คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8380/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา57(1)นั้นศาลจะอนุญาตหรือไม่ต้องแล้วแต่เหตุสมควรตามพฤติการณ์ยังไม่มีการสืบพยานจำเลยส่วนพยานโจทก์ศาลก็งดสืบเพราะเป็นความผิดของโจทก์เองซึ่งหากจะรับคำร้องสอดไว้พิจารณาก็จะทำให้คดีเกี่ยวกับที่ดินพิพาทนี้เสร็จไปได้ในคราวเดียวโดยไม่ต้องให้ผู้ร้องสอดไปฟ้องโจทก์จำเลยใหม่เพราะแม้ผู้ร้องสอดจะฟ้องโจทก์จำเลยเป็นอีกคดีหนึ่งก็จะต้องสืบพยานโจทก์จำเลยซึ่งน่าจะเป็นพยานชุดเดียวกันทำให้ต้องมีการสืบพยานซ้ำอีกเมื่อกรณีมีเหตุที่ผู้ร้องสอดจำเป็นเพื่อยังให้ได้รับความรับรองคุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่โดยได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลที่คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณากรณีมีเหตุสมควรที่จะรับคำร้องสอดของผู้ร้องสอดไว้พิจารณาต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินพิพาทมีชื่อ นายแย้ม สหัสดี บิดาโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ซึ่งนายแย้มได้ยกให้โจทก์เมื่อประมาณ 20 ปีเศษก่อนตาย แต่บิดาโจทก์ไม่ได้ส่งมอบโฉนดที่ดินให้ด้วยทั้งนี้เนื่องจากนาย รอน อินทรสมมุติ ขอยืมโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวไปวางเป็นประกันเงินกู้ของตน นับแต่รับยกให้โจทก์ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทจนได้กรรมสิทธิ์ ต่อมาโจทก์ได้ทวงถามโฉนดที่ดินดังกล่าวกลับคืนจาก นายรอน ผู้วายชนม์สามีของจำเลยและได้ทวงถามจากจำเลย ซึ่งทั้งสองรับว่าจะดำเนินการให้โจทก์ แต่ต่อมาจำเลยปฏิเสธอ้างว่าที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของ นายรอน โจทก์ตรวจพบว่านาย รอน ได้ใช้หนังสือมอบอำนาจของ นายแย้ม ลงวันที่ 26 มีนาคม2507 ซึ่งเป็นเอกสารปลอมโอนใส่ชื่อนาย รอน เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ขอศาลพิพากษาให้ที่ดินดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนนิติกรรมที่ นายรอน โอนใส่ชื่อตนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมทั้งนิติกรรมที่มีต่อมาภายหลังและให้จำเลยส่งมอบโฉนดคืนแก่โจทก์ด้วย
จำเลยให้การว่า นายแย้ม สหัสดี จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่นาย รอน อินทรสมมุติ สามีจำเลยเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม2507 นายรอน จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท นายรอน และจำเลยได้แสดงเจตนาครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเจ้าของตลอดมา ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความ เพราะไม่ได้ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิภายใน 10 ปี ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องสอดโดย นายแย้ม สหัสดี เป็นผู้ยกให้เมื่อประมาณ 20 กว่าปีมานี้ ซึ่งผู้ร้องสอดได้ครอบครองทำประโยชน์มาจนได้กรรมสิทธิ์ ได้ทวงถามให้ นายรอน อินทรสมมุติ และจำเลยส่งมอบโฉนดคืนแก่ผู้ร้องสอดโดยให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการแทน แต่โจทก์กลับอ้างกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเป็นของตนและมาฟ้องจำเลยเสียเอง ที่ดินพิพาทมิใช่กรรมสิทธิ์ของโจทก์และจำเลยจึงร้องสอดเป็นคู่ความฝ่ายที่สาม ขอศาลมีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ให้ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องสอด ให้เพิกถอนนิติกรรมอันมิชอบที่นายรอนรับโอนจากนายแย้มรวมทั้งนิติกรรมที่ได้จดทะเบียนต่อมาภายหลังด้วย และให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินแก่ผู้ร้องสอดด้วย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า โจทก์มีหน้าที่นำสืบก่อนและศาลได้งดสืบพยานบุคคลของโจทก์ไปแล้ว คดีอยู่ในระหว่างสืบพยานจำเลยหากอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้ามาในคดีอีกย่อมไม่สะดวก กรณีไม่มีเหตุผลสมควรจึงไม่อนุญาต ยกคำร้องสอดคืนค่าขึ้นศาลให้ผู้ร้องสอดทั้งหมด
ผู้ร้องสอดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้รับคำร้องของผู้ร้องสอดให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป แล้วพิพากษาตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษา
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่ามีเหตุสมควรที่จะอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความในคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า การร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) นั้น ศาลจะอนุญาตหรือไม่ ต้องแล้วแต่เหตุสมควรตามพฤติการณ์ คดีนี้ ปรากฎว่า ยังไม่มีการสืบพยานจำเลยส่วนพยานโจทก์ศาลก็งดสืบเพราะเป็นความผิดของโจทก์เองดังนั้น หากจะรับคำร้องสอดไว้พิจารณาก็จะทำให้คดีเกี่ยวกับที่ดินพิพาทนี้เสร็จไปได้ในคราวเดียว โดยไม่ต้องให้ผู้ร้องสอดต้องไปฟ้องโจทก์จำเลยใหม่ เพราะแม้ผู้ร้องสอดจะฟ้องโจทก์จำเลยเป็นอีกคดีหนึ่งก็จะต้องมีการสืบพยานซ้ำอีก ดังนี้ เมื่อกรณีมีเหตุที่ผู้ร้องสอดจำเลยเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ โดยได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลที่คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณา เห็นว่า มีเหตุสมควรที่จะรับคำร้องสอดไว้พิจารณาต่อไป
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาในศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษา

Share