คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3957/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คู่ความคดีก่อนกับคดีนี้เป็นคู่ความเดียวกัน ประเด็นที่ได้วินิจฉัยเป็นอย่างเดียวกันว่า กันสาดหน้าต่างตึกแถวของจำเลยอยู่ในที่ดินของโจทก์หรือไม่ และกันสาดตามฟ้องคดีนี้ก็คือกันสาดเดิมตามฟ้องในคดีก่อน มิได้มีการต่อเติมหรือเปลี่ยนแปลงอันจะเป็นการละเมิดครั้งใหม่ เมื่อคดีก่อนศาลชั้นต้นวินิจฉัยตามคำท้าของคู่ความว่ากันสาดไม่ได้อยู่ในเขตที่ดินของโจทก์ พิพากษายกฟ้องคดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์ย่อมต้องผูกพันตามคำพิพากษาในคดีก่อนและจะมาฟ้องคดีนี้เพื่อขอให้ศาลกลับมาวินิจฉัยซ้ำในประเด็นเดียวกันอีกหาได้ไม่ ฟ้องคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำ
โจทก์อุทธรณ์และฎีกาขอให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานต่อไปมิได้ขอให้ชนะคดีตามคำฟ้อง โจทก์จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์และฎีกาอย่างคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้
การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์สูงกว่าอัตราขั้นสูงตามกฎหมายเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ แม้โจทก์จะมิได้ยกขึ้นฎีกา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 103430 เนื้อที่ 7 ตารางวาจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินข้างเคียงด้านทิศตะวันออกประมาณต้นปี 2531 จำเลยก่อสร้างตึกในที่ดินของจำเลยดังกล่าวต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2532 โจทก์พบว่าตึกของจำเลยมีกันสาดหน้าต่างรุกล้ำที่ดินของโจทก์กว้างประมาณ 1.20 เมตรยาวประมาณ 2 เมตรโจทก์แจ้งให้จำเลยรื้อถอนกันสาด จำเลยเพิกเฉย ทำให้โจทก์เสียหายไม่อาจสร้างอาคารในที่ดินของโจทก์ได้ต้องเสียเงินวางมัดจำค่าจ้างแรงงานและค่าอุปกรณ์การก่อสร้างรวม60,000 บาท และไม่อาจให้เช่าที่ดินดังกล่าวได้ ต้องขาดประโยชน์เดือนละ 6,000 บาทโจทก์ขอคิดค่าเสียหายก่อนวันฟ้องเพียง 3 เดือน เป็นเงิน 18,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนกันสาดและสิ่งปลูกสร้างของจำเลยส่วนที่รุกล้ำออกไปจากที่ดินของโจทก์ห้ามจำเลยและบริวารเข้าไปเกี่ยวข้อง ให้จำเลยชำระค่าเสียหาย 78,000 บาท และค่าเสียหายนับแต่วันฟ้องเดือนละ 6,000 บาท แก่โจทก์จนกว่าจะเลิกเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์

จำเลยให้การว่า ฟ้องคดีนี้เป็นซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1926/2532 ของศาลชั้นต้น โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะที่ดินตามฟ้องเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งพลเมืองใช้ร่วมกัน ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์และจำเลยแล้วพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 2,000 บาทแทนจำเลย

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 103430 ตำบลมะขามหย่ง อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ 7 ตารางวา เดิมเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 4จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินข้างเคียงทางทิศตะวันออกของที่ดินของโจทก์ เมื่อวันที่ 12มิถุนายน 2532 โจทก์ฟ้องจำเลยว่า จำเลยก่อสร้างกันสาดหน้าต่างรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์กว้างประมาณ 1 เมตร ยาวประมาณ 50 ถึง 60 เซนติเมตร ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนและให้ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 26,000 บาท จำเลยให้การต่อสู้คดี ชั้นพิจารณาโจทก์จำเลยไม่ติดใจสืบพยาน โดยตกลงท้ากันว่า ให้เจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัดที่ดินตรงกันสาดของตึกแถวในที่ดินของจำเลยตามภาพถ่ายท้ายหนังสือ หากเจ้าพนักงานที่ดินรายงานว่ากันสาดอยู่ในเขตที่ดินของโจทก์ จำเลยยอมแพ้คดีและยอมใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 10,000 บาท แต่ถ้าเจ้าพนักงานที่ดินรายงานว่ากันสาดดังกล่าวไม่ได้อยู่ในที่ดินของโจทก์ โจทก์ยอมแพ้คดี ต่อมาเจ้าพนักงานที่ดินได้รังวัดแล้วผลปรากฏว่ากันสาดไม่ได้อยู่ในเขตที่ดินของโจทก์ ศาลชั้นต้นจึงพิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้วตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1926/2532 ของศาลชั้นต้น คดีคงมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อนตามสำนวนคดีแพ่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวหรือไม่ในปัญหาข้อนี้เห็นว่า คู่ความคดีก่อนกับคดีนี้เป็นคู่ความเดียวกัน ประเด็นที่ได้วินิจฉัยในคดีก่อนกับประเด็นในคดีนี้ก็คือประเด็นเดียวกันว่า กันสาดหน้าต่างตึกแถวของจำเลยอยู่ในที่ดินของโจทก์หรือไม่ โดยในคดีก่อนศาลชั้นต้นวินิจฉัยตามคำท้าของคู่ความว่ากันสาดไม่ได้อยู่ในเขตที่ดินของโจทก์ คดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์ย่อมต้องผูกพันตามคำพิพากษาในคดีก่อนดังกล่าวและจะมาฟ้องคดีนี้เพื่อขอให้ศาลกลับมาวินิจฉัยซ้ำในประเด็นเดียวกันอีกหาได้ไม่ ข้ออ้างต่าง ๆ ตามฎีกาของโจทก์มิใช่ข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 และกันสาดตามฟ้องคดีนี้ก็คือกันสาดเดิมตามฟ้องในคดีก่อนมิได้มีการต่อเติมหรือเปลี่ยนแปลงอันจะเป็นการละเมิดครั้งใหม่ตามที่โจทก์อ้างในฎีกา ฟ้องคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน ดังที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น แต่โจทก์อุทธรณ์และฎีกาขอให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานต่อไป มิได้ขอให้ชนะคดีตามคำฟ้องโจทก์จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์และฎีกาอย่างคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้คือชั้นศาลละ 200 บาท ซึ่งต้องคืนค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์และฎีกาส่วนที่เกินมาให้แก่โจทก์ และเมื่อเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์แล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนจำเลยเป็นเงิน 2,000 บาท จึงสูงกว่าอัตราขั้นสูงตามกฎหมายซึ่งกำหนดไว้เพียง 1,500 บาทปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้แม้โจทก์จะมิได้ยกขึ้นฎีกา

พิพากษายืน แต่ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 1,500 บาท แทนจำเลยและให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 1,500 บาท แทนจำเลย คืนค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์และฎีกาส่วนที่เกินกว่าชั้นศาลละ 200 บาท แก่โจทก์”

Share