แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
สิทธิบัตรที่จะได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ ต้องเป็นสิทธิบัตรที่ได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรต่ออธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์พร้อมทั้งเปิดเผยรายละเอียดการประดิษฐ์หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ เมื่อผ่านการตรวจสอบว่ามีลักษณะครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว อธิบดีจึงจะออกสิทธิบัตรให้ผู้ขอตามมตรา 33 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว สิทธิบัตรที่ออกโดยอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าวจึงจะได้รับความคุ้มครองในราชอาณาจักรไทยตามทฤษฎีสากลในเรื่องหลักดินแดนซึ่งผู้ทรงสิทธิบัตรจะบังคับใช้สิทธิของตนได้เฉพาะแต่ภายในเขตอำนาจอธิปไตยของประเทศที่ออกสิทธิบัตรนั้นเท่านั้นไม่อาจบังคับใช้สิทธิของตนต่อการกระทำละเมิดเกี่ยวกับสิทธิบัตรที่เกิดขึ้นนอกอาณาเขตของประเทศนั้นได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณกลางเดือนตุลาคม 2543 ถึงวันที่ 13 เมษายน 2544 วันเวลาใด ไม่ปรากฏชัด จำเลยทั้งเก้าร่วมกันละเมิดสิทธิบัตรแบบผลิตภัณฑ์ระบบกำแพงกันดินก้อนมาตรฐาน พิซ่า ทู (PISA II) ที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิตามสิทธิบัตรจากบริษัท จ๊ากน่า จำกัด ด้วยการผลิตผลิตภัณฑ์กำแพงกันดินก้อนมาตรฐาน พิซ่า ทู เลียนแบบ หรือใช้แบบผลิตภัณฑ์โดยการใช้ ขาย มีไว้เพื่อขายเสนอขาย หรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ใช้แบบดังกล่าว เพื่อการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ เหตุเกิดที่ตำบลเทพกษัตรี อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 3, 38, 56, 65, 85, 88 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูลเฉพาะจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้ประทับฟ้อง ส่วนจำเลยอื่นให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การปฏิเสธ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่า โจทก์เป็นผู้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิในสิทธิบัตรแบบผลิตภัณฑ์ระบบกำแพงกันดินก้อนมาตรฐาน พิซ่า ทู โดยมีสิทธิผลิต ใช้ ขาย มีไว้เพื่อขายซึ่งแบบผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรแต่เพียงผู้เดียวในภาคใต้ รวมทั้งในจังหวัดภูเก็ตเป็นระยะเวลา 5 ปี และภายในระยะเวลาดังกล่าว มีการผลิตแบบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวโดยใช้เครื่องจักรในโรงงานผลิตอิฐบล็อกชั่วคราวของจำเลยที่ 1 ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลเทพกษัตรี อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต คดีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดฐานละเมิดสิทธิบัตรตามฟ้องหรือไม่ ซึ่งมีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่า โจทก์เป็นผู้เสียหาย และมีอำนาจฟ้องคดี หรือไม่ เห็นว่า สิทธิบัตรที่จะได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 ต้องเป็นสิทธิบัตรที่ได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรต่ออธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ พร้อมทั้งเปิดเผยรายละเอียดการประดิษฐ์หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ เมื่อผ่านการตรวจสอบว่ามีลักษณะครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว อธิบดีจึงจะออกสิทธิบัตรให้ผู้ขอ ตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวสิทธิบัตรที่ออกโดยอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าวจึงจะได้รับความคุ้มครองในราชอาณาจักรไทย ตามทฤษฎีสากลในเรื่องหลักดินแดนซึ่งผู้ทรงสิทธิบัตรจะบังคับใช้สิทธิของตนได้เฉพาะแต่ภายในเขตอำนาจอธิปไตยของประเทศที่ออกสิทธิบัตรนั้นเท่านั้น ไม่อาจบังคับใช้สิทธิของตนต่อการกระทำละเมิดเกี่ยวกับสิทธิบัตรที่เกิดขึ้นนอกอาณาเขตของประเทศนั้นได้ คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความตอบถามค้านของนายชริน ธำรงเกียรติกุล พยานโจทก์ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ว่าสิทธิบัตรแบบผลิตภัณฑ์ระบบกำแพงกันดินก้อนมาตรฐาน พิซ่า ทู ได้รับสิทธิบัตรในประเทศสหรัฐอเมริกาตามทะเบียนเลขที่ Des. 403, 437 เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2541 ตามเอกสารรับรองสิทธิบัตร และคำแปลเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 แต่ไม่ได้มีการยื่นขอจดทะเบียนขอรับสิทธิบัตรในประเทศไทย ดังนั้น สิทธิบัตรดังกล่าวย่อมได้รับความคุ้มครองให้ใช้บังคับได้เฉพาะภายในอาณาเขตประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นที่มีกฎหมายยอมรับบังคับให้ แต่จะไม่ได้รับความคุ้มครองในราชอาณาจักรไทย แม้โจทก์จะนำสืบว่าโจทก์เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิตามสิทธิบัตรดังกล่าวจากผู้ทรงสิทธิบัตรในประเทศสหรัฐอเมริกาให้มีสิทธิในการผลิต ใช้ ขาย มีไว้เพื่อขายเสนอขายผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรแต่เพียงผู้เดียวในภาคใต้ รวมทั้งในจังหวัดภูเก็ต โจทก์ก็ไม่ใช่ผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิตามสิทธิบัตรตามมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 ในอันที่จะมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในพื้นที่ดังกล่าวในราชอาณาจักรไทย เพราะผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิดังกล่าวต้องได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิจากผู้ทรงสิทธิบัตรที่ออกโดยอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเท่านั้น เมื่อความปรากฏว่าบริษัท จ๊ากน่า จำกัด ผู้อนุญาตไม่ใช่ผู้ทรงสิทธิบัตรตามกฎหมายไทยโจทก์จึงไม่ใช่ผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิตามกฎหมายไทยและไม่เป็นผู้เสียหายที่พึงจะได้รับความคุ้มครองสิทธิตามมาตรา 33, 63 ประกอบมาตรา 65 และไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามมาตรา 85 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน