คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5218/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้ ด. ซื้อที่ดินพิพาทได้จากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยสุจริตและได้โอนขายให้แก่ผู้ร้องโดยสุจริต แต่สิทธิของ ด. และผู้ร้องได้มาภายหลังจากที่จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองต่อโจทก์ไว้โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว การจำนองจึงยังคงมีอยู่ไม่ระงับสิ้นไป โจทก์มีสิทธิจะบังคับจำนองเอาแก่ที่ดินพิพาทของผู้ร้องได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 744 และมาตรา 702 วรรคสอง การที่ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมาภายหลังจากที่โจทก์ได้รับจำนองไว้แล้ว แม้จะได้มาโดยสุจริตและได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1330แต่ก็ไม่ทำให้สิทธิของโจทก์ที่มีอยู่เดิมเสียไป ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาท

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์280,672.77 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี ของต้นเงิน 200,000 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินตราจองพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองที่มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอและแก้ไขคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 292 ซึ่งมีที่ตั้งและจำนวนเนื้อที่ทับกันกับที่ดินตราจองที่โจทก์นำยึด ผู้ร้องยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลชั้นต้นในคดีแพ่ง ซึ่งต่อมาศาลอุทธรณ์ (ที่ถูกศาลอุทธรณ์ภาค 2) มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าผู้ร้องมีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 292 และผู้ร้องขอออกโฉนดที่ดินแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าว เป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 20552 ตำบลดงตะขบ อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร ขอให้ศาลมีคำสั่งปล่อยทรัพย์ที่ยึด

โจทก์ให้การว่า ผู้ร้องไม่มีสิทธิร้องขัดทรัพย์เนื่องจากคำพิพากษาคดีแพ่งที่ผู้ร้องกล่าวอ้างผูกพันเฉพาะคู่ความเท่านั้น โจทก์เป็นบุคคลภายนอกซึ่งรับจำนองที่ดินโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตก่อนที่ผู้ร้องจะได้สิทธิครอบครองและก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าที่ดินเป็นของผู้ร้อง ขอให้ยกคำร้องขอ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้องขอของผู้ร้อง

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับ ให้ถอนการยึดที่ดินตามคำร้องขอ

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่าที่ดินพิพาทมีเอกสารสิทธิ 2 ฉบับคือ โฉนดตราจองเลขที่ 104 และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 292จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีชื่อในโฉนดตราจองโดยได้รับโอนทางมรดกจากนายนุ่น เรืองขำ ซึ่งเป็นบิดาเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2532 จำเลยที่ 1 ได้นำไปจดทะเบียนจำนองไว้ต่อโจทก์โดยชอบด้วยกฎหมายในวันเดียวกัน ส่วนผู้ร้องเป็นผู้มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยซื้อจากนายดิเรก สุทธิ เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2533 โดยนายดิเรกซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลในคดีล้มละลายเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2533 ต่อมาเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2534 ผู้ร้องได้ฟ้องจำเลยที่ 1 เพื่อให้ศาลมีคำสั่งว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้อง ซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาว่าผู้ร้องมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท คดีถึงที่สุดผู้ร้องจึงไปขอออกโฉนดที่ดินแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 20552 ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า ผู้ร้องมีสิทธิร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทหรือไม่ เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่านายดิเรกซื้อที่ดินพิพาทได้จากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยสุจริตและได้โอนขายให้แก่ผู้ร้องโดยสุจริต แต่สิทธิของนายดิเรกและผู้ร้องก็ได้มาภายหลังจากที่จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองต่อโจทก์ไว้โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ดังนี้ การจำนองจึงยังคงมีอยู่ ไม่ระงับสิ้นไปโจทก์ยังคงมีสิทธิจะบังคับจำนองเอาแก่ที่ดินพิพาทของผู้ร้องได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 744 และมาตรา 702 วรรคสอง การที่ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมาภายหลังจากที่โจทก์ได้รับจำนองไว้แล้ว แม้จะได้มาโดยสุจริตและได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1330 แต่ก็หาทำให้สิทธิของโจทก์ที่มีอยู่เดิมเสียไปไม่ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6พิพากษาให้ถอนการยึดที่ดินพิพาทมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share