือที่บริษัทรวบรวมนำส่งให้โจทก์นั้น ไม่ปรากฏสินค้าตามจำเลยที่ 1 สำแดงในใบขนสินค้าขาออกที่พิพาท จึงแสดงว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ลงลายมือชื่อรับรองการตรวจสินค้าและการรับบรรทุกในใบขนสินค้าขาออกพิพาทไม่มีการตรวจสอบจริงและจำเลยที่ 1 มิได้ส่งสินค้าออกไปต่างประเทศตามที่สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาออกพิพาทนั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิยื่นคำขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าส่งออกในรูปบัตรภาษี การที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าส่งออกโดยสำแดงใบขนสินค้าขาออกเป็นเท็จ จึงเป็นการจงใจทำละเมิดต่อโจทก์ ต้องรับผิดคืนเงินจำนวน 99,516.92 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดคือวันที่จำเลยที่ 2 รับบัตรภาษีพิพาทไป อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ประการต่อไปมีว่า ข้อตกลงในคำร้องขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษีขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ เห็นว่า ในการขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษีรายพิพาทจำเลยที่ 2 สัญญาว่า กรณีที่เกิดการทุจริตในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรและเกิดความเสียหายแก่โจทก์ไม่ว่ากรณีใด ๆ จำเลยที่ 2 ยินยอมรับผิดต่อโจทก์ทุประการโดยไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ ทั้งสิ้น ตามคำร้องขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษีข้างต้น ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์ว่า ในการขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษีรายพิพาท หากปรากฏว่าการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรของผู้โอนสิทธิเกิดจากการทุจริต และเกิดความเสียหายแก่โจทก์ไม่ว่ากรณีใด ๆ จำเลยที่ 2 ผู้รับโอนยินยอมรับผิดต่อโจทก์โดยไม่มีข้อโต้แย้ง ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามไว้ และมิใช่ความตกลงที่ทำไว้ล่วงหน้าเป็นข้อความยกเว้นมิให้โจทก์ต้องรับผิดเพื่อความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 373 และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 จึงใช้บังคับได้ เมื่อจำเลยที่ 2 ได้นำบัตรภาษีรายพิพาทไปใช้ชำระค่าภาษีอากรแทนเงินสดหมดแล้ว จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดตามสัญญา ต้องใช้เงินคืนโจทก์ตามมูลค่าบัตรภาษีรายพิพาทที่เกิดจากการทุจริตในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 นำไปใช้ชำระภาษีเป็นเงิน 99,516.92 บาท แล้ว ซึ่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญาดังกล่าวไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share