คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5737/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถไปจากโจทก์ โดยโจทก์ให้จำเลยที่ 1 เอาประกันภัยระบุให้โจทก์เป็น ผู้รับผลประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยนั้น สัญญาประกันภัยดังกล่าวจึงเป็นสัญญาที่แยกต่างหากจากสัญญาเช่าซื้อตามข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้ออันมีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 เพื่อทดแทนความเสียหายให้แก่โจทก์อีกทางหนึ่ง ซึ่งโจทก์มีสิทธิเรียกร้องเพื่อให้ได้รับชดใช้ค่าเสียหายเต็มจำนวนจากข้อผูกพันตามสัญญาฉบับใดฉบับหนึ่งหรือทั้งสองฉบับจนกว่าจะได้รับครบถ้วน การที่รถที่เช่าซื้อประสบอุบัติเหตุเสียหายจนซ่อมแซมไม่ได้ และโจทก์ได้เข้าถือเอาผลประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้รับประกันภัย แต่ผู้รับประกันภัยถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลาย โจทก์จึงยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย ดังกล่าว ดังนี้ ถือไม่ได้ว่าการเข้าถือเอาประโยชน์ของโจทก์ตามสัญญาประกันภัยได้รับชดใช้ค่าเสียหายแล้ว เพราะการยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นเพียงการปฎิบัติตามขั้นตอนที่บังคับไว้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลายเพื่อรักษา สิทธิเรียกร้องเอาไว้และเป็นการไม่แน่นอนว่าจะได้รับชำระหนี้ เพราะคำขออาจถูกยกหรืออนุญาตทั้งหมดหรือ แต่บางส่วนก็ได้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันส่งมอบรถคันที่เช่าซื้อคืนให้แก่โจทก์หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน ๔๐๓,๐๐๐ บาท ค่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์ชำระแทนไปเป็นเงิน ๑,๙๖๘.๙๖ บาท รวมเป็นเงิน ๕๔๒,๙๖๘.๙๖ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระเสร็จ กับค่าเสียหายต่อไปอีกเดือนละ ๖,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะส่งมอบรถคืนหรือใช้ราคาให้ แก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ มิได้ผิดสัญญาเช่าซื้อ ในวันทำสัญญาโจทก์ตกลงให้จำเลยที่ ๑ เป็น ผู้เอาประกันภัยรถคันที่เช่าซื้อต่อบริษัทรัตนโกสินทร์ประกันภัย จำกัด โดยระบุให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ในกรณีที่มีการสูญหายหรือความเสียหายที่ไม่อาจซ่อมแซมได้ ต่อมาวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๐ จำเลยที่ ๑ ให้ลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ ขับรถคันที่เช่าซื้อไปแล้วเกิดเหตุไม่สามารถซ่อมแซมได้ จำเลยที่ ๑ แจ้งให้โจทก์ทราบซึ่งขณะเกิดอุบัติเหตุจน ไม่สามารถซ่อมแซมได้ จำเลยที่ ๑ แจ้งให้โจทก์ทราบเพื่อจะได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากบริษัทรัตนโกสินทร์ประกันภัย ต่อมาโจทก์ยื่นเรื่องต่อบริษัทรัตนโกสินทร์ประกันภัย จำกัด เพื่อขอรับเงินตามกรมธรรม์ดังกล่าวและ ได้รับเงินจากบริษัทประกันภัยครบถ้วนตามสัญญาเช่าซื้อแล้ว จำเลยที่ ๑ จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อสให้แก่โจทก์อีกฟ้องของโจทก์เป็นความเท็จโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดประโยชน์จากจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ เพราะเมื่อรถคันที่เช่าซื้อเกิดอุบัติเหตุ จำเลยที่ ๑ ได้ส่งมอบรถคันที่เช่าซื้อให้อยู่ในความครอบครองของโจทก์และโจทก์ได้ส่งมอบแก่บริษัทประกันภัยซึ่งบริษัทประกันภัยได้อนุมัติเงินค่าเสียหายให้แก่โจทก์แล้ว รถจึงไม่ได้อยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ ๑ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าภาษีมูลค่าเพิ่มและดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของจำนวนเงิน ๕๔๒,๙๖๘.๙๖ บาท เพราะโจทก์ได้รับเงินค่าเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อครบถ้วนจากบริษัทประกันภัย จำกัดแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน ๒๘๖,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๑) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๘,๐๐๐ บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๙ พิพากษายืน ให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ ๓,๐๐๐ บาท แทนโจทก์
จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยที่ ๑ เช่าซื้อรถกระบะพิพาทไปจากโจทก์โดยมีจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในวันทำสัญญาโจทก์ตกลงให้จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาประกันภัยรถกระบะพิพาทต่อบริษัทรัตนโกสินทร์ประกันภัย จำกัด โดยระบุให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ จำเลยที่ ๑ ผิดนัด ไม่ชำระค่าเช่าซื้อ โจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว ต่อมารถกระบะพิพาทประสบอุบัติเหตุได้รับความเสียหายจนไม่สามารถซ่อมแซมได้ โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องตามสัญญาประกันภัยต่อบริษัทรัตนโกสินทร์ประกันภัย จำกัด แต่ศาลได้มี คำพิพากษาให้บริษัทดังกล่าวล้มละลายก่อนจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ว่า โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ รับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันได้โดยชอบหรือไม่ เห็นว่า สัญญาประกันภัยระหว่างจำเลยที่ ๑ กับบริษัทรัตนโกสินทร์ประกันภัย จำกัด เป็นสัญญาที่แยกต่างหากจากสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ที่โจทก์ให้จำเลยที่ ๑ ทำขึ้นตามข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้ออันมีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๗๔ เพื่อเป็นค่าทดแทนความเสียหายให้แก่โจทก์อีกทางหนึ่ง ซึ่งโจทก์มีสิทธิเรียกร้องเพื่อให้ได้รับชดใช้ ค่าเสียหายเต็มจำนวนจากข้อผูกพันตามสัญญาฉบับใดฉบับหนึ่งหรือทั้งสองฉบับก็ได้จนกว่าจะได้รับชดใช้ค่าเสียหายครบถ้วน แม้จะปรากฏว่าโจทก์ได้เข้าถือเอาประโยชน์จากสัญญาประกันภัยด้วยการเรียกร้องให้ผู้รับประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามจำนวนที่เอาประกัน แต่ผู้รับประกันภัยยังไม่ได้ชำระเงินให้แก่โจทก์ เนื่องจากถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลาย การที่โจทก์ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายเป็นเพียงการปฏิบัติตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ตาม มาตรา ๒๗ และ มาตรา ๙๑ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ เพื่อเป็นการรักษาสิทธิเรียกร้องตามสัญญา ประกันภัยไว้เท่านั้น และเป็นการไม่แน่นอนว่าจะได้รับชำระหนี้เพราะคำขออาจถูกยกหรืออนุญาตทั้งหมดหรือ แต่บางส่วนก็ได้ ตามมาตรา ๑๐๗ แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน ดังนั้น การเข้าถือเอาประโยชน์ของโจทก์ตามสัญญาประกันภัยด้วยการยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย จึงมิใช่เป็นกรณีที่โจทก์ได้รับชดใช้ค่าเสียหายตาม สิทธิเรียกร้องนั้นแล้วเมื่อโจทก์ยังไม่ได้รับชดใช้ค่าเสียหายแต่อย่างใด โจทก์จึงชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องให้ จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันได้ ส่วนที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ฎีกาว่า โจทก์เพิกเฉยไม่พ้องบริษัทผู้รับประกันภัยจนขาดอายุความจึงเป็นความผิดของโจทก์นั้น เห็นว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ มิได้ยื่นคำให้การแก้คดีเป็นประเด็นข้อนี้ไว้ ฎีกาของจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้ว โดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค ๙ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๙ วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share