คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6644/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 326 และ 328 เป็นความผิดอันยอมความได้ตาม ป.อ. มาตรา 333 พนักงานสอบสวนจะทำการสอบสวนได้ต่อเมื่อมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง แต่ข้อความในรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน ระบุแต่เพียงว่าผู้เสียหายทั้งสามมาแจ้งความไว้เป็นหลักฐานเพื่อจะได้นำเสนอผู้บังคับบัญชาระดับสูงเพื่อพิจารณาต่อไป จึงมิใช่เป็นการมอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามกฎหมาย ไม่เป็นคำร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) เพราะขณะแจ้งยังมิได้มีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษการสอบสวนความผิดฐานนี้ต่อมาภายหลังจึงเป็นการไม่ชอบ พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในฐานความผิดดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91, 326, 328
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 จำคุก 2 เดือน และปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ผู้เสียหายทั้งสามรับราชการครูโรงเรียนอนุบาลป่าแดด ตำบลป่าแดด อำเภอป่าแดด จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2544 ชาวบ้านตำบลป่าแดดนำใบปลิว ซึ่งลงวันที่ 27 มีนาคม 2544 ไปให้ผู้เสียหายทั้งสามอ่าน โดยในเอกสารดังกล่าวมีข้อความเกี่ยวกับผู้เสียหายทั้งสามว่า ผู้เสียหายที่ 1 ชอบมาโรงเรียนสายและละทิ้งเด็กโดยเอาเวลามาดูแลกิจการอู่ซ่อมรถเป็นประจำทุกวัน เด็กจึงมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ต่ำมาก ผู้เสียหายที่ 2 ชอบละทิ้งเด็กเป็นประจำไปทำธุระส่วนตัวต่างอำเภอและต่างจังหวัดเป็นประจำ และจะไปฝังเข็มเกือบทุกวัน ต้องเสียเวลาเป็นค่อนวันที่ทำการ ทำให้เด็กเสียโอกาสในการเรียน และผู้เสียหายที่ 3 ชอบใช้เด็กออกนอกบริเวณโรงเรียนในเวลาราชการเพื่อไปทำธุระที่บ้านให้ตัวเอง ซึ่งทำให้เด็กเสียโอกาสในการเรียนในชั่วโมงนั้นๆ โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของเด็ก ผู้เสียหายทั้งสามเชื่อว่าจำเลยเป็นคนทำใบปลิวดังกล่าวและนำไปให้นางสุจินตนา ณ ลำปาง อ่าน พร้อมทั้งบอกให้นางสุจินตนานำไปล่าลายมือชื่อชาวบ้านในหมู่ที่ 11 ตำบลป่าแดด ให้ได้มากที่สุด ต่อมาวันที่ 5 เมษายน 2544 ผู้เสียหายทั้งสามไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอป่าแดด จังหวัดเชียงราย ตามรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานเอกสารหมาย ล.1 และโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2544 เห็นว่า ความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และมาตรา 328 เป็นความผิดอันยอมความได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 333 พนักงานสอบสวนจะทำการสอบสวนได้ต่อเมื่อมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 121 วรรคสอง แต่ปรากฏจากเอกสารหมาย ล.1 ให้หน้าแรกสรุปความได้ว่า ผู้เสียหายทั้งสามรวมทั้งบุคคลอื่นอีก 7 คน ไปพบพนักงานสอบสวนเพื่อแจ้งไว้เป็นหลักฐานว่าเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2544 เวลาประมาณ 17 นาฬิกา จำเลยไปหานางสุจินตนาและขอร้องให้นางสุจินตนาไปขอล่าลายมือชื่อชาวบ้านให้ได้มากที่สุดเพื่อเป็นหลักฐานร่วมกันขับไล่ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลป่าแดดและคณะครูซึ่งมีผู้เสียหายทั้งสามรวมอยู่ด้วยให้ย้ายไปที่อื่นโดยบอกว่าคณะครูดังกล่าวมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม และผู้เสียหายทั้งสามได้นำเอกสารเป็นบันทึกข้อความลงวันที่ 27 มีนาคม 2544 เรื่อง ขอให้โยกย้ายครูที่ประพฤติตัวไม่เหมาะสมมามอบให้พนักงานสอบสวนตรวจสอบด้วย และในหน้าที่สองระบุว่าจึงมาแจ้งไว้เป็นหลักฐานเพื่อจะได้นำเสนอผู้บังคับบัญชาระดับสูงพิจารณาต่อไป ประกอบกับพันตำรวจโทสุรชน นรพิมาน พนักงานสอบสวนพยานโจทก์เบิกความว่าในตอนแรกผู้เสียหายทั้งสามแจ้งความไว้เป็นหลักฐานยังไม่มีความประสงค์จะดำเนินคดี ต่อมาวันที่ 10 พฤษภาคม 2544 ผู้เสียหายทั้งสามมาร้องทุกข์ขอให้ดำเนินคดีแก่จำเลย พร้อมกับมอบใบปลิวไว้เป็นหลักฐานพยานจึงทำบัญชีของกลางไว้ ตามบัญชีของกลางคดีอาญาเอกสารหมาย จ.2 แต่ไม่ปรากฏว่ามีการบันทึกการร้องทุกข์ไว้เป็นหลักฐานเป็นหนังสืออีกครั้งหนึ่งแต่ประการใด เพียงแต่ทำบัญชีของกลางตามเอกสารหมาย จ.2 เท่านั้น นอกจากนี้ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยยืนยันว่า หลักฐานที่ไปแจ้งความปรากฏตามรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานเอกสารหมาย ล.1 สำหรับเหตุการณ์ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2544 ผู้เสียหายที่ 1 เบิกความเพียงว่า พนักงานสอบสวนเรียกไปให้ปากคำ ส่วนผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 มิได้เบิกความถึงเหตุการณ์ในวันดังกล่าว กรณีเชื่อได้ว่าผู้เสียหายทั้งสามไปแจ้งความเพียงครั้งเดียวเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2544 ตามเอกสารหมาย ล.1 เท่านั้น เมื่อข้อความในเอกสารหมาย ล.1 ระบุแต่เพียงว่าผู้เสียหายทั้งสามมาแจ้งไว้เป็นหลักฐานเพื่อจะได้นำเสนอผู้บังคับบัญชาระดับสูงพิจารณาต่อไป จึงมิใช่เป็นการมอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามกฎหมายไม่เป็นคำร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (7) เพราะขณะแจ้งยังมิได้มีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ การสอบสวนความผิดฐานนี้ต่อมาภายหลังจึงเป็นการไม่ชอบ พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในฐานความผิดดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 และปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นอุทธรณ์และฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นอ้างได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยต่อไป”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share