คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4780/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 9 และ มาตรา 11 เมื่อศาลพิพากษาให้โจทก์เป็นบุคคลล้มละลายแล้ว โจทก์จะเป็นพนักงานของจำเลยไม่ได้ เพราะขาดคุณสมบัติก็ตาม ตามบทกฎหมายดังกล่าว โจทก์จะถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายแต่จำเลยจะต้องดำเนินการเพื่อให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งไปด้วย ดังนั้น การที่โจทก์ออกจากงานเพราะถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย จึงถือว่าเป็นการเลิกจ้างหาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ออกจากงานโดยผลของกฎหมายไม่ เมื่อโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 47 จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานครั้งสุดท้ายทำหน้าที่พนักงานผลิตน้ำ 5 การประปาพิจิตร – วังกรด ต่อมา จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานฐานขาดคุณสมบัติการเป็นพนักงานการประปาส่วนภูมิภาคโดยโจทก์ไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้า ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย นับจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งเพราะโจทก์ถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายขาดคุณสมบัติการเป็นพนักงานเป็นการออกจากงานโดยผลของกฎหมายตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518ไม่ใช่ออกจากงานเพราะการเลิกจ้าง โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย
วันนัดพิจารณา โจทก์และจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่าโจทก์ถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม2532 จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากการเป็นลูกจ้างเพราะขาดคุณสมบัติเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2532 ข้อบังคับของจำเลยปรากฏตามเอกสารหมายเลข 2
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 47,280 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ตามบทกฎหมายที่โจทก์อ้างแม้โจทก์จะถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายแล้วก็ตาม แต่จำเลยจะต้องดำเนินการเพื่อให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งไปด้วยดังนั้น การที่โจทก์ออกจากงานเพราะถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย จึงต้องถือว่าเป็นการเลิกจ้างหาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ออกจากงานโดยผลของกฎหมายไม่ เมื่อโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16เมษายน 2515 ข้อ 47 จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์
พิพากษายืน

Share