คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6785/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ไม่ได้ส่งสินค้าออกตามที่สำแดงไว้ในใบขนสินค้าออกทั้งสองฉบับ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรในรูปบัตรภาษีสำหรับใบขนสินค้าขาออกทั้งสองฉบับดังกล่าว เมื่อบัตรภาษีดังกล่าวจำเลยที่ 2 นำไปใช้ชำระภาษีอากรแล้ว จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ และจำเลยที่ 2 ผู้รับโอนบัตรภาษีซึ่งขอรับโอนบัตรภาษีโดยให้สัญญาต่อโจทก์ว่าถ้าหากเกิดการทุจริตในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรและเกิดความเสียหายแก่โจทก์ไม่ว่ากรณีใดๆ จำเลยที่ 2 ยอมรับผิดต่อโจทก์ทุกประการโดยไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรในรูปบัตรภาษี เนื่องจากมิได้ส่งสินค้าออกตามที่สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาออกทั้งสองฉบับดังกล่าว ซึ่งเป็นกรณีเกิดการทุจริตในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรและเกิดความเสียหายแก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 คืนเงินตามมูลค่าบัตรภาษีให้แก่โจทก์ เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญา มิได้ฟ้องในลักษณะเรียกคืนลาภมิควรได้ ฉะนั้น ไม่ว่าจำเลยที่ 2 จะรับโอนบัตรภาษีไว้โดยสุจริตหรือไม่และมีบัตรภาษีเหลืออยู่หรือไม่ จำเลยที่ 2 ก็ต้องรับผิดตามสัญญา แต่สัญญามิได้กำหนดเวลาคืนเงินไว้ จึงถือว่าจำเลยที่ 2 ผิดนัดต้องชำระดอกเบี้ยต่อเมื่อโจทก์ทวงถามให้จำเลยที่ 2 คืนเงิน แล้วจำเลยที่ 2 ไม่คืนให้ตามเวลาที่โจทก์กำหนดตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคแรก และ 204 วรรคแรก ประกอบมาตรา 224 วรรคแรก โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่จำเลยที่ 2 รับบัตรภาษีจากโจทก์
ตามป.พ.พ. และ พ.ร.บ.ชดเชยค่าภาษีอากรสินค้าส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักรฯ มิได้บัญญัติเรื่องอายุความในกรณีสิทธิเรียกร้องตามสัญญาดังกล่าวนี้ไว้โดยเฉพาะ สิทธิเรียกร้องของโจทก์ต่อจำเลยที่ 2 จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความการเรียกคืนลาภมิควรได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือชดใช้เงินชดเชยค่าภาษีอากรจำนวน 842,611.06 บาท พร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องจำนวน 620,862.47 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 842,611.06 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินชดเชยค่าภาษีอากรจำนวน 348,594.37 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว โดยให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2538 ส่วนจำเลยที่ 2 ให้ชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 13 มีนาคม 2547 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 20 พฤษภาคม 2548) ต้องไม่เกิน 258,007.58 บาท คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลโดยเป็นกรมในรัฐบาล สังกัดกระทรวงการคลัง มีอำนาจหน้าที่จัดเก็บภาษีอากรตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 และมีหน้าที่จ่ายเงินชดเชยค่าภาษีอากรให้แก่ผู้ส่งสินค้าที่ผลิตในราชอาณาจักรออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ตามพระราชบัญญัติชดเชยค่าภาษีอากรสินค้าส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักร พ.ศ.2524 โจทก์มอบอำนาจให้นายสุริยา สุขอนันต์ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายเป็นผู้ดำเนินคดีแทน จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วน จำกัด จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2538 และระหว่างวันที่ 23 ถึง 26 มิถุนายน 2538 จำเลยที่ 1 นำใบขนสินค้าขาออกจำนวน 7 ฉบับ ไปยื่นเพื่อขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรรวม 962,609.29 บาท และขอโอนสิทธิการรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรดังกล่าวในรูปบัตรภาษีให้แก่จำเลยที่ 2 โจทก์จ่ายเงินชดเชยค่าภาษีอากรในรูปบัตรภาษีให้แก่จำเลยที่ 2 รับไปเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2538 จำเลยที่ 2 นำบัตรภาษีไปใช้ชำระภาษีอากรหมดแล้ว ต่อมาโจทก์เห็นว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรจำนวน 842,611.06 บาท จึงฟ้องเรียกคืนเป็นคดีนี้
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยที่ 2 ในประการแรกเกี่ยวกับการส่งสินค้าออกอันจะมีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรในรูปบัตรภาษีนั้น เห็นว่า ตามบัญชีสินค้าสำหรับเรือ (Manifest) เอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 203, 204, 213 และ 214 ปรากฏว่าสินค้าที่บรรจุในตู้คอนเทนเนอร์หมายเลข TSAU 9125675 และ KLTU 1042922 ตามที่จำเลยที่ 1 สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาออกจำนวน 2 ฉบับ เลขที่ 0223 2117 0694 6 และเลขที่ 0223 2117 0697 9 เป็นสินค้าของห้างหุ้นส่วนจำกัดอินโนเวท รูทติง (INNOVATE ROUTING) ไม่ใช่ของจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ส่งสินค้าออกตามที่สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาออกทั้งสองฉบับดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรในรูปบัตรภาษีสำหรับใบขนสินค้าขาออกทั้งสองฉบับซึ่งมีมูลค่าตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 187 เป็นเงินรวม 348,594.37 บาท เมื่อบัตรภาษีดังกล่าวจำเลยที่ 2 นำไปใช้ชำระภาษีอากรแล้ว จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ และจำเลยที่ 2 ผู้รับโอนบัตรภาษีซึ่งขอรับโอนบัตรภาษีโดยให้สัญญาต่อโจทก์ว่าถ้าหากเกิดการทุจริตในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรและเกิดความเสียหายแก่โจทก์ไม่ว่ากรณีใดๆ จำเลยที่ 2 ยอมรับผิดต่อโจทก์ทุกประการโดยไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรในรูปบัตรภาษี เนื่องจากมิได้ส่งสินค้าออกตามที่สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาออกทั้งสองฉบับดังกล่าว ซึ่งเป็นกรณีเกิดการทุจริตในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรและเกิดความเสียหายแก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดตามที่ให้สัญญาแก่โจทก์โดยต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 คืนเงินตามมูลค่าบัตรภาษีจำนวน 348,594.37 บาท ให้แก่โจทก์ เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญา มิได้ฟ้องในลักษณะเรียกคืนลาภมิควรได้ ฉะนั้น ไม่ว่าจำเลยที่ 2 จะรับโอนบัตรภาษีไว้โดยสุจริตหรือไม่และมีบัตรภาษีเหลืออยู่หรือไม่ จำเลยที่ 2 ก็ต้องรับผิดตามสัญญาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น…
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อต่อไปมีว่า โจทก์มีสิทธิเรียกอกเบี้ยตามมูลค่าบัตรภาษี 348,594.37 บาท จากจำเลยที่ 2 ตั้งแต่เมื่อใด เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดคืนเงินตามสัญญาที่ให้ไว้แก่โจทก์ดังวินิจฉัยแล้วแต่สัญญาดังกล่าวมิได้กำหนดเวลาคืนเงินไว้ จึงถือว่าจำเลยที่ 2 ผิดนัดต้องชำระดอกเบี้ยต่อเมื่อโจทก์ทวงถามให้จำเลยที่ 2 คืนเงิน แล้วจำเลยที่ 2 ไม่คืนให้ตามเวลาที่โจทก์กำหนด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 203 วรรคแรก และ 204 วรรคแรก ประกอบมาตรา 224 วรรคแรก โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่จำเลยที่ 2 รับบัตรภาษีจากโจทก์แต่อย่างใด
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อต่อไปมีว่า สิทธิเรียกร้องตามฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาขอรับโอนบัตรภาษีดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว แต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และพระราชบัญญัติชดเชยค่าภาษีอากรสินค้าส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักร พ.ศ.2542 มิได้บัญญัติเรื่องอายุความในกรณีสิทธิเรียกร้องตามสัญญาดังกล่าวนี้ไว้โดยเฉพาะ สิทธิเรียกร้องของโจทก์ต่อจำเลยที่ 2 จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 สิทธิเรียกร้องตามฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 จึงไม่ขาดอายุความการเรียกคืนลาภมิควรได้ดังที่จำเลยที่ 2 ให้การยกขึ้นต่อสู้ไว้แต่อย่างใด อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกันที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน

Share