คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10711/2550

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน ข้อพิพาทตามฟ้องสืบเนื่องจากโจทก์ทำสัญญาอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ใช้ลิขสิทธิ์เพลงของโจทก์โดยกำหนดชำระค่าตอบแทน ต่อมาโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองว่าผิดสัญญาดังกล่าวเป็นคดีแพ่งที่ศาลแพ่งธนบุรีจนกระทั่งมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โจทก์ยืนยันข้อเท็จจริงมาในอุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 2 มิได้เป็นคู่สัญญา จำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระค่าตอบแทนให้แก่โจทก์ตามสัญญาเท่านั้น จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 จึงอยู่ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1167 ประกอบด้วยมาตรา 820 ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 กระทำนอกขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ประกอบการใช้ลิขสิทธิ์ของโจทก์ในฐานะส่วนตัว จำเลยที่ 2 จึงหาต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วยไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจฟ้องแย้ง กับไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางขอให้บังคับตามฟ้องแย้งแก่จำเลยที่ 2 ด้วย
จำเลยที่ 1 ส่งหนังสือเรื่องแจ้งต่อสัญญาอนุญาตใช้ลิขสิทธิ์เพลงให้แก่โจทก์ทางโทรสารโดยมีข้อความแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ว่า “…เนื่องจากขณะนี้เหลือเวลาอีกไม่ถึง 2 ปี ก็จะหมดอายุสัญญาให้ใช้ลิขสิทธิ์เพลงตามสัญญาประนีประนอมฯ ดังกล่าว โดยหนังสือฉบับนี้ข้าพเจ้าฯ ขอแจ้งให้ท่านทราบว่าข้าพเจ้าประสงค์จะใช้ลิขสิทธิ์เพลงทำเพลงเพื่อผลิตและจำหน่ายต่อไปอีก 11 ปี ตามสัญญาประนีประนอมฯ ในข้อ 7…” และสัญญาประนีประนอมยอมความระบุว่า “โจทก์ยินยอมให้ยืดระยะเวลาตามสัญญาให้จำเลยใช้ลิขสิทธิ์ออกไปอีก 1 ปี ถึงวันที่ 13 ตุลาคม 2543 และก่อนหมดระยะเวลา 6 เดือน หากจำเลยประสงค์จะใช้ลิขสิทธิ์ทำเพลงต่อไป จำเลยจะต้องไปติดต่อโจทก์เพื่อทำสัญญาใช้ลิขสิทธิ์ต่อไปอีก 11 ปี เป็นเงิน 22,000,000 บาท โดยในการจ่ายเงินให้ถือตามสัดส่วนของสัญญาฉบับเดิม หากจำเลยไม่ติดต่อถือว่าจำเลยไม่ประสงค์จะทำสัญญาใช้ลิขสิทธิ์กับโจทก์อีกต่อไป” มิได้มีข้อความที่เป็นการแสดงความประสงค์ของคู่สัญญาว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ติดต่อโจทก์เพื่อทำสัญญาแล้วให้เป็นดุลพินิจของโจทก์ที่จะต่ออายุสัญญาให้อีกหรือไม่ก็ได้ แต่เป็นคำเสนอของโจทก์จะต่ออายุสัญญาให้ใช้ลิขสิทธิ์แก่จำเลยที่ 1 อันบ่งระยะเวลาให้ทำคำสนองซึ่งโจทก์ไม่อาจถอนได้ภายในระยะเวลาที่บ่งไว้ เมื่อจำเลยที่ 1 ส่งโทรสารถึงโจทก์ก่อนหมดระยะเวลา 6 เดือน ว่าประสงค์จะใช้ลิขสิทธิ์เพลงต่อไปอีก 11 ปี จึงเป็นการสนองรับคำเสนอของโจทก์ภายในกำหนดแล้ว เมื่อมิได้มีเงื่อนไขว่าการต่ออายุสัญญานั้นจะต้องทำสัญญากันเป็นหนังสือด้วย สัญญาให้ใช้ลิขสิทธิ์เพลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเกิดขึ้นใหม่ตามเงื่อนไขและวิธีการที่ระบุในสัญญาให้ใช้ลิขสิทธิ์เพลงฉบับเดิม โดยไม่จำต้องทำสัญญาให้ใช้ลิขสิทธิ์เพลงกันใหม่เป็นหนังสืออีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 30,200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป และชำระค่าเสียหายเดือนละ 500,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองหยุดผลิต จำหน่ายเทปเพลง ซีดี และแผ่นเสียงทุกชนิด และเก็บสิ่งของดังกล่าวออกจากท้องตลาดหมดแล้ว และให้ส่งมอบมาสเตอร์เทป ปกหน้าตราเทป ฟิล์ม เพลท และแม่พิมพ์แผ่นเสียงทุกชนิดคืนแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งกับแก้ไขคำฟ้องแย้ง บังคับให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยทั้งสอง 16,035,000 บาท และให้โจทก์แสดงหลักฐานการมีหรือได้มาซึ่งลิขสิทธิ์เพลงที่โจทก์อนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์เพลงต่อจำเลยทั้งสอง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง โดยขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้สัญญาให้ใช้ลิขสิทธิ์เพลง มีผลใช้บังคับต่อไปโดยอนุโลม มีกำหนด 11 ปี นับแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2543 และจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ชำระค่าตอบแทนแก่โจทก์ 22,000,000 บาท การชำระเงินเป็นไปตามสัดส่วนของสัญญาให้ใช้ลิขสิทธิ์เพลงดังกล่าว ยกฟ้องและยกฟ้องแย้ง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองฝ่ายให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 มีอำนาจฟ้องแย้งหรือไม่ และศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรวินิจฉัยไปพร้อมกันด้วยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 หรือไม่ ซึ่งแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกปัญหาข้อนี้ขึ้นอุทธรณ์ แต่ปัญหาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 หรือไม่นั้น เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 246 และมาตรา 142 (5) เห็นว่า ตามหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด กรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 มีเพียงคนเดียวคือจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยที่ 1 ข้อพิพาทตามฟ้องสืบเนื่องจากโจทก์ได้ทำสัญญาอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ใช้ลิขสิทธิ์เพลงของโจทก์ โดยให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิในการผลิตเทปคาสเซ็ท แผ่นเสียง และแผ่นซีดีทุกขนาดมีกำหนด 10 ปี ส่วนจำเลยที่ 1 ตกลงชำระค่าตอบแทนให้แก่โจทก์เป็นงวดรวม 17,000,000 บาท ตามสัญญาให้ใช้ลิขสิทธิ์เพลงลงวันที่ 13 ตุลาคม 2532 ต่อมาเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินค่าตอบแทนงวดเดือนตุลาคม 2534 และโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเรื่องผิดสัญญาตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 5443/2538 ของศาลแพ่งธนบุรีนั้น โจทก์ยืนยันข้อเท็จจริงมาในอุทธรณ์คดีนี้ว่า จำเลยที่ 2 มิได้เป็นคู่สัญญาในสัญญาให้ใช้ลิขสิทธิ์เพลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระค่าตอบแทนให้แก่โจทก์ตามสัญญาเท่านั้น ส่วนที่โจทก์และจำเลยทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 5443/2538 ของศาลแพ่งธนบุรี โดยมีสัญญาข้อ 7 ว่า “โจทก์ยินยอมให้ยืดระยะเวลาตามสัญญาให้ใช้ลิขสิทธิ์ออกไปอีก 1 ปี… หากจำเลยประสงค์จะใช้ลิขสิทธิ์ทำเพลงต่อไป จำเลยจะต้องไปติดต่อโจทก์เพื่อทำสัญญาใช้ลิขสิทธิ์ต่อไปอีก 11 ปี…” ก็เป็นการขยายระยะเวลาตามสัญญาให้ใช้ลิขสิทธิ์แก่จำเลยที่ 1 และให้โอกาสแก่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาให้ใช้ลิขสิทธิ์ของโจทก์ต่อไป จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 จึงอยู่ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1167 ประกอบด้วยมาตรา 820 ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 กระทำนอกขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ประกอบการใช้ลิขสิทธิ์ของโจทก์ในฐานะส่วนตัว แม้การประกอบการของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 จะเป็นการผิดสัญญาหรือละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ จำเลยที่ 1 ย่อมต้องรับผิดแต่เพียงผู้เดียว จำเลยที่ 2 หาต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วยไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ส่วนที่จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ชดใช้ค่าเสียหายจากการรอนสิทธิหรือละเมิดลิขสิทธิ์เพลงของบุคคลภายนอก โดยอ้างว่าโจทก์ละเลยการแก้ปัญหาต่างๆ ให้ลุล่วง ถือว่าโจทก์ได้ประพฤติผิดสัญญาให้ใช้ลิขสิทธิ์เพลงนั้น เมื่อสัญญาให้ใช้ลิขสิทธิ์เพลงเป็นสัญญาซึ่งจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลทำขึ้น จำเลยที่ 2 มิได้กระทำการในฐานะส่วนตัวร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการทำสัญญาดังกล่าวกับโจทก์ สัญญาให้ใช้ลิขสิทธิ์เพลงย่อมผูกพันเฉพาะจำเลยที่ 1 กับโจทก์และเฉพาะจำเลยที่ 1 เท่านั้น มีอำนาจฟ้องแย้งได้ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีอำนาจฟ้องแย้ง และไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ขอให้บังคับตามฟ้องแย้งแก่จำเลยที่ 2 ด้วย ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และพิพากษายกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อต่อไปว่า สัญญาให้ใช้ลิขสิทธิ์เพลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2543 ตามที่โจทก์ตกลงขยายระยะเวลาตามสัญญาให้แก่จำเลยที่ 1 หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ส่งหนังสือเรื่องแจ้งต่อสัญญาอนุญาตใช้ลิขสิทธิ์เพลง ลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2542 ให้แก่โจทก์ทางโทรสารแล้ว โดยมีข้อความแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ว่า “… เนื่องจากขณะนี้เหลือเวลาอีกไม่ถึง 2 ปี ก็จะหมดอายุสัญญาให้ใช้ลิขสิทธิ์เพลงตามสัญญาประนีประนอมฯ ดังกล่าว โดยหนังสือฉบับนี้ข้าพเจ้าฯ ขอแจ้งให้ท่านทราบว่า ข้าพเจ้าประสงค์จะใช้ลิขสิทธิ์เพลงทำเพลงเพื่อผลิตและจำหน่ายต่อไปอีก 11 ปี ตามสัญญาประนีประนอมฯ ในข้อ 7…” สัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 7 ระบุว่า “โจทก์ยินยอมให้ยืดระยะเวลาตามสัญญาให้จำเลยใช้ลิขสิทธิ์ออกไปอีก 1 ปี ถึงวันที่ 13 ตุลาคม 2543 และก่อนหมดระยะเวลา 6 เดือน หากจำเลยประสงค์จะใช้ลิขสิทธิ์ทำเพลงต่อไป จำเลยจะต้องไปติดต่อโจทก์เพื่อทำสัญญาใช้ลิขสิทธิ์ต่อไปอีก 11 ปี เป็นเงิน 22,000,000 บาท โดยในการจ่ายเงินให้ถือตามสัดส่วนของสัญญาฉบับเดิม หากจำเลยไม่ไปติดต่อถือว่าจำเลยไม่ประสงค์จะทำสัญญาใช้ลิขสิทธิ์กับโจทก์อีกต่อไป” มิได้มีข้อความที่เป็นการแสดงความประสงค์ของคู่สัญญาว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ติดต่อโจทก์เพื่อทำสัญญาแล้วให้เป็นดุลพินิจของโจทก์ที่จะต่ออายุสัญญาให้อีกหรือไม่ก็ได้ แต่เป็นคำเสนอของโจทก์จะต่ออายุสัญญาให้ใช้ลิขสิทธิ์แก่จำเลยที่ 1 อันบ่งระยะเวลาให้ทำคำสนองซึ่งโจทก์ไม่อาจถอนได้ภายในระยะเวลาที่บ่งไว้ เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ส่งโทรสารถึงโจทก์ก่อนหมดระยะเวลา 6 เดือนว่าประสงค์จะใช้ลิขสิทธิ์เพลงต่อไปอีก 11 ปี จึงเป็นการสนองรับคำเสนอของโจทก์ภายในกำหนดแล้ว สัญญาให้ใช้ลิขสิทธิ์เพลงฉบับเดิมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีข้อตกลง 12 ข้อ สัญญาข้อ 2 กำหนดอายุสัญญาไว้ 10 ปี ถึงวันที่ 14 ตุลาคม 2542 สัญญาข้อ 3 กำหนดค่าตอบแทนเป็นเงิน 17,000,000 บาท ข้อ 3.1 ถึง 3.9 กำหนดจำนวนเงินที่ต้องชำระงวดแรกและที่ต้องชำระต่อไปเป็นรายปี ส่วนสัญญาข้ออื่นเป็นรายละเอียดเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของโจทก์กับจำเลยที่ 1 การที่จะต่ออายุสัญญาให้ใช้ลิขสิทธิ์เพลงออกไปอีก โจทก์และจำเลยที่ 1 ก็เพียงแต่ตกลงกันเรื่องอายุสัญญาและค่าตอบแทนเท่านั้น ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 7 ที่โจทก์ตกลงยินยอมยืดระยะเวลาตามสัญญาให้จำเลยที่ 1 ใช้ลิขสิทธิ์เพลงออกไปอีก 1 ปี ถึงวันที่ 13 ตุลาคม 2543 โดยไม่คิดค่าตอบแทน ก็มิได้มีเงื่อนไขว่าจะต้องทำสัญญากันเป็นหนังสือเสียก่อน ส่วนคำเสนอจะต่ออายุสัญญาให้ใช้ลิขสิทธิ์เพลงโจทก์ก็ได้เสนอเงื่อนไขอันเป็นสาระสำคัญของการต่ออายุสัญญาทุกข้อคือ กำหนดอายุสัญญาที่จะต่อออกไป 11 ปี กำหนดจำนวนค่าตอบแทนทั้งหมดและการจ่ายเงินค่าตอบแทนที่ให้ถือตามสัดส่วนของสัญญาฉบับเดิมโดยไม่มีเงื่อนไขว่าการต่ออายุสัญญานั้นจะต้องทำสัญญากันเป็นหนังสือด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 ได้แสดงความจำนงต่อโจทก์ว่าจะใช้ลิขสิทธิ์ทำเพลงเพื่อผลิตและจำหน่ายต่อไปอีก 11 ปี ภายในเวลาที่กำหนด จึงมีผลเท่ากับจำเลยที่ 1 สนองรับคำเสนอของโจทก์แล้ว สัญญาให้ใช้ลิขสิทธิ์เพลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเกิดขึ้นใหม่ตามเงื่อนไขและวิธีการที่ระบุในสัญญาให้ใช้ลิขสิทธิ์เพลงฉบับเดิม โดยไม่จำต้องทำสัญญาให้ใช้ลิขสิทธิ์เพลงกันใหม่เป็นหนังสืออีก ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า สัญญาให้ใช้ลิขสิทธิ์เพลงมีผลใช้บังคับต่อไปอีก 11 ปี นับแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2543 จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ชำระค่าตอบแทนแก่โจทก์จำนวน 22,000,000 บาท การชำระเงินเป็นไปตามสัดส่วนของสัญญาให้ใช้ลิขสิทธิ์เพลงดังกล่าว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 และพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.

Share