คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3542/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ใบแจ้งรายการประเมินและใบแจ้งคำชี้ขาดเป็นคำสั่งทางปกครองตามความหมายในคำนิยามมาตรา 5 ที่ต้องอยู่ในบังคับตามมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 จะต้องจัดให้มีเหตุผลไว้ด้วย เมื่อใบแจ้งรายการประเมินและใบแจ้งคำชี้ขาดไม่มีเหตุผลอันประกอบด้วยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ข้อกฎหมายที่อ้างอิง ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจของจำเลยทั้งสอง โจทก์ย่อมไม่สามารถทราบเหตุผลในการประเมินและคำชี้ขาดได้ รายละเอียดในแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินเป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นสำหรับให้จำเลยที่ 1 กำหนดประเภทแห่งทรัพย์สิน ค่ารายปีและค่าภาษีที่โจทก์ต้องเสีย โจทก์ย่อมทราบเฉพาะรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สินของโจทก์เท่านั้น แต่ไม่อาจทราบเหตุผลในการประเมินและคำชี้ขาด ดังนั้นใบแจ้งรายการประเมินและใบแจ้งคำชี้ขาดจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องแสดงเหตุผลตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37 วรรคสาม (2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินของจำเลยที่ 1 และคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 โดยประเมินค่ารายปีอาคารโรงเรือนของโจทก์ประจำปีภาษี 2548 เป็นเงิน 585,000 บาท ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินเป็นเงิน 73,125 บาท และให้จำเลยที่ 2 คืนเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินที่เรียกเก็บจากโจทก์เกินไปเป็นเงิน 347,060 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ครบกำหนดสามเดือนนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 2 คืนค่าภาษีให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากร พิพากษาให้เพิกถอนการประเมินตามใบแจ้งรายการประเมินตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 (ภ.ร.ด.8) เล่มที่ 2 เลขที่ 90 ฉบับลงวันที่ 25 มีนาคม 2548 และคำชี้ขาดตามใบแจ้งคำชี้ขาดเล่มที่ 1 เลขที่ 4 ฉบับลงวันที่ 19 เมษายน 2548 ให้จำเลยที่ 2 คืนเงินภาษีจำนวน 220,185 บาท ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด หากไม่คืนภายในกำหนดให้ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันครบกำหนด 3 เดือน จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 1,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่า ใบแจ้งรายการประเมินและใบแจ้งคำชี้ขาดภาษีโรงเรือนและที่ดินโจทก์ประจำปีภาษี 2548 ชอบตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37 หรือไม่ เห็นว่า ใบแจ้งรายการประเมินตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 และใบแจ้งคำชี้ขาดเป็นคำสั่งของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย ซึ่งมีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลและมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลระหว่างจำเลยที่ 2 กับโจทก์ โดยโจทก์มีหน้าที่ต้องชำระค่าภาษีอากร ใบแจ้งรายการประเมินและใบแจ้งคำชี้ขาดจึงเป็นคำสั่งทางปกครองตามความหมายในคำนิยามมาตรา 5 ที่ต้องอยู่ในบังคับตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ด้วย คือ จะต้องจัดให้มีเหตุผลไว้ด้วย ทั้งเหตุผลนั้นอย่างน้อยต้องประกอบด้วยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญข้อกฎหมายที่อ้างอิง ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจ แต่ตามใบแจ้งรายการประเมินและใบแจ้งคำชี้ขาดดังกล่าวไม่ปรากฏเหตุผลตามที่กฎหมายกำหนด ที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่ากรณีของจำเลยทั้งสองเป็นข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องแสดงเหตุผลตามมาตรา 37 วรรคสาม (2) ที่ว่า เหตุผลนั้นเป็นที่รู้จักกันอยู่แล้วโดยไม่จำต้องระบุอีก ใบแจ้งรายการประเมินและใบแจ้งคำชี้ขาดจึงไม่ต้องระบุเหตุผลไว้ เพราะตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 กำหนดให้เป็นหน้าที่ของเจ้าของโรงเรือนและที่ดินต้องยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน แสดงรายการทรัพย์สินต่างๆ ระบุถึงลักษณะขนาด ประโยชน์ใช้สอยโรงเรือนและที่ดิน และประโยชน์ที่ได้รับจากทรัพย์สินนั้น อันเป็นข้อเท็จจริงที่เจ้าของโรงเรือนและที่ดินกรู้ดีอยู่แล้วต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ยังมีรายการเกี่ยวกับคำชี้แจงตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 กำหนดไว้ครบถ้วนและชัดแจ้ง การประเมินภาษีตามใบแจ้งรายการประเมินและและใบแจ้งคำชี้ขาดก็เป็นคำสั่งอันสืบเนื่องมา แต่แบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินนั้นเอง เมื่อประมวลเข้าด้วยกันแล้วย่อมสมบูรณ์ประกอบด้วยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ และข้อกฎหมายที่อ้างอิงชัดแจ้ง ซึ่งโจทก์สามารถเข้าใจคำสั่งดังกล่าวได้เป็นอย่างดีจึงยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่โดยมีรายละเอียดข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายโต้แย้งการประเมินนั้น เห็นว่า แม้พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 20 จะกำหนดให้ผู้เสียภาษีโรงเรือนและที่ดินต้องกรอกรายการในแบบพิมพ์ซึ่งแสดงรายการทรัพย์สินต่างๆ ที่ระบุถึงลักษณะ ขนาด ประโยชน์ใช้สอยโรงเรือนและที่ดิน และประโยชน์ที่ได้รับจากทรัพย์สินนั้น ตามความเป็นจริงตามความรู้เห็นของตนให้ครบถ้วนและรับรองความถูกต้องของข้อความดังกล่าวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด.2) ก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงเหล่านั้นเป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับให้จำเลยที่ 1 กำหนดประเภทแห่งทรัพย์สิน ค่ารายปีแห่งทรัพย์สินและค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินที่โจทก์จะต้องเสีย และโจทก์ย่อมทราบเพียงรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สินของโจทก์เท่านั้น เมื่อใบแจ้งรายการประเมินและใบแจ้งคำชี้ขาดไม่เป็นเหตุผลอื่นประกอบด้วยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ข้อกฎหมายที่อ้างอิง ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจของจำเลยทั้งสอง ย่อมไม่สามารถทราบเหตุผลในการประเมินและคำชี้ขาดได้ ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่าใบแจ้งรายการประเมินและใบแจ้งคำชี้ขาดไม่เข้าหลักเกณฑ์ข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องแสดงเหตุผลตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37 วรรคสาม (2) นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการแจ้งตามใบแจ้งรายการประเมินและให้จำเลยที่ 2 คืนเงินภาษีจำนวน 147,060 บาท ตามที่โจทก์ขอ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.

Share