คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3548/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พยานหลักฐานโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์และตามพยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยที่1นำสืบมายังโต้เถียงสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทกันอยู่การที่จำเลยที่1เข้าไปไถปรับที่ดินก็ด้วยเชื่อโดยสุจริตว่ามีสิทธิที่จะเข้าไปทำได้จำเลยที่1จึงไม่มีความผิดฐานบุกรุกเมื่อจำเลยที่1ไม่มีเจตนาบุกรุกที่ดินพิพาทจำเลยที่1จึงไม่มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ซึ่งคันนาและต้นหว้าที่อยู่ในที่ดินพิพาทด้วย เมื่อในคดีอาญาฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่1ทำให้ทรัพย์ของโจทก์เสียหายในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา46แม้คดีส่วนแพ่งคดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา248วรรคหนึ่งประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา40ก็ตามแต่เมื่อการพิพากษาคดีส่วนแพ่งจำต้องถือข้อเท็จจริงที่ปรากฎในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าวซึ่งเป็นข้อกฎหมายจึงต้องฟังว่าจำเลยที่1มิได้ทำละเมิดอันจะต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 370 และเลขที่ 371เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2535 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสามได้บุกรุกโดยนำรถแทรกเตอร์เข้ามาไถดันที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลงทางด้านทิศตะวันออกซึ่งอยู่ติดต่อกัน ส่วนที่บุกรุกกว้างประมาณ2 วายาวประมาณ 2 เส้น 10 วา เพื่อยึดถือครอบครองที่ดินบางส่วนโดยจำเลยทั้งสามทราบอยู่แล้วว่าที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวเป็นของโจทก์ และจำเลยทั้งสามได้ทำลายทรัพย์ของโจทก์ โดยการใช้รถแทรกเตอร์ไถดันคันนายาวประมาณ 2 เส้นเศษ ค่าเสียหายเป็นเงินประมาณ 5,000 บาท ไถดันต้นหว้าขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง1 เมตรจำนวน 15 ต้น ราคาต้นละ 3,000 บาท ค่าเสียหายเป็นเงิน 45,000 บาท ไถดันรางชักน้ำเข้านาซึ่งทำด้วยไม้ยาวประมาณ 50 เมตร ค่าเสียหายเป็นเงินประมาณ 20,000 บาท รวมค่าเสียหายเป็นเงินประมาณ 70,000 บาท ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 358, 362, 365 และให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 70,000 บาท แก่โจทก์
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยบุกรุกไถดันที่ดินและทำลายทรัพย์ของโจทก์ รางชักน้ำเป็นเพียงเศษไม้กระดานเล็กน้อยที่ดินของโจทก์เป็นที่รกร้างมานาน ไม่มีต้นหว้า ไม่เป็นนาข้าวจำเลยที่ 1 ไถดันในเขตที่ดินของจำเลยที่ 1 ต้นหว้าและไม้กระดานอยู่ในที่ดินของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 เป็นบุตรสะใภ้จำเลยที่ 1และอยู่ด้วยในขณะเกิดเหตุแต่มิได้กระทำผิด ส่วนจำเลยที่ 2 มิได้กระทำผิดคงรับราชการอยู่ที่วิทยาลัยครูจังหวัดสุรินทร์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง ยกคำขอส่วนแพ่ง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 และมาตรา 358 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษตามมาตรา 358 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด9 เดือน และปรับ 6,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน และปรับ4,000 บาท จำเลยที่ 1 อายุ 81 ปี และพฤติการณ์แห่งการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 ไม่ร้ายแรงนัก โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด2 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30และให้จำเลยที่ 1 ใช้ราคาทรัพย์สินแก่โจทก์เป็นเงิน 30,000 บาทนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้จ้างรถแทรกเตอร์เข้าไปไถปรับคันนาและที่ดินพิพาทเป็นเหตุให้ต้นหว้าบนคันนาได้รับความเสียหายมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1กระทำผิดฐานบุกรุก ทำให้เสียทรัพย์ และต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์หรือไม่ ดังนั้นพยานหลักฐานโจทก์ยังฟังไม่ได้แน่ชัดว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ และตามพยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยที่ 1 นำสืบมาเห็นได้ว่าทั้งสองฝ่ายยังโต้เถียงสิทธิการครอบครองที่ดินพิพาทกันอยู่ การที่จำเลยที่ 1 เข้าไปไถปรับที่ดินก็โดยเชื่อโดยสุจริตว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิโดยชอบที่จะเข้าไปทำได้ จำเลยที่ 1จึงไม่มีความผิดฐานบุกรุกส่วนความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ซึ่งคันนาและต้นหว้าของโจทก์นั้น ได้ความจากคำเบิกความของนางถนอมศรีพยานโจทก์ว่าต้นหว้าดังกล่าวเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติมิใช่โจทก์เป็นผู้ปลูกไว้ เมื่อฟังว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนาบุกรุกที่ดินพิพาท คันนาและต้นหว้าอยู่ในที่ดินพิพาท จำเลยที่ 1จึงไม่มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ซึ่งคันนาและต้นหว้าด้วยส่วนรางชักน้ำนั้นโจทก์เบิกความว่า ทำเป็นเสาขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 8 นิ้ว รวม 30 ต้น มีไม้สี่เหลี่ยมขุดจากต้นไม้ใหญ่ทำเป็นรางชักน้ำตั้งอยู่บนเสารับรางดังกล่าวมีรางทั้งหมด 11 ท่อน ต่อกัน ยาวประมาณ 1 เส้น จำเลยที่ 1ไถรางชักน้ำดังกล่าวมากองรวมกันไว้ แต่จากภาพถ่ายรางชักน้ำที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 ไถทำลาย ตามภาพถ่ายหมาย จ.4 มีเพียงเศษไม้อยู่ 2 แผ่น ไม่ปรากฎสภาพของเสาหรือรางที่ใช้สำหรับชักน้ำดังที่โจทก์เบิกความจึงเจือสมกับที่จำเลยที่ 1 นำสืบว่าขณะเกิดเหตุไม่มีสภาพเป็นรางชักน้ำแล้ว ทั้งนายดาบตำรวจพินัยก็เบิกความว่าในที่ดินที่จำเลยที่ 1 ไถปรับนั้น มีเศษไม้ซึ่งเคยใช้ทำเป็นรางชักน้ำตกหล่นอยู่เท่านั้นจึงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1ทำให้เสียทรัพย์ซึ่งรางชักน้ำของโจทก์ เมื่อในคดีอาญาฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ทำให้ทรัพย์ของโจทก์เสียหาย ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 แม้คดีส่วนแพ่งคดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 40 ก็ตาม แต่เมื่อการพิพากษาคดีส่วนแพ่งจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าว ซึ่งเป็นข้อกฎหมายจึงต้องฟังว่าจำเลยที่ 1 มิได้ทำละเมิดอันจะต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ และให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 เสียด้วย

Share