แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประกาศคณะกรรมการประกันสังคม ฯ พ.ศ. 2534มีข้อจำกัดเกี่ยวกับจำนวนครั้งในกรณีฉุกเฉินแต่ไม่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับระยะเวลาการรักษาพยาบาล ส่วนระเบียบของโจทก์ไม่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับจำนวนครั้ง แต่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับระยะเวลาการรักษาพยาบาล เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้วถือได้ว่าสวัสดิการเกี่ยวกับระยะเวลาที่จ่ายค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์จัดให้ อยู่ในระดับเดียวกัน ประโยชน์ทดแทนตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 สมควรได้ 0 คะแนน เมื่อรวมคะแนนกับอีกแปดหัวข้อซึ่งมีคะแนนรวมเท่ากับ 0 คิดเป็นคะแนนรวมทั้งสิ้นเท่ากับ 0 จึงต้องถือว่าสวัสดิการที่โจทก์จัดให้พนักงานอยู่ในระดับเดียวกับประโยชน์ทดแทนตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 โจทก์จึงไม่ได้รับการลดส่วนอัตราเงินสมทบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ รส ๐๗๐๔/๑๑๓๕ ฉบับลงวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ ๑/๒๕๔๓ ฉบับลงวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๔๓
จำเลยทั้งสองให้การว่า เดิมโจทก์ได้รับการลดส่วนอัตราเงินสมทบในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย แต่ต่อมาในปี ๒๕๔๒ โจทก์ไม่ได้รับการลดส่วนอัตราเงินสมทบอีกต่อไป และจำเลยที่ ๑ ได้ขยายประโยชน์ทดแทนในเรื่องเจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตรและตาย อีกทั้งตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ มาตรา ๕๕ บัญญัติให้การขอลดส่วนอัตราเงินสมทบและการพิจารณาหักส่วนลดอัตราเงินสมทบให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด ซึ่งตามประกาศคณะกรรมการประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๔ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการขอลดส่วนและการพิจารณาหักส่วนลดอัตราเงินสมทบที่รัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้างจะต้องส่งเข้ากองทุนประกันสังคมโดยให้พิจารณาเปรียบเทียบระหว่างสวัสดิการที่นายจ้างจัดให้แก่ลูกจ้างกับประโยชน์ทดแทนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ โดยให้คะแนน ๓ ระดับดังนี้ คะแนน ๐ หมายถึงสวัสดิการที่นายจ้างจัดให้อยู่ในระดับเดียวกับประโยชน์ทดแทน คะแนน -๑ หมายถึงสวัสดิการที่นายจ้างจัดให้อยู่ในระดับต่ำกว่าประโยชน์ทดแทน และคะแนน +๑ หมายถึงสวัสดิการที่นายจ้างจัดให้อยู่ในระดับสูงกว่าประโยชน์ทดแทน ผลลัพธ์การให้คะแนนถ้าได้คะแนน ๐ และ -๑ หมายถึงนายจ้างไม่ได้รับการลดส่วนอัตราเงินสมทบ ถ้าได้คะแนน +๑ หมายถึงนายจ้างได้รับการลดส่วนอัตราเงินสมทบจากการพิจารณาสวัสดิการของโจทก์เปรียบเทียบกับประโยชน์ทดแทนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ แล้ว ในเรื่องจำนวนเงินค่ารักษาพยาบาลได้คะแนน -๑ เรื่องระยะเวลาที่จ่ายค่ารักษาพยาบาลได้คะแนน ๐ เรื่องขอบข่ายการให้ความคุ้มครองได้คะแนน +๑ เรื่องการครอบคลุมถึงโรคเรื้อรังได้คะแนน ๐ เรื่องการยกเว้นโรคที่เป็นอยู่ก่อนได้คะแนน -๑ เรื่องวิธีการจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้คะแนน ๐ เรื่องระยะเวลารอการมีสิทธิได้คะแนน +๑ เรื่องผู้จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลได้คะแนน +๑ และเรื่องเงินทดแทนการขาดรายได้ได้คะแนน -๑ เมื่อรวมคะแนนทั้งหมดโจทก์ได้คะแนนเท่ากับ ๐ คือมีมาตรฐานเท่ากับจำเลยที่ ๑ จึงถือว่าสวัสดิการที่โจทก์จัดให้แก่พนักงานไม่สูงกว่าประโยชน์ทดแทนของจำเลยที่ ๑ โจทก์จึงไม่ได้รับลดส่วนอัตราเงินสมทบในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย คำสั่งของจำเลยที่ ๒ และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์จึงชอบด้วยกฎหมาย อนึ่ง จำเลยที่ ๒ มิได้เป็นคณะกรรมการอุทธรณ์และมิได้กระทำการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๒ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๒ ที่ รส ๐๗๐๔/๑๑๓๕ ฉบับลงวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ ๑/๒๕๔๓ ฉบับลงวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๔๓ และให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๑
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยแล้ว เห็นว่า ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ ๑ ไปแล้ว อุทธรณ์เฉพาะของจำเลยที่ ๑ จึงไม่เป็นการโต้แย้งคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๓ ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ ข้อ ๒.๑ ว่า มีเหตุเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๒ ที่ รส ๐๗๐๔/๑๑๓๕ ฉบับลงวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ ๑/๒๕๔๓ ฉบับลงวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๔๓ ตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางหรือไม่ ปรากฏว่า ตามประกาศคณะกรรมการประกันสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการลดส่วนอัตราเงินสมทบเกี่ยวกับประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีคลอดบุตร และกรณีตาย พ.ศ. ๒๕๓๔ ตามเอกสารหมาย ล.๖ กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอลดส่วนและการพิจารณาหักส่วนลดอัตราเงินสมทบที่รัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้างจะต้องส่งเข้ากองทุนประกันสังคมโดยให้พิจารณาเปรียบเทียบระหว่างสวัสดิการที่นายจ้างจัดให้แก่ลูกจ้างกับประโยชน์ทดแทนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ โดยให้คะแนน ๓ ระดับ คือ คะแนน ๐ หมายถึงสวัสดิการที่นายจ้างจัดให้อยู่ในระดับเดียวกับประโยชน์ทดแทน คะแนน -๑ หมายถึงสวัสดิการที่นายจ้างจัดให้อยู่ในระดับต่ำกว่าประโยชน์ทดแทน และคะแนน +๑ หมายถึงสวัสดิการที่นายจ้างจัดให้อยู่ในระดับสูงกว่าประโยชน์ทดแทน ผลลัพธ์การให้คะแนนถ้าได้คะแนน ๐ และ -๑ หมายถึงนายจ้างไม่ได้รับการลดส่วนอัตราเงินสมทบ ถ้าได้คะแนน +๑ หมายถึงนายจ้างได้รับการลดส่วนอัตราเงินสมทบ และตามประกาศคณะกรรมการประกันสังคมดังกล่าวได้ระบุเกี่ยวกับหลักเกณฑ์หรือปัจจัยที่ใช้พิจารณาให้คะแนนในเรื่องสวัสดิการกรณีเจ็บป่วย แบ่งเป็น ๙ หัวข้อ คือ จำนวนเงินค่ารักษาพยาบาล ระยะเวลาที่จ่ายค่ารักษาพยาบาล ขอบข่ายการให้ความคุ้มครอง การครอบคลุมถึงโรคเรื้อรัง การยกเว้นโรคที่เป็นอยู่ก่อน วิธีการจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล ระยะเวลารอการมีสิทธิ ผู้จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล และเงินทดแทนการขาดรายได้ ศาลแรงงานกลางพิจารณาตามหลักเกณฑ์การให้คะแนนในการลดส่วนอัตราเงินสมทบตามประกาศของจำเลยที่ ๑ ทุกหัวข้อแล้ว ปรากฏว่าใน ๘ หัวข้อ โจทก์ได้คะแนนรวมเท่ากับ ๐ คงมีปัญหาอีกเพียง ๑ หัวข้อ คือ ระยะเวลาที่จ่ายค่ารักษาพยาบาล ตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ ว่า โจทก์สมควรได้คะแนนในหัวข้อนี้เพียงใด เห็นว่า ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ตามระเบียบของโจทก์พนักงานสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐและโรงพยาบาลเอกชนได้โดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง ส่วนตามประกาศของจำเลยที่ ๑ แม้ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลตามสิทธิได้โดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง และไม่จำกัดจำนวนเงินค่ารักษาพยาบาล แต่ในกรณีฉุกเฉินและผู้ประกันตนไม่สามารถไปรับบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลที่สำนักงานประกันสังคมกำหนดได้ สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้เพียงระยะเวลา ๗๒ ชั่วโมง ปีละไม่เกิน ๒ ครั้ง และในกรณีอุบัติเหตุแม้จะสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง แต่ก็เบิกได้เพียงระยะเวลา ๗๒ ชั่วโมง ตามประกาศสำนักงานประกันสังคม เอกสารหมาย ล.๓ ข้อ ๔.๑ และ ๔.๒ ซึ่งการมีข้อจำกัดเกี่ยวกับจำนวนครั้งและระยะเวลาการรักษาพยาบาลของผู้ประกันตนดังกล่าว แสดงว่าสวัสดิการเกี่ยวกับระยะเวลาที่จ่ายค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์กำหนดอยู่ในระดับสูงกว่าประโยชน์ทดแทนตามประกาศของจำเลยที่ ๑ นั้น ปรากฏว่าตามประกาศฉบับเดียวกัน ข้อ ๖ ได้กำหนดผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการให้บริการทางการแพทย์ของสถานพยาบาลอื่นต่อผู้ประกันตนไว้ว่า ให้สถานพยาบาลที่กำหนดไว้ในบัตรรับรองสิทธิเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการให้บริการทางการแพทย์ของสถานพยาบาลอื่นที่ทำการรักษาผู้ประกันตนไว้ ซึ่งเป็นการรองรับค่าใช้จ่ายของผู้ประกันตนจาก ข้อ ๔.๑ และ ๔.๒ โดยไม่มีการจำกัดจำนวนครั้งและระยะเวลาการรักษาพยาบาลในกรณีอุบัติเหตุ แม้จะมีการจำกัดจำนวนครั้งคือปีละไม่เกิน ๒ ครั้ง ในกรณีผู้ประกันตนเข้ารับบริการทางการแพทย์ของสถานพยาบาลอื่นเนื่องจากเหตุฉุกเฉินตาม ข้อ ๔.๑ ซึ่งไม่ได้รับการยกเว้นตามข้อ ๖ ของประกาศดังกล่าวให้สถานพยาบาลที่กำหนดในบัตรรับรองสิทธิเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายของการรักษาพยาบาลที่เกินกว่าปีละ ๒ ครั้ง ไว้ด้วยก็ตาม แต่ตามระเบียบของโจทก์ เอกสารหมาย จ.๒ ชุดที่ ๓ ข้อ ๑๐ ก็ระบุว่าให้เบิกค่ารักษาพยาบาลตามที่กำหนดไว้ได้สำหรับระยะเวลาภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่เข้ารับการรักษาพยาบาล ในกรณีที่เข้ารับการรักษาพยาบาลเกิน ๓๐ วัน ให้เบิกได้ครึ่งหนึ่งของจำนวนที่ได้จ่ายไปจริง แต่ต้องไม่เกินวันละ ๑๐๐ บาท ในกรณีที่เข้ารับการรักษาพยาบาลหลายครั้ง แต่ละครั้งในระยะเวลาห่างกันไม่เกิน ๑๕ วัน ให้นับระยะเวลาเข้ารับการรักษาพยาบาลครั้งหลังติดต่อกับการเข้ารับการรักษาพยาบาลในครั้งก่อน ซึ่งตามประกาศสำนักงานประกันสังคมมิได้มีข้อจำกัดดังกล่าวแต่อย่างใด จึงเห็นได้ว่าประกาศสำนักงานประกันสังคมมีข้อจำกัดเกี่ยวกับจำนวนครั้งในกรณีฉุกเฉินแต่ไม่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับระยะเวลาการรักษาพยาบาล ส่วนระเบียบของโจทก์ไม่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับจำนวนครั้ง แต่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับระยะเวลาการรักษาพยาบาล เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้วถือได้ว่าสวัสดิการเกี่ยวกับระยะเวลาที่จ่ายค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์จัดให้อยู่ในระดับเดียวกับประโยชน์ทดแทนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ สมควรได้คะแนน ๐ เมื่อรวมคะแนนกับอีก ๘ หัวข้อซึ่งมีคะแนนรวมเท่ากับ ๐ ดังกล่าวข้างต้นแล้ว คิดเป็นคะแนนรวมทั้งสิ้นเท่ากับ ๐ จึงต้องถือว่าสวัสดิการที่โจทก์จัดให้พนักงานอยู่ในระดับเดียวกับประโยชน์ทดแทนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ โจทก์จึงไม่ได้รับการลดส่วนอัตราเงินสมทบ คำสั่งของจำเลยที่ ๒ ที่ รส ๐๗๐๔/๑๑๓๕ ฉบับลงวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ ที่ ๑/๒๕๔๓ ฉบับลงวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๔๓ ชอบแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลาง อุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ ข้อนี้ฟังขึ้น กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยข้ออื่นของจำเลยที่ ๒ ที่ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๑ หรือไม่ต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องเสียทั้งหมด.