แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การที่จำเลยขับรถเลี้ยวขวาตัดหน้ารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายสาหัส และรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายได้รับความเสียหายนั้น ถือได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4) ประกอบด้วยมาตรา 157 และเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายสาหัสอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 อันเป็นบทหนัก เมื่อเกิดเหตุชนแล้ว จำเลยได้หลบหนีและไม่ให้ความช่วยเหลือผู้เสียหาย ไม่แสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ใกล้เคียงทันที เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นภายหลังจากผู้เสียหายได้ขับรถจักรยานยนต์ชนรถยนต์คันที่จำเลยเป็นผู้ขับขี่ตัดหน้าซึ่งเป็นการกระทำโดยเจตนาของจำเลยแยกต่างหากจากการกระทำครั้งแรกอันเป็นเรื่องต่างกรรม จำเลยจึงต้องมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78,160 วรรคสอง อีกกระทงหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300, 91พระราชบัญญัติ จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 78, 157, 160จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 43, 78, 157, 160 รวม 1 กระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 อันเป็นบทหนัก จำคุก 2 เดือนและปรับ 2,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 เดือนและปรับ1,000 บาท รอการลงโทษจำคุก 1 ปี โจทก์อุทธรณ์ขอให้เรียงกระทงลงโทษและไม่รอการลงโทษ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78, 160อีกกระทงหนึ่งจำคุก 2 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 1 เดือนสำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ให้ลงโทษจำคุก1 เดือนสถานเดียวรวมจำคุก 2 เดือน โทษจำคุกให้เปลี่ยนเป็นกักขังตามมาตรา 23 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งนั่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาแรกมีว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าการกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเพราะเหตุเกิดเพียงครั้งเดียวคราวเดียวกัน ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า การที่จำเลยได้ขับรถเลี้ยวขวาตัดหน้ารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย จนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายสาหัส และรถจักรยานยนต์ของนายยี กูลประดิษฐ์ศิลป์ได้รับความเสียหายนั้น ถือได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4) ประกอบด้วยมาตรา 157 และเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายสาหัส อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 300 อันเป็นบทหนัก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น แต่เมื่อเกิดเหตุแล้วจำเลยได้หลบหนีและไม่ให้ความช่วยเหลือผู้เสียหาย ไม่แสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ใกล้เคียงทันที ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 160 นั้นศาลฎีกาเห็นว่า การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังจากผู้เสียหายได้ขับรถจักรยานยนต์ชนรถยนต์คันที่จำเลยเป็นผู้ขับขี่แล้ว ซึ่งเป็นการกระทำโดยเจตนาของจำเลยแยกต่างหากจากกระทำครั้งแรก อันเป็นเรื่องต่างกรรม จำเลยจึงต้องมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78, 160 วรรคสองอีกกระทงหนึ่ง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปมีว่า มีเหตุอันควรรอการลงโทษให้จำเลยหรือไม่ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อเกิดเหตุแล้วผู้เสียหายได้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท นายจ้างของจำเลยซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยได้ชำระค่ารักษาพยาบาลให้รวมเป็นเงิน 13,190 บาท และได้ชดใช้ค่าเสียหายให้อีกเป็นเงิน 15,000 บาท แสดงว่าจำเลยได้สำนึกผิดในการกระทำของตนและพยายามบรรเทาผลร้ายตลอดมา ผู้เสียหายก็ไม่ติดใจที่จะว่ากล่าวเอาความกับจำเลยอีกต่อไป ทั้งจำเลยไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน จึงมีเหตุอันควรปรานีโดยรอการลงโทษให้แต่เห็นควรลงโทษปรับจำเลยด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 157 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 กระทงหนึ่งให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 อันเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 เดือนและปรับ 2,000 บาทและมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78,160 วรรคสอง อีกกระทงหนึ่ง จำคุก 2 เดือน และปรับ 2,000 บาทรวมเป็นโทษจำคุก 4 เดือนและปรับ 4,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 เดือน และปรับ2,000 บาท สำหรับโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี