แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
สินค้าพิพาทที่จำเลยนำเข้าทำด้วยเหล็ก มีขนาดสูงประมาณ14-15 เซนติเมตร กว้าง 22-25 เซนติเมตร ยาว 30-36 เซนติเมตรน้ำหนักประมาณ 4-5 กิโลกรัม มีกุญแจและรหัสเป็นตัวเลข ตั้งแต่เลข 0 ถึง 100 ใช้สำหรับปิดเปิด เมื่อเปิดฝาหรือเคลื่อนย้ายจะมีเสียงกริ่งดัง เป็นสัญญาณใช้สำหรับกันขโมย ดังนี้ สินค้าดังกล่าวจึงเป็นหีบใส่เงิน ต้องเสียภาษีอากรตามบัญชีแนบท้ายพระราชกำหนด พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2503 ที่ใช้บังคับในขณะพิพาทในพิกัดประเภทที่ 83.03 อัตราร้อยละ 15 หาใช่ของใช้ในบ้านเรือนในพิกัดประเภทที่ 73.38 ข.อัตราร้อยละ 50 ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าระหว่างปี 2516 ถึงปี 2519 จำเลยที่ 1 ได้นำหีบใส่เงินเข้ามาในราชอาณาจักรรวม 7 ครั้ง โดยเสียภาษีอากรตามพิกัดประเภทที่ 83.03 ได้ชำระภาษีและรับสินค้าไปแล้วต่อมาเจ้าหน้าที่โจทก์ตรวจพบว่าสินค้าดังกล่าวต้องชำระภาษีอากรตามพิกัดประเภทที่ 73.38 ข. เป็นเหตุให้ชำระภาษีอากรเข้าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลขาดไปเมื่อรวมเงินเพิ่มแล้วเป็นเงิน 489,399.58 บาท จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดด้วย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย จำเลยทั้งสองให้การว่าจำเลยที่ 1 เสียภาษีอากรสินค้าตามฟ้องในพิกัดประเภทที่ 83.03ถูกต้องแล้ว ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและขาดอายุความ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเป็นอันยุติรับฟังได้ว่าเมื่อระหว่างปี 2512 ถึงปี 2519 จำเลยที่ 1 ได้สั่งและนำเข้าไปในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าหีบใส่เงินทำด้วยเหล็กมีขนาดสูงประมาณ 14-15เซนติเมตร กว้าง 22-25 เซนติเมตร ยาว 30-36 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ4-5 กิโลกรัม มีกุญแจสำหรับปิดเปิด นอกจากกุญแจแล้วยังมีรหัสเป็นตัวเองตั้งแต่เลข 0 ถึงเลข 100 ใช้สำหรับปิดเปิดอีกด้วยเมื่อเปิดฝาหีบเคลื่อนย้ายหีบจะมีเสียงกริ่งดังเป็นสัญญาณใช้สำหรับกันขโมย จำเลยที่ 1 สั่งและนำเข้ามาในราชอาณาจักร รวม 7 ครั้งตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเอกสารหมาย จ.3ถึง จ.9 ทุกครั้งจำเลยที่ 1 ได้สำแดงพิกัดประเภทที่ 83.03และชำระภาษีอากรอัตราร้อยละ 15 เจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1ได้ตรวจสอบสินค้าพิพาทแล้ว ยอมรับชำระภาษีอากรตามพิกัดประเภทที่ 83.03 และตรวจปล่อยสินค้าให้จำเลยที่ 1 รับไปแล้วต่อมาในปี 2520 เจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 พิจารณาเห็นว่าสินค้าหีบใส่เงินที่จำเลยที่ 1 สั่งและนำเข้ามานั้น เป็นสินค้าซึ่งต้องเสียภาษีอากรตามพิกัดประเภทที่ 73.38 อัตราร้อยละ 50 จึงได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าภาษีอากรที่ขาดไป ปัญหาวินิจฉัยในชั้นฎีกาว่าสินค้าพิพาทอยู่ในพิกัดประเภทที่ 73.38 ข.ดังที่โจทก์ที่ 1 ประเมินเรียกเก็บภาษีอากรเพิ่มเติมจากจำเลยทั้งสองหรือไม่ และหนี้ตามฟ้องบางส่วนขาดอายุความแล้วหรือไม่
พิเคราะห์แล้วในปัญหาว่าสินค้าพิพาทอยู่ในพิกัดประเภทที่73.38 ข. หรือไม่นั้น ปรากฏตามบัญชีแนบท้ายพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2503 ที่บังคับใช้ในขณะพิพาทว่า สินค้าพิกัดประเภทที่ 73.38 ได้แก่ของชนิดที่ตามธรรมดาใช้ในบ้านเรือนเครื่องสุขภัณฑ์สำหรับใช้ในภายในอาคาร รวมทั้งส่วนของของและเครื่องดังกล่าว ทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า ก.เครื่องสุขภัณฑ์ใช้ติดประจำที่ รวมทั้งส่วนของเครื่องสุขภัณฑ์ดังกล่าว ข.อื่น ๆจะเห็นได้ว่ากฎหมายกำหนดของที่พิกัดประเภทที่ 73.38 ไว้โดยมุ่งเน้นไปในเรื่องเป็นประเภทเครื่องมือ เครื่องใช้ประจำบ้านและที่กำหนดไว้ในข้อ ข.นั้น ก็ย่อมหมายความถึงของชนิดอื่น ๆที่เป็นประเภทเครื่องมือ เครื่องใช้ประจำบ้าน ที่มิได้ระบุไว้ในข้อ ก.นั่นเอง จึงไม่หมายความรวมถึงสินค้าพิพาท ซึ่งมิใช่ของชนิดที่ตามธรรมดาใช้ในบ้านเรือน ประเภทเครื่องมือ เครื่องใช้ประจำบ้านที่มีใช้กันทั่วไป กล่าวคือสินค้าพิพาททำด้วยเหล็ก มีกุญแจและรหัสปิดเปิด เมื่อเปิดฝาหรือเคลื่อนย้ายจะมีเสียงกริ่งสัญญาณดังซึ่งลักษณะเช่นนี้ย่อมถือได้ว่าเป็นหีบสำหรับใช้เก็บเงินหรือของมีค่า มีความมั่นคงพอสมควร และโดยสภาพดังกล่าวย่อมสามารถจะป้องกันไฟและขโมยได้ตามสมควร ที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่าสินค้าพิพาทเป็นเพียงกล่องขนาดเล็กไม่มีความมั่นคงแข็งแรงพอที่จะกันไฟได้จึงมิได้จัดอยู่ในพิกัดประเภทที่ 83.03 นั้น ปรากฏตามบัญชีแนบท้ายพระราชกำหนด พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2503 ว่าสินค้าพิกัดประเภทที่83.03 ได้แก่ ตู้นิรภัยกำปั่น ห้องนิรภัยที่หุ้มเสริมให้มั่นคงผนังด้านต่าง ๆ ที่ใช้บุในห้องนิรภัยและประตูนิรภัย หีบใส่เงินและหีบเก็บเอกสาร และสิ่งที่คล้ายกัน ทำด้วยโลหะสามัญสินค้าที่พิกัดประเภทนี้มุ่งถึงของที่ทำด้วยโลหะสามัญ มั่นคงพอสมควรเพื่อกันขโมย โดยเฉพาะระบุไว้ชัดว่าหมายความรวมถึงหีบใส่เงินด้วย ลักษณะของสินค้าพิพาทมิได้มีขนาดเล็กมาก เรียกได้ว่าเป็นหีบซึ่งถือได้ว่าเป็นหีบใส่เงินมีความมั่นคงพอสมควรซึ่งโดยสภาพย่อมสามารถป้องกันไฟและป้องกันขโมยได้ตามสมควรดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่าสินค้าพิพาทจัดอยู่ในพิกัดประเภทที่ 83.03 มิใช่ประเภทที่ 73.38 ข. ดังฎีกาของโจทก์ทั้งสองและไม่จำต้องวินิจฉัยในปัญหาเรื่องหนี้บางส่วนขาดอายุความแล้วหรือไม่ต่อไป ที่ศาลล่างพิพากษาต้องกันมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน