คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6784/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 373 ความตกลงทำใว้ล่วงหน้าที่จะตกเป็นโมฆะจะต้องมีข้อความยกเว้นมิให้ลูกหนี้ต้องรับผิดเพื่อกลฉ้อฉลหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตน เมื่อสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เป็นสัญญาที่จำเลยที่ 2 ยินยอมรับผิดต่อโจทก์กรณีเกิดการทุจริตในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรของจำเลยที่ 1 และเกิดความเสียหายแก่โจทก์ไม่ว่ากรณีใดๆ จึงมิใช่สัญญาที่ยกเว้นให้โจทก์ไม่ต้องรับผิดเพื่อกลฉ้อฉลหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ สัญญาดังกล่าวจึงไม่ตกเป็นโมฆะ และเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรในรูปบัตรภาษี เนื่องจากกระทำการทุจริตในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรและเกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ผู้รับโอนบัตรภาษีจึงต้องรับผิดตามที่ให้สัญญาแก่โจทก์ไม่จำต้องนำบทบัญญัติ มาตรา 412 ถึง 418 แห่ง ป.พ.พ.ว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับโดยอนุโลม เพราะกรณีดังกล่าวเป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดตามสัญญาที่ให้ไว้แก่โจทก์โดยเฉพาะอันเป็นนิติกรรมแล้ว
ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ที่จะต้องรับผิดตามสัญญาในคำร้องขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษีนั้นไม่ปรากฏว่า ป.พ.พ. กับ พ.ร.บ.ชดเชยค่าภาษีอากรสินค้าส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักรฯ ได้มีบัญญัติอายุความกรณีสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่นนี้ไว้โดยเฉพาะ กรณีจึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 คืนบัตรภาษีจำนวน 349,219.84 บาท แก่โจทก์ ถ้าคืนไม่ได้ให้ใช้เงินตามมูลค่าบัตรภาษีและดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 610,848.45 บาท แก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามมูลค่าบัตรภาษีที่ต้องคืนให้โจทก์นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 คืนเงินชดเชยค่าภาษีอากรตามมูลค่าบัตรภาษีจำนวน 349,219.84 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 21 มกราคม 2548) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 2,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำวินิจฉัยของศาลภาษีอากรกลางซึ่งคู่ความมิได้อุทธรณ์คัดค้านว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลโดยเป็นกรมในรัฐบาลสังกัดกระทรวงการคลัง จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดมีนายอาคม ควนปิติอาภรณ์ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2537 จำเลยที่ 1 สำแดงข้อความเท็จลงในใบขนสินค้าขาออกรวม 3 ฉบับ ว่า จำเลยที่ 1 ส่งสินค้ารองเท้าสุภาพสตรี สุภาพบุรุษ และเสื้อผ้าที่ผลิตขึ้นในประเทศไทยออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศรวมมูลค่า 7,838,922.80 บาท ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 56, 68 และ 80 ต่อมาเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2538 จำเลยที่ 1 นำใบขนสินค้าขาออก (ฉบับมุมสีน้ำเงิน) ดังกล่าวไปยื่นคำขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าส่งออก และขอโอนสิทธิตามบัตรภาษีดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 ทำหนังสือคำขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษีให้ไว้ต่อโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 36 พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์จ่ายเงินชดเชยค่าภาษีอากรในรูปของบัตรภาษีให้จำเลยที่ 1 ในนามของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 นำบัตรภาษีไปชำระภาษีอากรแทนเงินสดแล้วเป็นเงิน 349,219.84 บาท ตามรายงานการตรวจสอบสถานะบัตรภาษีเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 96 ถึง 97
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อแรกของจำเลยที่ 2 มีว่า จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 คืนเงินตามมูลค่าบัตรภาษีตามฟ้องให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำร้องขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษีต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 36 ขอรับโอนบัตรภาษีตามคำขอของจำเลยที่ 1 โดยให้สัญญาว่าในกรณีเกิดการทุจริตในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรและเกิดความเสียหายแก่โจทก์ไม่ว่ากรณีใดๆ จำเลยที่ 2 ยินยอมรับผิดต่อโจทก์ทุกประการโดยไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งสัญญาดังกล่าวไม่ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 373 ตามที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ เพราะตามมาตรา 373 ดังกล่าวความตกลงทำไว้ล่วงหน้าที่จะตกเป็นโมฆะจะต้องมีข้อความยกเว้นมิให้ลูกหนี้ต้องรับผิดเพื่อกลฉ้อฉลหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตน แต่สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เป็นสัญญาที่จำเลยที่ 2 ยินยอมรับผิดต่อโจทก์กรณีเกิดการทุจริตในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรของจำเลยที่ 1 และเกิดความเสียหายแก่โจทก์ไม่ว่ากรณีใดๆ มิใช่สัญญาที่ยกเว้นให้โจทก์ไม่ต้องรับผิดเพื่อกลฉ้อฉลหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์แต่อย่างใด และเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรในรูปบัตรภาษี เนื่องจากมิได้ส่งสินค้าที่ผลิตในประเทศไทยออกไปจำหน่ายต่างประเทศตามที่สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาออกเป็นกรณีเกิดการทุจริตในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรและเกิดความเสียหายแกโจทก์ จำเลยที่ 2 ผู้รับโอนบัตรภาษีจึงต้องรับผิดตามที่ให้สัญญาแก่โจทก์ โดยต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 คืนบัตรภาษีให้แก่โจทก์ เมื่อบัตรภาษีถูกนำไปชำระภาษีอากรจนหมดแล้ว จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 คืนเงินตามมูลค่าบัตรภาษีตามฟ้องให้แก่โจทก์ ทั้งกรณีดังกล่าวก็ไม่จำต้องนำบทบัญญัติ มาตรา 412 ถึง 418 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับโดยอนุโลมตามที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ เพราะกรณีดังกล่าวเป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดตามสัญญาที่ให้ไว้แก่โจทก์โดยเฉพาะอันเป็นนิติกรรมแล้ว จำเลยที่ 2 จึงต้องผูกพันตามข้อสัญญาที่ให้แก่โจทก์ในการยื่นคำร้องขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษี ดังนั้น ไม่ว่าจำเลยที่ 2 จะรับโอนบัตรภาษีไว้โดยสุจริตหรือไม่จำเลยที่ 2 ก็ต้องรับผิดตามสัญญา
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อต่อไปของจำเลยที่ 2 มีว่า สิทธิเรียกร้องตามฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ขาดอายุความการเรียกคืนลาภมิควรได้หรือไม่ เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดตามสัญญาในคำร้องขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษีดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กับพระราชบัญญัติชดเชยค่าภาษีอากรสินค้าส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักร พ.ศ.2524 มิได้มีบัญญัติอายุความกรณีสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่นนี้ไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 มิใช่กรณีที่จะต้องใช้อายุความการเรียกคืนลาภมิควรได้ จึงไม่ถือว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความการเรียกคืนลาภมิควรได้ดังที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า จำเลยทั้งสองจะต้องร่วมกันชำระดอกเบี้ยตามมูลค่าของบัตรภาษีให้แก่โจทก์นับตั้งแต่เมื่อใด เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อโจทก์และโอนสิทธิตามบัตรภาษีมูลค่า 349,219.84 บาท ให้แก่จำเลยที่ 2 ดังนี้ จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนบัตรภาษีให้แก่โจทก์ตั้งแต่วันทำละเมิดคือวันที่จำเลยที่ 2 ได้รับบัตรภาษี วันที่ 24 มกราคม 2538 เป็นต้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 206 ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันฟ้องจึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร แต่ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันฟ้องนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย เพราะเมื่อจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดตามข้อสัญญาในคำร้องขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษีที่ให้แก่โจทก์แต่สัญญาดังกล่าวมิได้กำหนดเวลาการคืนเงินตามมูลค่าบัตรภาษีที่มีการนำไปใช้แล้ว จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ผิดนัดต่อเมื่อโจทก์ทวงถามให้จำเลยที่ 2 คืนเงินตามมูลค่าบัตรภาษีที่ได้ใช้ไปและจำเลยที่ 2 ไม่คืนให้โจทก์ตามเวลาที่โจทก์กำหนด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคหนึ่ง แต่ข้อเท็จจริงไม่ได้ความว่าโจทก์มีหนังสือทวงถามเมื่อใดและครบกำหนดเมื่อใด ที่ศาลภาษีอากรกลางถือว่าจำเลยที่ 2 ผิดนัดนับตั้งแต่วันฟ้องจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของมูลค่าบัตรภาษีจำนวน 349,219.84 บาท นับตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 2 ได้รับบัตรภาษีวันที่ 24 มกราคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (วันที่ 21 มกราคม 2548) ต้องไม่เกิน 261,628 บาท ตามที่โจทก์ขอ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง

Share