แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยจ้างโจทก์ทำงานบ้านซึ่งเปิดเป็นร้านเสริมสวยโดยให้โจทก์ซักผ้า ทำงานบ้าน กวาดร้านทำผม และซักผ้าเช็ดผม ถือได้ว่า เป็นการให้โจทก์ทำงานเกี่ยวกับงานบ้านที่มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย การให้โจทก์ทำความสะอาดและซักผ้าเช็ดผมซึ่งเป็นงานส่วนหนึ่งในสถานประกอบการถือได้ว่าโจทก์เป็นลูกจ้างทั่วไปที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน จำเลยอุทธรณ์ว่า จากพยานหลักฐานโจทก์และจำเลยฟังได้ว่า โจทก์ทำงานบ้านแยกส่วนกันกับร้านเสริมสวยเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนนวน 8,330 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำนวน 56,100 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 2,210 บาท และค่าชดเชยจำนวน 51,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจำนวน 2,210 บาท จ่ายค่าชดเชยจำนวน 51,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินทั้งสองจำนวนนับแต่วันฟ้อง (14 ธันวาคม 2547) จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 8,330 บาท จ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำนวน 25,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินทั้งสองจำนวนนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกมีว่า โจทก์เป็นลูกจ้างซึ่งได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานหรือไม่ เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยจ้างโจทก์ทำงานบ้านโดยให้โจทก์ซักผ้า ทำงานบ้าน กวาดร้านทำผมและซักผ้าเช็ดผม ถือได้ว่าเป็นการให้โจทก์ทำงานเกี่ยวกับงานบ้านที่มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย การให้โจทก์ทำความสะอาดและซักผ้าเช็ดผม ซึ่งเป็นงานส่วนหนึ่งในสถานประกอบการ ถือได้ว่าโจทก์เป็นลูกจ้างทั่วไปที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน จำเลยอุทธรณ์ว่า จากคำเบิกความพยานโจทก์จำเลยฟังได้ว่าโจทก์ทำงานกับจำเลยในตำแหน่งแม่บ้าน มีหน้าที่ทำงานบ้าน ซักผ้า และทำอาหาร แยกส่วนกันกับร้านเสริมสวย โจทก์เป็นลูกจ้างทำงานบ้านจึงไม่ได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เห็นได้ว่า เป็นการอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางว่า โจทก์ทำเพียงงานบ้านไม่ได้ทำงานในส่วนของร้านเสริมสวยดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัย จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย…
พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย 186 บาท และค่าชดเชย 40,800 บาท ให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง