คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5041/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

มาตรวัดไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 อ่านค่าการใช้ไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 คลาดเคลื่อนน้อยกว่าความเป็นจริงเพราะจุดต่อสายของหม้อแปลงไฟฟ้าแรงสูงหลวม เป็นเหตุให้มาตรวัดไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 หมุนช้ากว่าปกติดทำให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคโจทก์เรียกเก็บค่ากระแสไฟฟ้าที่จำเลยที่ 1 ใช้ไปน้อยกว่าความเป็นจริง เมื่อโจทก์ตรวจสอบพบจุดบกพร่องจึงทำการแก้ไขแล้วเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระค่ากระแสไฟฟ้าส่วนที่ขาดไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
เหตุที่นอตหลวมเกิดจากการที่พนักงานของโจทก์ขันนอตไม่แน่น เป็นเหตุให้มาตรวัดไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 เดินคลาดเคลื่อนช้ากว่าปกติ ทำให้อ่านค่าการใช้กระแสไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 น้อยกว่าที่ใช้ไปจริง โดยจำเลยที่ 1 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย แต่การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อกระแสไฟฟ้าจากโจทก์ จำเลยที่ 1 ย่อมมีหน้าที่ชำระหนี้ค่ากระแสไฟฟ้าให้แก่โจทก์ตามที่ใช้ไปจริง จำเลยที่ 1 จึงยังต้องรับผิดชำระค่าไฟฟ้าที่ขาดบกพร่องตามที่ใช้ไปจริงให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2534 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากโจทก์เพื่อใช้ในกิจการการผลิตแป้งมันสำปะหลังโดยมีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากโจทก์เพื่อใช้ในกิจการผลิตแป้งมันสำปะหลังโดยมีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระค่าไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ ในวงเงิน 2,305,000 บาท ต่อมาวันที่ 10 เมษายน 2543 โจทก์ตรวจสอบพบว่ามาตรวัดไฟฟ้า (มิเตอร์) ของจำเลยที่ 1 อ่านค่าคลาดเคลื่อนน้อยกว่าความเป็นจริงเนื่องจากชุดต่อสายของหม้อแปลงกระแสไฟฟ้าแรงสูงหลวม ทำให้มาตรวัดไฟฟ้าหมุนช้าลงกว่าปกติอ่านค่าได้น้อยกว่าความเป็นจริง โจทก์ได้ตรวจสอบสถิติการใช้ไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 แล้วพบว่ามาตรวัดไฟฟ้าอ่านค่าคลาดเคลื่อนน้อยลงกว่าปกติตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2542 จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2543 โจทก์จึงทำการปรับปรุงค่าไฟฟ้าในช่วงดังกล่าว คิดเป็นเงินที่ต้องเรียกเก็บเพิ่มจากจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 7,705,882.85 บาท และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ซื้อต้องรับผิดชำระค่าภาษีมูลค่าเพิ่มอีกเป็นเงิน 539,411.80 บาท โจทก์ทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าไฟฟ้าปรับปรุงภายในวันที่ 18 มกราคม 2544 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระถือว่าผิดนัด จำเลยที่ 1 จะต้องชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากเงินที่ค้างชำระนับแต่วันที่ 19 มกราคม 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คิดดอกเบี้ยถึงวันฟ้องได้จำนวน 2,013,161.88 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิด 10,258,456.53 บาท โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ค่าไฟฟ้าที่ทำการปรับปรุงแล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 10,258,456.53 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 7,705,882.85 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และจำเลยที่ 2 ต้องร่วมชำระเงินค่าไฟฟ้าปรับปรุงจำนวน 2,305,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,305,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า มาตรวัดไฟฟ้าที่คลาดเคลื่อนไม่ได้เกิดจากความผิดของจำเลยที่ 1 แต่เป็นเพราะความบกพร่องของโจทก์ซึ่งมีหน้าที่ในการบำรุงรักษาหม้อแปลงไฟฟ้าดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิด และในการคำนวณหามาตรวัดไฟฟ้าที่คลาดเคลื่อนโจทก์คำนวณไม่ถูกต้องไม่สามารถหาความคลาดเคลื่อนที่ถูกต้องแท้จริงได้ ทั้งวิธีการคำนวณดังกล่าวเป็นวิธีการของโจทก์ฝ่ายเดียวไม่ได้รับความเห็นชอบหรือยินยอมจากจำเลยที่ 1 และไม่ได้มีค่าความคลาดเคลื่อนของมาตรวัดไฟฟ้าตามที่โจทก์อ้างจริง เพราะในเดือนสิงหาคม 2542 ถึงเดือนเมษายน 2543 จำเลยที่ 1 ใช้กระแสไฟฟ้าน้อยลง เนื่องจากมีการหยุดปรับปรุงกิจการจึงมีการผลิตน้อยลงกว่าปกติในช่วงดังกล่าว ค่ากระแสไฟฟ้าในระหว่างวันที่ 2 สิงหาคม 2542 ถึงวันที่ 10 เมษายน 2543 จึงไม่ถึงจำนวน 7,705,882.85 บาท โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เพราะการคำนวณค่าไฟฟ้าที่โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 ชำระมีจำนวนไม่แน่นอนและจำเลยที่ 1 ไม่ยอมรับการคำนวณค่าไฟฟ้าของโจทก์ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัด โจทก์ตรวจสอบพบความคลาดเคลื่อนของมาตรวัดไฟฟ้าเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2543 โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าไฟฟ้าที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงได้นับแต่วันที่ตรวจพบ โจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) จึงต้องเรียกค่าไฟฟ้าภายในกำหนดระยะเวลา 2 ปี นับแต่โจทก์มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2545 เกินกำหนด 2 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ค้ำประกันการใช้ไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 ในวงเงินเพียง 2,305,000 บาท ข้อพิพาทคดีนี้เกิดจากจุดต่อไฟฟ้าและมาตรวัดไฟฟ้าขัดข้องหมุนคลาดเคลื่อนกว่าความเป็นจริงจึงเกิดจากเหตุสุดวิสัย จำเลยทั้งสองไม่ได้เข้าไปปรับปรุงดัดแปลงแก้ไขจึงไม่ต้องร่วมกันรับผิด โจทก์วางระเบียบการปรับปรุงค่าไฟฟ้าคลาดเคลื่อนโดยคิดจากสถิติย้อนหลังที่เคยใช้ในเดือนก่อน แต่ในการปรับปรุงรายจำเลยที่ 1 นั้น โจทก์ปรับปรุงค่าไฟฟ้าสูงเกินจริงตามอำเภอใจโดยไม่ได้อิงหลักวิชาการและระเบียบของโจทก์ ทำให้ยอดเงินสูงเกินจริง จำเลยที่ 2 ไม่ต้องร่วมรับผิดเพราะไม่ใช่หนี้ส่วนที่ค้ำประกัน โจทก์ประกอบธุรกิจการค้ากระแสไฟฟ้ากรณีอยู่ในบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) ที่จะต้องเรียกค่าไฟฟ้าที่เป็นสินค้าจากจำเลยที่ 1 ภายใน 2 ปี นับแต่วันทราบเหตุ โจทก์ทราบเหตุนับตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2543 แต่ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2545 เกินกว่า 2 ปี ฟ้องของโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 6,111,125.59 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 2 ร่วมชำระเงินจำนวน 2,305,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่ได้โต้เถียงในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2503 มีวัตถุประสงค์ในการผลิต จัดให้ได้มา จัดส่ง และจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า เป็นกิจการสาธารณูปโภค เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2534 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับโจทก์เพื่อใช้ในกิจการผลิตแป้งมันสำปะหลัง โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ค่าไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 2,305,000 บาท ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 ต่อมาเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2543 พนักงานของโจทก์ตรวจสอบพบว่า มาตรวัดไฟฟ้า (มิเตอร์) ของจำเลยที่ 1 อ่านค่าการใช้ไฟฟ้าคลาดเคลื่อนน้อยกว่าความเป็นจริง เนื่องจากจุดต่อสายของหม้อแปลงกระแสไฟฟ้าแรงสูงหลวม ทำให้มาตรวัดไฟฟ้าหมุนช้ากว่าปกติ ตามบันทึกการตรวจสอบมิเตอร์เอกสารหมาย จ.7 โจทก์จึงแก้ไขปรับปรุงค่าไฟฟ้าย้อนหลังในส่วนที่ขาดหายไปตามหลักเกณฑ์กรณีมาตรวัดไฟฟ้าผิดปกติของโจทก์ที่ใช้บังคับทั่วไปตามเอกสารหมาย จ.11 โดยหาความแตกต่างของหน่วยระยะการใช้ไฟฟ้าจากมาตรวัดไฟฟ้าที่คลาดเคลื่อนกับระยะการใช้ไฟฟ้าจากมาตรวัดไฟฟ้าที่อ่านถูกต้อง แล้วคิดเปอร์เซ็นต์แตกต่างได้ร้อยละ 81.21 ซึ่งหมายความว่า มาตรวัดไฟฟ้าที่คลาดเคลื่อนอย่างค่าถูกต้องได้เพียงร้อยละ 18.79 จึงนำเปอร์เซ็นต์ของมาตรวัดไฟฟ้าที่คลาดเคลื่อนไปปรับปรุงหน่วยและกิโลวัตต์ ตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2542 จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2543 ให้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ แล้วจะได้จำนวนเงินที่ถูกต้อง หักลบกับจำนวนเงินที่เรียกเก็บแล้ว จึงเหลือเงินที่จะต้องเรียกเก็บเพิ่มอีกจำนวน 7,705,882.85 บาท รวมกับค่าภาษีมูลค่าเพิ่มอีกร้อยละ 7 เป็นเงิน 539,411.80 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 8,245,294.65 บาท ตามสถิติการใช้ไฟฟ้าเปรียบเทียบของจำเลยที่ 1 เอกสารหมาย จ.8 และรายการปรับปรุงค่าไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 เอกสารหมาย จ.12 แผ่นที่ 3
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในประการแรกว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) แล้วหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการผลิตและจัดจำหน่ายกระแสไฟฟ้าอันเป็นกิจการสาธารณูปโภค ถือเป็นผู้ประกอบการค้าตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวและแม้ค่ากระแสไฟฟ้าที่โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระแก่โจทก์ จะถือเป็นหนี้ค่ากระแสไฟฟ้าอันเป็นกิจการที่ใช้ผลิตและจำหน่ายก็ตาม แต่หนี้ค่ากระแสไฟฟ้าคดีนี้ไม่ใช่หนี้ค่ากระแสไฟฟ้าที่โจทก์ได้เรียกเก็บจากจำเลยที่ 1 ตามปกติแล้วจำเลยที่ 1 ไม่ยอมชำระให้แต่อย่างใด หากแต่เป็นค่ากระแสไฟฟ้าที่ขาดตกบกพร่องไป อันเนื่องมาจากมาตรวัดไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 อ่านค่าการใช้ไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 คลาดเคลื่อนน้อยกว่าความเป็นจริงเพราะจุดต่อสายของหม้อแปลงไฟฟ้าแรงสูงหลวม ทำให้มาตรวัดไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 หมุนช้ากว่าปกติ ทำให้โจทก์เรียกเก็บค่ากระแสไฟฟ้าที่จำเลยที่ 1 ใช้ไปน้อยกว่าความเป็นจริง เมื่อโจทก์ตรวจสอบพบจุดบกพร่องจึงทำการแก้ไข แล้วเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระค่ากระแสไฟฟ้าส่วนที่ขาดเพราะเหตุมาตรวัดไฟฟ้าคำนวณค่าใช้ไฟฟ้าขาดตกบกพร่องไป เมื่อคำนวณใหม่ให้ถูกต้องแล้วเรียกค่าใช้กระแสไฟฟ้าเพิ่มเติมส่วนที่ขาด อายุความส่วนนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 มาบังคับใช้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ตรวจพบจุดบกพร่องและทำการแก้ไขเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2543 โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่ากระแสไฟฟ้าที่ขาดเพิ่มเติมจากจำเลยที่ 1 นับแต่นั้น เมื่อนับถึงวันที่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องวันที่ 16 ตุลาคม 2545 ยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ เพียงใดนั้น ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของนายเดชา ซึ่งขณะเกิดเหตุเป็นผู้จัดการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดสระแก้วว่า จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการผลิตแป้งมันสำปะหลัง การใช้ไฟฟ้าในแต่ละเดือนจะไม่เท่ากันและจะแบ่งเป็นฤดูกาลผลิตและนอกฤดูกาลผลิต ในฤดูการผลิตจะใช้ไฟฟ้ามาก ส่วนนอกฤดูการผลิตก็จะใช้ไฟฟ้าน้อย ดังนั้น หลักเกณฑ์การปรับปรุงค่าไฟฟ้ากรณีมาตรวัดไฟฟ้าผิดปกติจึงต้องใช้หลักเกณฑ์ ข้อ 1.5.3 ของเอกสารหมาย จ.11 ที่กำหนดให้พิจารณาปรับปรุงโดยเปรียบเทียบกับสถิติการใช้ไฟฟ้าของปีก่อนหน้านั้น ในฤดูการผลิตหรือนอกฤดูกาลผลิตในระยะเดียวกัน ตามสถิติการใช้ไฟฟ้าเปรียบเทียบของจำเลยที่ 1 เอกสารหมาย จ.8 และได้ส่งสถิติการใช้ไฟฟ้าเปรียบเทียบของจำเลยที่ 1 ไปให้กองเศรษฐกิจพลังไฟฟ้าสำนักงานใหญ่ ทำการวิเคราะห์เปรียบเทียบ พบว่าสาเหตุผิดปกติดังกล่าวน่าจะเริ่มต้นจากเดือนสิงหาคม 2542 เป็นต้นไป จนกระทั่งตรวจพบจุดบกพร่องเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2543 ซึ่งเป็นช่วงที่มาตรวัดไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 อ่านค่าน้อยลงกว่าปกติทั้งๆ ที่เป็นช่วงฤดูกาลผลิตแป้งมันสำปะหลัง หลังจากตรวจพบจุดบกพร่องและทำการแก้ไขแล้วในช่วงเดือนเดียวกันในปี 2543 นับแต่เดือนสิงหาคม 2543 เป็นต้นไปสถิติการใช้ไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 ก็มีค่าสูงมากกว่าปี 2542 ในเดือนเดียวกันและเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดือนสิงหาคมก่อนปี 2542 สถิติการใช้ไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 ก็สูงเช่นกัน และนอกจากนี้ยังได้ความว่าในช่วงเดือนสิงหาคม 2542 จำเลยที่ 1 ได้ขออนุญาตขยายโรงงานตามเอกสารหมาย จ.10 และได้ขอเพิ่มขนาดหม้อแปลงกระแสไฟฟ้า ซี.ที. จากขนาด 10/5 แอมป์ เป็น 100/5 แอมป์ เพื่อขยายการผลิตสินค้าตามเอกสารใบติดตั้งและถอนคืนมิเตอร์ เอกสารหมาย จ.9 จึงมีเหตุผลให้ฟังได้ว่า ช่วงเวลาดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้ขยายโรงงานเพื่อเพิ่มผลผลิตในฤดูกาลผลิตจึงน่าจะต้องใช้กระแสไฟฟ้าในการผลิตมากขึ้นกว่าเดิม แต่กลับปรากฏว่า มาตรวัดไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 แสดงค่าการใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าเดิมจึงเป็นเรื่องผิดปกติ โดยจำเลยที่ 1 มีเพียงนายบัณฑูรณ์ ผู้จัดการฝ่ายบุคคลมาเบิกความเพียงผู้เดียวว่า ช่วงเวลาดังกล่าว จำเลยที่ 1 ทำการผลิตน้อยเนื่องจากขาดวัตถุดิบ ประกอบกับอยู่ระหว่างหยุดซ่อมบำรุงเครื่องจักรนั้น ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีหลักฐานมาแสดงว่าช่วงเวลานั้นจำเลยที่ 1 รับซื้อวัตถุดิบจากชาวไร่น้อยกว่าปกติ หรือมีหลักฐานการซ่อมบำรุงเครื่องจักรและระยะเวลาที่ใช้ในการหยุดซ่อมเครื่องจักรยานเพียงใด มาแสดงยืนยันต่อศาลประกอบคำเบิกความของนายบัณฑูรณ์แต่อย่างใด จึงเป็นคำเบิกความลอยๆ ไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟังได้ ที่จำเลยที่ 1 โต้แย้งว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นคนคลายนอตจุดต่อสายดังกล่าวให้หลวม เหตุที่นอตดังกล่าวหลวมอาจเกิดจากพนักงานของโจทก์ที่มาติดตั้งเปลี่ยนหม้อแปลงเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2542 ขันนอตไม่แน่น จึงไม่ใช่ความผิดของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะฟังไม่ได้ว่าใครเป็นคนคลายนอตจุดต่อสายหม้อแปลงกระแสไฟฟ้าแรงสูงดังกล่าวให้หลวมก็ตามแต่จุดบกพร่องดังกล่าวตามแผนผังเอกสารหมาย จ.20 นายบัณฑูรย์ก็เบิกความรับว่าตั้งอยู่ในพื้นที่ของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีประตูเข้า-ออกและมีพนักงานรักษาความปลอดภัยเฝ้าจึงยากที่บุคคลภายนอกจะเข้าไปทำการคลายนอตดังกล่าวแล้ว ก็เป็นไปได้ว่าพนักงานของโจทก์ที่ไปติดตั้งหม้อแปลงใหม่ให้แก่จำเลยที่ 1 ขันนอตไม่แน่น ตามที่จำเลยที่ 1 โต้แย้งก็เป็นได้แต่อย่างใดก็ตาม แม้เหตุที่นอตดังกล่าวหลวมเกิดจากการที่พนักงานของโจทก์ขันนอตไม่แน่น ทำให้มาตรวัดไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 เดินคลาดเคลื่อนช้ากว่าปกติ ทำให้อ่านค่าการใช้กระแสไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 น้อยกว่าที่ใช้ไปจริง โดยที่จำเลยที่ 1 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อกระแสไฟฟ้าจากโจทก์ไปใช้แล้ว จำเลยที่ 1 ย่อมมีหน้าที่ชำระหนี้ค่าไฟฟ้าให้แก่โจทก์ตามที่ใช้ไปจริง จำเลยที่ 1 จึงยังต้องรับผิดชำระค่าไฟฟ้าที่ขาดบกพร่องตามที่ใช้ไปจริงให้แก่โจทก์ ปัญหาวินิจฉัยต่อไปมีว่า โจทก์ชอบที่จะเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าไฟฟ้าย้อนหลังได้เพียงใดนั้น เห็นว่า สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย ล.4 ข้อ 6 เรื่องการปรับปรุงค่าไฟฟ้า ระบุในข้อ 6.1.1 ว่า หากพิสูจน์ได้ว่ามาตรวัดไฟฟ้าคลาดเคลื่อนมาตั้งแต่วันเวลาใดก็ให้ปรับปรุงย้อนหลังถึงวันเวลานั้น และในข้อ 6.1.2 หากไม่สามรถกำหนดวันเวลาที่มาตรวัดไฟฟ้าคลาดเคลื่อนได้แน่นอน ก็ให้ย้อนหลังไป 6 เดือน นั้น เมื่อทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่า โจทก์ทราบว่ามาตรวัดไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 คลาดเคลื่อนตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2542 ถึงเดือนเมษายน 2543 ก็โดยวิธีเปรียบเทียบสถิติการใช้ไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 ในปีก่อนและหลังช่วงระยะเวลาเดียวกันตามหลักเกณฑ์ของโจทก์ แล้วคิดคำนวณย้อนหลังเรียกค่าไฟฟ้าเพิ่มเติมจากจำเลยที่ 1 ถึงเดือนสิงหาคม 2542 นั้น เป็นเพียงการคาดคะเนเปรียบเทียบตามหลักเกณฑ์ของโจทก์เท่านั้น ซึ่งจำเลยที่ 1 ไม่มีส่วนร่วมรู้เห็นด้วยว่าโจทก์คิดย้อนหลังถูกต้องหรือไม่ กรณีจึงยังไม่อาจฟังได้แน่ชัดว่ามาตรวัดไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 เดินคลาดเคลื่อนตั้งแต่วันเวลาใดแน่ ฉะนั้นโจทก์จะถือหลักเกณฑ์ตามสัญญาซื้อขาย ข้อ 6.1.1 คิดค่าปรับปรุงย้อนหลังไปจนถึงวันที่ 2 สิงหาคม 2542 จึงไม่ชอบ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นให้โจทก์คิดปรับปรุงย้อนหลังไปเพียง 6 เดือน นับแต่วันที่โจทก์ตรวจพบข้อบกพร่องในวันที่ 10 เมษายน 2543 ลงมาตามหลักเกณฑ์ ข้อ 6.1.2 จึงชอบด้วยเหตุผลแล้ว สำหรับจำเลยที่ 2 ได้ความว่า เป็นผู้ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ค่าไฟฟ้าแก่โจทก์ในวงเงิน 2,305,000 บาท ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ค่าไฟฟ้าที่ขาดตกบกพร่องในวงเงินที่ค้ำประกันแก่โจทก์ด้วย ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แก่โจทก์นั้นชอบแล้ว ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 2 ปี จึงพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share