คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6039/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเพราะเหตุไม่สามารถจัดหาสถาบันการเงินมารับจดทะเบียนจำนองชุดได้ ส่วนจำเลยที่ 1 ให้การว่า ข้อตกลงในสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดเรื่องการขอกู้เงินจากสถาบันการเงิน เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 อำนวยความสะดวกและเป็นผู้ประสานงานระหว่างโจทก์กับสถาบันการเงินเท่านั้น สถาบันการเงินจะอนุมัติให้โจทก์กู้เงินหรือไม่ต้องเป็นไปตามระเบียบและเงื่อนไขของสถาบันการเงินนั้น ๆ ดังนี้ตามคำฟ้องและคำให้การจึงมีประเด็นข้อพิพาทเพียงว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดเพราะเหตุไม่จัดสถาบันการเงินให้โจทก์กู้มาชำระให้แก่จำเลยที่ 1 ในงวดสุดท้ายหรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยเลยไปถึงประเด็นที่ว่า จำเลยที่ 1 จะมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและริบเงินที่โจทก์ชำระทั้งหมดได้นั้น จำเลยที่ 1 จะต้องมีหนังสือแจ้งกำหนดเวลาให้โจทก์ชำระหนี้ไม่น้อยกว่า 7 วัน และการที่โจทก์บอกเลิกสัญญาและหลังจากโจทก์ฟ้องคดีนี้แล้ว จำเลยที่ 1 นำห้องชุดพิพาทไปประมูลขาย ถือว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงเลิกสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดโดยปริยาย จำเลยที่ 1 ต้องให้โจทก์กลับสู่ฐานะเดิมและต้องคืนเงินที่จำเลยที่ 1 รับไว้แก่โจทก์ คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นดังกล่าวถือว่าเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นที่โจทก์บรรยายฟ้องไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ถือได้ว่าไม่มีประเด็นที่ว่ากล่าวมาแล้วใน ศาลชั้นต้น แม้ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยแล้วพิพากษายืนก็ตาม ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน ๑,๕๕๙,๖๘๗ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี จากต้นเงิน ๑,๔๒๖,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะได้นำใช้คืนเสร็จ
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ตกลงเพียงเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าเพื่อที่จะติดต่อหาสถาบันการเงิน ให้ลูกค้าขอกู้ และนำเงินมาชำระเงินให้แก่จำเลยที่ ๑ แต่ไม่มีข้อตกลงระบุให้จำเลยที่ ๑ รับรองหรือประกันแก่ลูกค้าว่า การกู้เงินจากสถาบันการเงินจะต้องสำเร็จทั้งนี้การอนุมัติให้กู้เงินต้องเป็นไปตามระเบียบและเงื่อนไขของสถาบันการเงินนั้น ๆ เมื่อโจทก์ไม่สามารถขอกู้เงินจากสถาบันการเงินและนำเงินมาชำระให้แก่จำเลยที่ ๑ ตามสัญญาได้ กรณีจึงถือว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขาย จำเลยที่ ๑ จึงริบเงินที่โจทก์ชำระมาแล้วทั้งหมด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า ให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงินคืนแก่โจทก์จำนวน ๑,๔๒๖,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๐ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ ๑ ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ด้วย โดยกำหนดค่าทนายความ ๑๕,๐๐๐ บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๒ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยที่ ๒ ด้วย โดยกำหนด ค่า ทนายความ ๑๕,๐๐๐ บาท ให้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๒ ให้โจทก์ใช้ ค่า ฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยที่ ๒ ด้วย โดยกำหนดค่าทนายความให้ ๑๕,๐๐๐ บาท
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยที่ ๑ ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดโดย ชำระเงินจำนวนหนึ่งในวันทำสัญญา ส่วนที่เหลือแบ่งชำระเป็นงวด สำหรับงวดสุดท้ายที่โจทก์จะต้องชำระเงินส่วน ที่เหลือนั้น จำเลยที่ ๑ ได้ติดต่อธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เพื่อให้โจทก์กู้เงินมาชำระ แต่ธนาคารไม่อนุมัติให้โจทก์กู้ได้ จำเลยที่ ๑ จึงมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ชำระเงินงวดสุดท้ายและแจ้งนัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด โจทก์มิได้นำเงินมาชำระเงินงวดสุดท้ายและแจ้งนัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด โจทก์มิได้นำเงินมาชำระ จำเลยที่ ๑ จึงบอกเลิกสัญญาและริบเงินที่โจทก์ชำระมาทั้งหมด คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของ จำเลยที่ ๑ ว่า กรณีแรกการที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑ มีหนังสือถึงโจทก์กำหนดวันโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดและกำหนดให้ชำระเงินงวดสุดท้ายไม่ถึง ๗ วัน การบอกเลิกสัญญาของจำเลยที่ ๑ จึงไม่ชอบ ไม่ทำให้สัญญาจะซื้อจะขายเลิกกัน และอีกกรณีหนึ่ง การที่โจทก์บอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ ๑ แล้ว ต่อมาจำเลยที่ ๑ ได้นำห้องชุดไปประมูลขาย ถือว่าคู่สัญญาตกลงเลิกสัญญาจะซื้อจะขายโดยปริยายนั้นเป็นการวินิจฉัยนอกคำฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์บรรยายในคำฟ้องกล่าวถึงเหตุที่จำเลยที่ ๑ ผิดสัญญาจะซื้อจะขาย “…ในการชำระเงินงวดสุดท้าย หากผู้ซื้อจะมีความประสงค์จะขอกู้เงินจากสถาบันการเงินเพื่อนำเงินมาชำระโดยแจ้งความประสงค์เป็นลายลักษณ์อักษรต่อผู้จะขายในงวดการชำระเงินงวดที่ ๓๒ ผู้จะขายจะติดต่อสถาบันการเงินเพื่อให้ผู้จะซื้อไปขอกู้เงินมาชำระ แก่ผู้จะขาย…” แต่จำเลยที่ ๑ ผู้จะขายไม่สามารถจัดหาสถาบันการเงินมารับจดทะเบียนจำนองห้องชุดได้ ถือว่าจำเลยที่ ๑ ผิดสัญญา ส่วนจำเลยที่ ๑ ให้การว่า ให้การว่า ข้อตกลงในสัญญาจะซื้อขายห้องชุดในกรณีเรื่องการขอกู้เงินจาก สถาบันการเงินนั้น เป็นเรื่องที่จำเลยที่ ๑ อำนวยความสะดวกและเป็นผู้ประสานงานระหว่างโจทก์กับสถาบันการเงินเท่านั้น จำเลยที่ ๑ ไม่ได้รับรองหรือประกันกับโจทก์และลูกค้า ทั้งมีข้อสัญญาระบุว่า “หากสถาบันการเงินไม่อนุมัติ เงินกู้ด้วยเหตุใดก็ตาม ผู้จะซื้อจะยกเอาเหตุดังกล่าวมาปฏิเสธการชำระเงินงวดสุดท้ายไม่ได้ ดังนี้ตามคำฟ้องและคำให้การจึงมีประเด็นข้อพิพาทเพียงว่า จำเลยที่ ๑ ผิดสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดเพราะเหตุไม่จัดหาสถาบันการเงินให้โจทก์กู้มาชำระให้แก่จำเลยที่ ๑ ในงวดสุดท้ายหรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยที่ ๑ ไม่ได้ผิดสัญญาตามฟ้อง และคำวินิจฉัยยังรับฟังได้ว่าโจทก์ยังไม่ชำระเงินงวดสุดท้ายแก่จำเลยที่ ๑ และวินิจฉัยไปถึงประเด็นที่ว่าจำเลยที่ ๑ จะมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและริบเงินที่โจทก์ชำระทั้งหมดได้นั้น จำเลยที่ ๑ จะต้องมีหนังสือแจ้งกำหนดเวลาให้โจทก์ชำระหนี้ไม่น้อยกว่า ๗ วัน ตามสัญญาจะซื้อจะขายข้อ ๓ และเมื่อจำเลยที่ ๑ มีหนังสือกำหนดเวลาชำระหนี้ไปถึงโจทก์ไม่ถึง ๗ ไม่ทำให้สัญญาเลิกกัน และยังวินิจฉัยในประเด็นอื่นอีกว่า การที่โจทก์บอกเลิกสัญญาและหลังจากโจทก์ฟ้องคดีนี้แล้ว จำเลยที่ ๑ นำห้องชุดพิพาทไปประมูลขาย ถือว่าโจทก์และจำเลยที่ ๑ ตกลงเลิกสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด โดยปริยายแล้ว จำเลยที่ ๑ ต้องให้โจทก์กลับสู่ฐานะเดิมและต้องคืนเงินที่จำเลยที่ ๑ รับไว้แก่โจทก์ ถือว่าเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นที่โจทก์บรรยายฟ้องมาทั้งสิ้น คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ข้อพิพาท ไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒ วรรคหนึ่ง ถือได้ว่าไม่มีประเด็นที่ว่ากล่าว มาแล้วในศาลชั้นต้น แม้ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยแล้วพิพากษายืนก็ตาม และฎีกาปัญหานี้สู่ศาลฎีกาอีก ศาลฎีกาย่อมไม่วินิจฉัยเพราะต้องถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ต้องห้าม ตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๙ วรรคหนึ่ง เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังยุติตามศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ ๑ ไม่ผิดสัญญา รูปคดีจึงจำต้องยกฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ ๑ ด้วย ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าสัญญาจะซื้อจะขายเลิกกันโดยปริยายแล้ว โจทก์ต้องกลับสู่ฐานะเดิมนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ ๑ ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์จำเลยที่ ๑ ด้วย ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนจำเลยที่ ๑ โดยกำหนดค่าทนายความให้รวม ๔๕,๐๐๐ บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share