คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8176/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีสำนวนที่สองสำหรับโจทก์ที่4นั้นศาลอุทธรณ์ภาค3พิพากษายกฟ้องโจทก์ที่4โดยฟังข้อเท็จจริงว่าเหตุละเมิดเกิดขึ้นเพราะความประมาทของจำเลยที่2ฝ่ายเดียวจำเลยที่1หาได้มีส่วนประมาทด้วยไม่จำเลยที่1และโจทก์ที่2ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที่1จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่4ดังนั้นการที่โจทก์ที่4ฎีกาว่าศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยที่1และศาลอุทธรณ์ที่2ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่4เพียง2,500บาทเป็นการไม่ถูกต้องเพราะโจทก์ที่4มีสิทธิได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากผู้กระทำละเมิดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายเต็มจำนวน5,000บาทเช่นนี้ถือได้ว่าเป็นการที่โจทก์ที่4ฎีกาขอให้วินิจฉัยว่าจำเลยที่1เป็นฝ่ายประมาทกระทำละเมิดต่อโจทก์ที่4ด้วยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่4นั่นเองอันเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค3ซึ่งเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงเมื่อจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาสำหรับคดีสำนวนที่สองไม่เกินสองแสนบาทจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา248วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย สำหรับฎีกาของโจทก์ที่3และจำเลยที่2ในสำนวนแรกนั้นโจทก์ที่3และจำเลยที่2ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค3ที่พิพากษาแก้เป็นว่าให้โจทก์ที่3และจำเลยที่2ร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน172,881.25บาทแก่โจทก์ที่1คดีจึงมีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา248วรรคหนึ่งเช่นกันที่โจทก์ที่3และจำเลยที่2ฎีกาว่าจำเลยที่1มีส่วนประมาทเลินเล่อมากกว่าจำเลยที่2ค่าเสียหายของโจทก์ที่1มีเพียงใดและโจทก์ที่3ควรมีสิทธิได้รับค่าเสียหายหรือไม่โจทก์ที่3กับจำเลยที่2จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ที่1และโจทก์ที่2หรือไม่ล้วนแต่เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้นศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนฎีกาข้อกฎหมายของโจทก์ที่3และจำเลยที่2ในข้อที่ว่าการที่ศาลอุทธรณ์ภาค3วินิจฉัยว่าเหตุละเมิดมิได้เป็นเพราะความผิดของจำเลยที่1แต่เป็นเพราะความผิดของจำเลยที่2แต่ผู้เดียวจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นและมิใช่เป็นประเด็นที่ขึ้นมาสู่ศาลอุทธรณ์ภาค3เพราะไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์นั้นในข้อนี้โจทก์ที่1ได้กล่าวในอุทธรณ์ว่าเหตุที่รถยนต์เกิดชนกันจำเลยที่2เป็นผู้ก่อเพียงฝ่ายเดียวจำเลยที่1ไม่ได้ประมาทเลินเล่อจึงเป็นข้อที่โจทก์ที่1กล่าวไว้โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์และเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นศาลอุทธรณ์ภาค3ย่อมมีอำนาจวินิจฉัยได้

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกันโดยให้เรียกบริษัท นำสินประกันภัย จำกัด ว่า โจทก์ที่ 1 นาย วิฉุ้น แซ่เตีย ว่า โจทก์ที่ 2มูลนิธิคาทอลิกสุราษฎร์ธานี ว่า โจทก์ที่ 3 นาง สุรีย์ จันทรว่าโจทก์ที่ 4 นายวิว ดวงหมุน ว่า โจทก์ที่ 5 และเรียกนายสมเกียรติหรือกึ้ง เพชรประสิทธิ์ ว่า จำเลยที่ 1นายโกศรี เหล่าธารทรัพย์ ว่า จำเลยที่ 2 นางสาวจำเนียร ชุนฟุ้งหรอืซุนฟ้ง ว่า จำเลยที่ 3 และพระสังฆราชเปโต คาเรตโต ว่า จำเลยที่ 4
สำนวนแรกโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 ได้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกน้ำมันหมายเลขทะเบียน 80-1695สมุทรสงคราม ไว้จากโจทก์ที่ 2 จำเลยที่ 3 ที่ 4 และโจทก์ที่ 3 ร่วมกันเป็นเจ้าของโรงเรียนดาราสมุทรภูเก็ต โรงเรียนดังกล่าวเป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์หมายเลขทะเบียน ม-0130 ภูเก็ต ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขับขี่ในทางการที่จ้างหรือตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมายของจำเลยที่ 3 ที่ 4 และโจทก์ที่ 3 เมื่อวันที่ 19ธันวาคม 2530 เวลา 9 นาฬิกา จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ หมายเลขทะเบียนม-0130 ภูเก็ต ด้วยความประมาทเลินเล่อปราศจากความระมัดระวังเป็นเหตุให้ชนกับรถยนต์บรรทุกน้ำมันที่โจทก์ที่ 1 รับประกันไว้ซึ่งขับโดยจำเลยที่ 1 ทำให้รถยนต์บรรทุกน้ำมันดังกล่าวเสียหลักไปชนรถยนต์หมายเลขทะเบียน น-9867 นครศรีธรรมราช ซึ่งขับโดยโจทก์ที่ 5 ได้รับความเสียหายหลายรายการ ขอให้บังคับจำเลยที่ 2ที่ 3 ที่ 4 และโจทก์ที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน172,881.25 บาท แก่โจทก์ที่ 1 และ 488,089 บาท แก่โจทก์ที่่ 2และให้ร่วมกันใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จากต้นเงิน172,881.25 บาท และ 416,827 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และโจทก์ที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 2ที่ 3 ที่ 4 และโจทก์ที่ 3 ไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ที่ 1 ไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 2 มิได้เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 4 และหรือโจทก์ที่ 3 ทั้งไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ความเสียหายเกิดขึ้นเป็นเพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ฟ้องโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เคลือบคลุม เพราะไม่เข้าใจว่าฟ้องให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 รับผิดต่อโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ในฐานะใด เพราะจำเลยที่ 3 ที่ 4 มิได้เป็นเจ้าของโรงเรียนดาราสมุทรภูเก็ต มิได้เป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน ม – 0130ภูเก็ต ตามฟ้อง ทั้งมิได้เป็นนายจ้างหรือผู้มีอำนาจสั่งการให้จำเลยที่ 2 กระทำการใด ๆ ดังที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 อ้างโรงเรียนดาราสมุทรภูเก็ตเป็นโรงเรียนในเครือของโจทก์ที่ 3 โจทก์ที่ 3 เป็นเจ้าของรถยนต์ หมายเลขทะเบียน ม – 0130 ฟ้องโจทก์ที่ 1และที่ 2 มิได้ระบุว่าใครเป็นผู้แทนของโจทก์ที่ 3 ซึ่งเป็นนิติบุคคล ขอให้ยกฟ้อง
สำนวนที่สอง โจทก์ที่ 3 และที่ 4 ฟ้องว่า โจทก์ที่ 3 เป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน ม – 0130 ภูเก็ต ใช้ในกิจการของโรงเรียนดาราสมุทรภูเก็ต ซึ่งเป็นโรงเรียนในเครือของโจทก์ที่ 3 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2530 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์บรรทุกน้ำมันหมายเลขทะเบียน 80-1695 สมุทรปราการของโจทก์ที่ 2 ไปในทางการที่จ้างของโจทก์ที่ 2 ด้วยความประมาทเลินเล่อปราศจากความระมัดระวัง พุ่งเข้าชนรถยนต์หมายเลขทะเบียน ม-0130 ภูเก็ต ของโจทก์ที่ 3 อย่างแรง ทำให้รถยนต์ของโจทก์ที่ 3 ได้รับความเสียหายเป็นเหตุให้โจทก์ที่ 4ซึ่งโดยสารมาในรถยนต์ของโจทก์ที่ 3 ได้รับบาดเจ็บสาหัสขอให้บังคับโจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 1 ร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 3 และที่ 4 พร้อมด้วยดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องเป็นเงิน 146,737.50 บาท และ 15,587.50 บาท ตามลำดับและให้เสียดอกเบี้ยอัตราร้องละเจ็ดครึ่งต่อปี แก่โจทก์ที่ 3 และที่ 4 จากต้นเงิน 136,500 บาท และ 14,500 บาท ตามลำดับนับแต่วันฟ้อง (16 ธันวาคม 2531) เป็นต้นไปจนกว่าจำชำระเสร็จ
โจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ที่ 3 มิได้เป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน ม-0130 ภูเก็ต จึงไม่ใช่ผู้เสียหายและโจทก์ที่ 1 มิได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากสามีที่ชอบด้วยกฎหมายให้ฟ้องคดีนี้ โจทก์ที่ 3 และที่ 4 จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ที่ 2 ไม่ได้เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกน้ำมันหมายเลขทะเบียน 80-1695 สมุทรสงคราม มิได้เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1เหตุที่รถยนต์ชนกันมิได้เกิดในทางการที่จ้างของโจทก์ที่ 2 แต่เกิดในกิจการส่วนตัวของจำเลยที่ 1 เอง แต่อย่างไรก็ตามเหตุที่เกิดมิได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 แต่เป็นเพราะจำเลยที่ 2ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน ม-0130 ภูเก็ต ด้วยความประมาท ฟ้องโจทก์ที่ 3 เคลือบคลุม ค่าเสียหายสูงเกินไป ขอให้ยกฟ้อง
สำนวนที่สาม โจทก์ที่ 5 ฟ้องว่า โจทก์ที่ 5 เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน น.-9467 นครศรีธรรมราชจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของโจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่างขับรถด้วยความประมาทเลินเล่่อปราศจากความระมัดระวัง และขับรถด้วยความเร็วสูง เป็นเหตุให้รถยนต์ที่จำเลยที่ที่ 1 และที่ 2 ขับมาพุ่งเข้าชนกัน แล้วรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับครุดกับถนนผ่านพ้นสี่แยกพุ่งเข้าชนรถยนต์คันที่โจทก์ที่ 5 เช่าซื้อมาและขับอยู่ในช่องเดินรถของโจทก์ที่ 5 ในทิศทางรถสวนกับจำเลยที่ 1 อย่างแรง ได้รับความเสียหายมาก ตัวโจทก์ที่ 5และภรรยาได้รับบาดเจ็บสาหัส ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3และโจทก์ที่ 2 ร่วมกัน หรือแทนกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 210,795 บาทแก่โจทก์ที่ 5 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อไปนับตั้งแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ให้การว่า โจทก์ที่ 5 มิใช่ผู้เช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน น-9467 นครศรีธรรมราช จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโจทก์ที่ 5 ฟ้องคดีนี้โดยมิได้รับความยินยอมจากภรรยาเป็นหนังสือโจทก์ที่ 5 จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ที 2 ไม่ได้เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกน้ำมันหมายเลขทะเบียน 80-1695 สมุทรสงครามจำเลยที่ 1 มิได้ขับรถบรรทุกน้ำมันในทางการที่จ้างของโจทก์ที่ 2แต่ได้ขับไปในกิจการส่วนตัวของจำเลยที่ 1 เอง โจทก์ที 2จึงไม่่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 เหตุที่รถยนต์ชนกันมิได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 แต่เป็นเพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 แต่เพียงฝ่ายเดียว ฟ้องของโจทก์ที่ 5 ที่เกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลเป็นฟ้องเคลือบคลุม จำเลยที่ 1 และโจทก์ที่ 2 เห็นว่าค่ารักษาพยาบาลในส่วนของโจทก์ที่ 5 อย่างมากไม่เกิน 1,000 บาทเพราะโจทก์ที่ 5 ได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย ส่วนค่ารักษาพยาบาลในส่วนของภรรยาโจทก์ที่ 5 นั้น โจทก์ที่ 5 ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่ารักษาพยาบาลแทนได้ ค่าเสียหายทั้งสิ้นจึงไม่ควรเกิน 25,000 บาทอย่างไรก็ตาม คดีนี้เกิดเหตุวันที่ 19 ธันวาคม 2530 โจทก์ที่ 5ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2532 จึงขาดอายุความแล้วขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า โจทก์ที่ 5 เป็นแต่เพียงผู้เช่าซื้อรถยนต์ มิได้เป็นเจ้าของหรือได้รับมอบอำนาจจากเจ้าของให้ฟ้องคดีแทนจึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายใด ๆ ที่เกี่ยวกับรถยนต์ดังกล่าวจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 โจทก์ที่ 5มิได้บาดเจ็บสาหัส บาดเจ็บเพียงเล็กน้อย ฟ้องโจทก์ที่ 5 เกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้และค่าเช่ารถยนต์เป็นฟ้องเคลือบคลุม ทั้งภรรยาของโจทก์ที่ 5 มิได้มอบอำนาจให้ฟ้องเรียกค่าเสียหายโจทก์ที่ 5 จังไม่มีอำนาจฟ้องแทนภรรยา จำเลยที่ 2มิได้ทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 5 แต่ความเสียหายเกิดจากการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียว จำเลยที่ 3 มิได้เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 2เป็นแต่เพียงผู้รวมงานกันโดยมีโจทก์ที่ 3 เป็นนายจ้าง ฟ้องโจทก์ที่ 5 เกี่ยวกับค่าเสียหายขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ที่ 5 ถึงแก่ความตาย นางพาณิชย์ ดวงหมุนภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 2 และโจทก์ที่ 3ร่วมกันชำระค่าสินไหมทดแทนจำนวน 62,500 บาท แก่โจทก์ที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 2 และโจทก์ที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน93,413.50 บาท แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้จำเลยที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ใช้ค่าเสียหายจำนวน 2,500 บาทแก่โจทก์ที่ 4 พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2530 จนกว่าจะชำระเสร็จ ยกฟ้องโจทก์ที่ 3 และที่ 5
โจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ สำนวนแรกและสำนวนที่สอง
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 และโจทก์ที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 172,881.25 บาท แก่โจทก์ที่ 1พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง(19 ธันวาคม 2531) ไปจนกว่าจะชำระแก่โจทก์ที่ 1 เสร็จ ให้จำเลยที่ 2และโจทก์ที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ที่ 1สำหรับค่าทนายความนั้น โจทก์ที่ 1 ไม่แก้อุทธรณ์จึงไม่กำหนดค่าทนายความให้ ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 4 นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์ที่ 3 และจำเลยที่ 2 ฎีกาสำนวนแรก และโจทก์ที่ 4ฎีกาสำนวนที่สอง
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว คดีสำนวนที่สองสำหรับโจทก์ที่ 4 นั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ 4 โดยฟ้องข้อเท็จจริงว่า เหตุละเมิดเกิดขึ้นเพราะความประมาทของจำเลยที่ 2ฝ่ายเดียว จำเลยที่ 1 หาได้มีส่วนประมาทด้วยไม่ จำเลยที่ 1และโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 4 ดังนั้นการที่โจทก์ที่ 4 ฎีกาว่า ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 4 เพียง2,500 บาท เป็นการไม่ถูกต้อง เพราะโจทก์ที่ 4 มีสิทธิได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากผู้กระทำละเมิดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายเต็มจำนวน 5,000 บาท เช่นนี้ถือได้ว่าเป็นการที่โจทก์ที่ 4 ฎีกาขอให้วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายประมาทกระทำต่อโจทก์ที่ 4 ด้วยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 4 นั่นเองอันเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ซึ่งเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง เมื่อจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาสำหรับคดีสำนวนที่สองไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
สำหรับฎีกาของโจทก์ที่ 3 และจำเลยที่ 2 ในสำนวนแรกนั้นโจทก์ที่ 3 และจำเลยที่ 2 ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3ให้พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ที่ 3 และจำเลยที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 172,881.25 บาท แก่โจทก์ที่ 1 คดีจึงมีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248วรรคหนึ่ง เช่นกัน ที่โจทก์ที่ 3 และจำเลยที่ 2 ฎีกาว่าจำเลยที่ 1มีส่วนประมาทเลินเล่อมากกว่าจำเลยที่ 2 ค่าเสียหายของโจทก์ที่ 1มีเพียงใด และโจทก์ที่ 3 ควรมีสิทธิได้รับค่าเสียหายหรือไม่โจทก์ที่ 3 กับจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 หรือไม่ ล้วนแต่เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนฎีกาข้อกฎหมายของโจทก์ที่ 3 และจำเลยที่ 2 ให้ข้อที่ว่าการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า เหตุละเมิดมิได้เป็นเพราะความผิดของจำเลยที่ 1 แต่เป็นเพราะความผิดของจำเลยที่ 2 แต่ผู้เดียวจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นและมิใช่เป็นประเด็นที่ขึ้นมาสู่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 เพราะไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์นั้นเห็นว่าในข้อนี้โจทก์ที่ 1 ได้กล่าวในอุทธรณ์ว่า เหตุที่รถยนต์เกิดชนกันจำเลยที่ 2 เป็นผู้ก่อเพียงฝ่ายเดียวจำเลยที่ 1 ไม่ได้ประมาทเลินเล่อ จึงเป็นข้อที่โจทก์ที่ 1 กล่าวไว้ โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์และเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นศาลอุทธรณ์ภาค 3 ย่อมมีอำนาจวินิจฉัยได้ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ที่ 3และจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share