คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8853/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.วิ.พ. มาตรา 309 ตรี มีเจตนารมณ์ที่จะให้การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลเป็นไปด้วยความรวดเร็วและเพื่อคุ้มครองสิทธิของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการบังคับคดีให้ได้รับสิทธิและสามารถใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินอันตกอยู่ในการบังคับคดีโดยไม่ถูกลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารขัดขวางหรือโต้แย้งการใช้สิทธิของผู้ซื้อทรัพย์โดยมิชอบ ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 22) พ.ศ.2548 โดยมาตรา 2 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป คือมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2548 เป็นต้นไป โดยไม่มีบทเฉพาะกาลกำหนดว่าบทบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติดังกล่าวมิให้ใช้บังคับแก่คดีที่ฟ้องก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับแต่อย่างใด ดังนั้น ป.วิ.พ. มาตรา 309 ตรี ที่แก้ไขเพิ่มเติมจึงผูกพันใช้บังคับแก่คู่ความและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการบังคับคดีทันที แม้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดและมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์พิพาทจะได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์พิพาทก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับก็ตาม แต่ผู้ร้องได้ยื่นคำขอให้ศาลออกคำบังคับให้จำเลยและบริวารออกไปจากห้องชุดพิพาท เมื่อพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้ว ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ตรี ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยชำระเงินจำนวน 365,506.20 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 308,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยจำเลยผ่อนชำระเป็นรายเดือน เดือนละ 7,200 บาท หากผิดนัดยอมให้โจทก์บังคับคดียึดทรัพย์จำนองห้องชุดเลขที่ 174/130 ชั้นที่ 6 อาคารเลขที่ ซี อาคารชุดบ้านสวนอยู่นิรันดร์ อาคารซี ตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 208585 และ 208588 ตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ยอมให้โจทก์บังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยได้จนกว่าจะครบถ้วน ต่อมาจำเลยผิดนัด โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองดังกล่าวออกขายทอดตลาดชำระหนี้ตามคำพิพากษา
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ขอให้ศาลออกคำบังคับให้จำเลยและบริวารออกไปจากห้องชุด เลขที่ 174/130 ชั้นที่ 6 อาคารเลขที่ ซี อาคารชุดบ้านสวนอยู่นิรันดร์ อาคารซี ตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 208585 และ 208588 ตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมือง นนทบุรี จังหวัดนนทบุรี
จำเลยยื่นคำคัดค้านว่า ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ร้องเป็นผู้ซื้อห้องชุดพิพาทจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี แม้จะซื้อก่อนที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 22) พ.ศ.2548 ซึ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 309 ตรี ใช้บังคับ ผู้ร้องก็มีสิทธิยื่นคำขอตามมาตรา 309 ตรี ที่แก้ไขเพิ่มเติมใหม่นี้ได้ โดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีใหม่แต่อย่างใด จึงอนุญาตตามคำร้องของผู้ร้อง และให้ออกคำบังคับให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากห้องชุดพิพาทภายใน 30 วัน
จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ผู้ร้องมีสิทธิขอให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับให้จำเลยและบริวารออกไปจากห้องชุดพิพาทหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ตรี บัญญัติว่า “เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ขายให้แก่ผู้ซื้อ หากทรัพย์สินที่โอนนั้นมีลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารอยู่อาศัย และลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารไม่ยอมออกไปจากอสังหาริมทรัพย์นั้น ผู้ซื้อชอบที่จะยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาลให้ออกคำบังคับให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารออกไปจากอสังหาริมทรัพย์นั้นภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควรกำหนด แต่ไม่น้อยกว่าสามสิบวัน ถ้าลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ ให้บังคับตามมาตรา 296 ทวิ มาตรา 296 ตรี มาตรา 296 จัตวา มาตรา 296 ฉ มาตรา 296 สัตต มาตรา 299 มาตรา 300 มาตรา 301 และมาตรา 302 โดยอนุโลม ทั้งนี้ ให้เจ้าพนักงานศาลเป็นผู้ส่งคำบังคับโดยผู้ซื้อมีหน้าที่จัดการนำส่ง และให้ถือว่าผู้ซื้อเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารที่อยู่อาศัยในอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาตามบทบัญญัติดังกล่าว” บทบัญญัติดังกล่าวมีเจตนารมณ์ที่จะให้การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลเป็นไปด้วยความรวดเร็วและเพื่อคุ้มครองสิทธิของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการบังคับคดีให้ได้รับสิทธิและสามารถใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินอันตกอยู่ในการบังคับคดีโดยไม่ถูกลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารขัดขวางหรือโต้แย้งการใช้สิทธิของผู้ซื้อทรัพย์โดยมิชอบ ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม โดยมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 22) พ.ศ.2548 โดยมาตรา 2 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป คือมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2548 เป็นต้นไป โดยไม่มีบทเฉพาะกาลกำหนดว่า บทบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติดังกล่าวมิให้ใช้บังคับแก่คดีที่ฟ้องก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับแต่อย่างใด ดังนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ตรี ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงผูกพันใช้บังคับแก่คู่ความและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการบังคับคดีทันที ดังนั้น เมื่อผู้ร้องเป็นผู้ซื้อทรัพย์มาจากการขายทอดตลาดและมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดพิพาท แม้จะเป็นการได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์พิพาทมาก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับก็ตาม แต่ผู้ร้องได้ยื่นคำขอให้ศาลออกคำบังคับให้จำเลยและบริวารออกไปจากห้องชุดพิพาทเมื่อพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้ว จึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ตรี มาใช้บังคับแก่กรณีตามคำขอของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับให้จำเลยและบริวารออกไปจากห้องชุดพิพาทได้ ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งให้ออกคำบังคับให้จำเลยและบริวารออกไปจากห้องชุดพิพาทนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลชั้นต้นไม่ได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมเกี่ยวกับเรื่องนี้ และศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้แก้ไข ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share