แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาซื้อขายข้อ10ระบุว่าเมื่อครบกำหนดส่งมอบสิ่งของตามสัญญานี้แล้วผู้ขาย(จำเลยที่1)ไม่ส่งมอบสิ่งของที่ตกลงขายให้แก่ผู้ซื้อ(โจทก์)หรือส่งมอบสิ่งของทั้งหมดไม่ถูกต้องหรือส่งมอบสิ่งของไม่ครบจำนวนผู้ซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้และวรรคสองระบุว่าในกรณีที่ผู้ซื้อใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาผู้ขายยอมให้ผู้ซื้อริบหลักประกันหรือเรียกร้องจากธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันตามสัญญาข้อ9เป็นจำนวนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก็ได้แล้วแต่ผู้ซื้อจะเห็นสมควรและถ้าผู้ซื้อจัดซื้อสิ่งของจากบุคคลอื่นเต็มจำนวนหรือเฉพาะจำนวนที่ขาดส่งแล้วแต่กรณีภายในกำหนด3เดือนนับแต่วันที่บอกเลิกสัญญาโดยให้นับวันที่บอกเลิกสัญญาเป็นวันเริ่มต้นผู้ขายยอมรับผิดชดใช้ราคาที่เพิ่มขึ้นจากราคาที่กำหนดไว้ในสัญญานี้ด้วยและข้อ11ระบุว่าในกรณีที่ผู้ซื้อ(โจทก์)ไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามสัญญาข้อ10ผู้ขายยอมให้ผู้ซื้อปรับเป็นรายวันในอัตราร้อยละ0.2ของราคาสิ่งของที่ยังไม่ได้รับมอบนับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดตามสัญญาจนถึงวันที่ผู้ขายได้นำสิ่งของมาส่งให้แก่ผู้ซื้อจนถูกต้องครบถ้วนและในวรรคสามระบุว่าในระหว่างที่มีการปรับนั้นถ้าผู้ซื้อเห็นว่าผู้ขายไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้ผู้ซื้อจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและริบหลักประกันหรือเรียกร้องจากธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันตามสัญญาข้อ9กับเรียกร้องให้ชดใช้ราคาที่เพิ่มขึ้นตามที่กำหนดไว้ในสัญญาข้อ10วรรคสองนอกเหนือจากการปรับจนถึงวันบอกเลิกสัญญาด้วยก็ได้การที่โจทก์ทำสัญญาซื้อเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าและเครื่องอบความร้อนคลื่นสั้นจากจำเลยที่1ซึ่งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดมีจำเลยที่2เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการกำหนดส่งมอบของที่ซื้อขายกันภายในวันที่18สิงหาคม2530และวันที่29กันยายน2530ตามลำดับครั้นเมื่อครบกำหนดส่งมอบของตามสัญญาจำเลยที่1ผิดสัญญาโดยมิได้มอบส่งมอบของตามสัญญาดังกล่าวให้โจทก์เลยโจทก์จึงมีหนังสือแจ้งสงวนสิทธิการเรียกค่าปรับรายวันนับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดส่งมอบจนถึงวันที่จำเลยที่1ได้ปฏิบัติการชำระหนี้โดยถูกต้องตามสัญญาดังกล่าวภายหลังจากนั้นโจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่1รีบส่งมอบของที่ซื้อขายกันตามสัญญาทั้งสองฉบับให้แก่โจทก์อีกพร้อมแจ้งการปรับไปด้วยมิฉะนั้นโจทก์อาจพิจารณาว่าจำเลยที่1ไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้และใช้สิทธิเลิกสัญญาตามข้อ11วรรคสามต่อไปแต่จำเลยที่1ยังคงเพิกเฉยโจทก์จึงได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่1ดังนี้ตามพฤติการณ์ของโจทก์เป็นการแสดงว่าเมื่อจำเลยที่1ผิดสัญญาโดยไม่ส่งมอบของที่ซื้อขายกันในกำหนดตามสัญญาโจทก์ก็ยังไม่ประสงค์จะเลิกสัญญาทันทีตามสัญญาข้อ10โดยโจทก์คงเพียงแต่มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่1ส่งมอบของตามสัญญาต่อเมื่อโจทก์เห็นว่าจำเลยที่1ไม่สามารถส่งมอบของได้ตามสัญญาแล้วโจทก์จึงได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยที่1เช่นนี้เป็นการที่โจทก์เลิกสัญญาตามสัญญาข้อ11โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระค่าปรับรายวันตั้งแต่วันถัดจากวันที่จำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ส่งมอบของจนถึงวันที่โจทก์บอกเลิกสัญญาได้ตามสัญญาซื้อขายข้อ11ดังกล่าว จำเลยผิดสัญญาไม่ส่งมอบของที่ซื้อขายกันในกำหนดตามสัญญาการที่โจทก์เรียกร้องเกี่ยวกับค่าขาดรายได้จากการใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าและเครื่องอบความร้อนคลื่นสั้นในการรักษาผู้ป่วยนั้นเมื่อโจทก์เป็นส่วนราชการมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบกิจการค้าหากำไรค่าเสียหายส่วนนี้เป็นค่าเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษซึ่งโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองได้คาดเห็นหรือควรจะคาดเห็นว่าจะเกิดค่าเสียหายส่วนนี้โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายส่วนนี้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2530 และวันที่1 มิถุนายน 2530 โจทก์ได้ทำสัญญาซื้อเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าและเครื่องอบความร้อนคลื่นสั้น อย่างละ 1 เครื่อง จากจำเลยที่ 1ในราคาเครื่องละ 120,000 บาท และ 155,000 บาท กำหนดส่งมอบของภายในวันที่ 18 สิงหาคม 2530 และภายในวันที่ 29 กันยายน2530 ตามลำดับ โดยมีข้อตกลงว่า ถ้าผู้ขายไม่ส่งมอบของให้ถูกต้องภายในกำหนดผู้ซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญา และผู้ขายยอมให้ปรับเป็นรายวันอัตราร้อยละ 0.2 ของราคาสิ่งของจนถึงวันส่งมอบหรือถ้าผู้ซื้อบอกเลิกสัญญาก็ให้คิดค่าปรับถึงวันบอกเลิกสัญญาในระหว่างที่มีการปรับถ้าผู้ซื้อเห็นว่าผู้ขายไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาได้ ผู้ซื้อยังมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและริบหลักประกันหรือเรียกร้องจากธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันกับเรียกร้องราคาที่เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากค่าปรับได้อีก โดยผู้ซื้อจะต้องซื้อสิ่งของจากบุคคลอื่นภายใน 3 เดือน ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ส่งมอบสิ่งของที่ซื้อขายแก่โจทก์ตามกำหนดโจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาและแจ้งสงวนสิทธิเรียกค่าปรับและแจ้งการปรับตามสัญญา แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยทั้งสอง คิดค่าปรับรายวันตามสัญญาซื้อขายนับแต่วันถึงกำหนดจนถึงวันบอกเลิกสัญญาฉบับแรกเวลา 472 วัน เป็นเงิน118,080 บาท และฉบับที่ 2 เวลา 450 วัน เป็นเงิน 139,500 บาทรวมเป็นเงินค่าปรับ 257,580 บาท และคิดค่าขาดรายได้ที่โจทก์ไม่สามารถใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้ารักษาผู้ป่วยได้วันละ 12 คนค่ารักษาคนละ 20 บาท และค่าขาดรายได้ที่โจทก์ไม่สามารถใช้เครื่องอบความร้อนคลื่นสั้นรักษาผู้ป่วยได้วันละ 12 คนค่ารักษาพยาบาลคนละ 20 บาท ตั้งแต่วันครบกำหนดส่งมอบสิ่งของถึงวันบอกเลิกสัญญาเป็นเงินอีก 77,520 บาท และ 70,800 บาทตามลำดับ และโจทก์ต้องซื้อเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าและเครื่องอบความร้อนคลื่นสั้นจากบุคคลอื่นในราคาที่เพิ่มขึ้นจำนวน 125,000 บาทรวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 530,900 บาท คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดตามหนังสือทวงถามจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน91,946.24 บาท รวมเป็นต้นเงินค่าเสียหายและดอกเบี้ย622,846.24 บาท จำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยที่ 1 จะต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน 622,846.24 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 530,900 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน125,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยทั้งสองจะต้องชำระค่าปรับรายวันในอัตราร้อยละ0.2 ต่อวัน ของราคาสิ่งของและค่าของรายได้แก่โจทก์หรือไม่เพียงใด พิเคราะห์แล้ว ในส่วนที่เกี่ยวกับค่าปรับรายวันนั้นตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.4 และ จ.7 ข้อ 10 ระบุว่าเมื่อครบกำหนดส่งมอบสิ่งของตามสัญญานี้แล้ว ถ้าผู้ขาย (จำเลยที่ 1)ไม่ส่งมอบสิ่งของที่ตกลงขายให้แก่ผู้ซื้อ (โจทก์) หรือส่งมอบสิ่งของทั้งหมดไม่ถูกต้อง หรือส่งมอบสิ่งของไม่ครบจำนวนผู้ซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ และวรรคสองระบุว่าในกรณีที่ผู้ซื้อใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา ผู้ขายยอมให้ผู้ซื้อริบหลักประกันหรือเรียกร้องจากธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันตามสัญญาข้อ 9เป็นจำนวนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก็ได้ แล้วแต่ผู้ซื้อจะเห็นสมควรและถ้าผู้ซื้อจัดซื้อสิ่งของจากบุคคลอื่นเต็มจำนวนหรือเฉพาะจำนวนที่ขาดส่งแล้วแต่กรณีภายในกำหนด 3 เดือนนับแต่วันที่บอกเลิกสัญญา โดยให้นับวันที่บอกเลิกสัญญาเป็นวันเริ่มต้นผู้ขายยอมรับผิดชดใช้ราคาที่เพิ่มขึ้นจากราคาที่กำหนดไว้ในสัญญานี้ด้วย และข้อ 11 ระบุว่า ในกรณีที่ผู้ซื้อ (โจทก์) ไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามสัญญาข้อ 10 ผู้ขายยอมให้ผู้ซื้อปรับเป็นรายวันในอัตราร้อยละ 0.2 ของราคาสิ่งของที่ยังไม่ได้รับมอบนับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดตามสัญญา จนถึงวันที่ผู้ขายได้นำสิ่งของมาส่งให้แก่ผู้ซื้อจนถูกต้องครบถ้วนและในวรรคสามระบุว่าในระหว่างที่มีการปรับนั้นถ้าผู้ซื้อเห็นว่า ผู้ขายไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้ ผู้ซื้อจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและริบหลักประกันหรือเรียกร้องจากธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันตามสัญญาข้อ 9กับเรียกร้องให้ชดใช้ราคาที่เพิ่มขึ้นตามที่กำหนดไว้ในสัญญาข้อ 10 วรรคสอง นอกเหนือจากการปรับจนถึงวันบอกเลิกสัญญาด้วยก็ได้ คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ทำสัญญาซื้อเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าและเครื่องอบ ความร้อนคลื่นสั้นจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ กำหนดส่งมอบของที่ซื้อขายกันภายในวันที่ 18 สิงหาคม2530 และวันที่ 29 กันยายน 2530 ตามลำดับ ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.4 และ จ.7 ครั้นเมื่อครบกำหนดส่งมอบของตามสัญญาจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาโดยมิได้มอบส่งมอบของตามสัญญาดังกล่าวให้โจทก์เลยโจทก์ได้มีหนังสือแจ้งสงวนสิทธิการเรียกค่าปรับรายวันในอัตราวันละ 310 บาท และวันละ 240 บาท นับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดส่งมอบจนถึงวันที่จำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติการชำระหนี้โดยถูกต้องตามสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าว ภายหลังจากนั้นโจทก์ได้มีหนังสือลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2531 แจ้งให้จำเลยที่ 1 รีบส่งมอบของที่ซื้อขายกันตามสัญญาทั้งสองฉบับให้แก่โจทก์อีก พร้อมแจ้งการปรับไปด้วยมิฉะนั้นโจทก์อาจพิจารณาว่าจำเลยที่ 1 ไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้ และใช้สิทธิเลิกสัญญาตามข้อ 11 วรรคสามต่อไปเมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ยังคงเพิกเฉย โจทก์จึงได้มีหนังสือลงวันที่ 20 ธันวาคม 2531 บอกเลิกสัญญาทั้งสองฉบับแก่จำเลยที่ 1 ตามหนังสือเอกสารหมาย จ.14 ดังนี้ ตามพฤติการณ์ของโจทก์เป็นการแสดงว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาโดยไม่ส่งมอบของที่ซื้อขายกันในกำหนดตามสัญญา โจทก์ก็ยังไม่ประสงค์จะเลิกสัญญาทันทีตามสัญญาข้อ 10 โดยโจทก์คงเพียงแต่มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบของตามสัญญา ต่อเมื่อโจทก์เห็นว่าจำเลยที่ 1ไม่สามารถส่งมอบของได้ตามสัญญาแล้ว โจทก์จึงได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยที่ 1 ฉะนั้นจึงเป็นการที่โจทก์เลิกสัญญาตามสัญญาข้อ 11 โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระค่าปรับรายวันตั้งแต่วันถัดจากวันที่จำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ส่งมอบของจนถึงวันที่โจทก์บอกเลิกสัญญา ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมายจ.4 และ จ.7 ข้อ 11 ดังกล่าว แต่ศาลฎีกาเห็นว่า เบี้ยปรับก็คือค่าเสียหายจำนวนหนึ่งที่คู่สัญญากำหนดไว้ล่วงหน้าอันอาจจะมีหรือเกิดขึ้นเนื่องจากคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาเพื่อให้ฝ่ายที่ผิดสัญญาชดใช้ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งแต่ก็มิได้บังคับไว้โดยเด็ดขาดว่าจะต้องเป็นไปตามที่กำหนด ศาลอาจใช้ดุลพินิจลดจำนวนเบี้ยปรับตามที่กำหนดไว้ในสัญญาลงได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 ที่โจทก์ขอเรียกเบี้ยปรับรวมเป็นเงิน 257,580 บาท นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ได้ซื้อเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าและเครื่องอบความร้อนคลื่นสั้นจากบุคคลอื่นกับได้เรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายในราคาที่เพิ่มขึ้นแล้วจึงเห็นว่าเบี้ยปรับที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินไปเห็นควรลดลงเหลือจำนวน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ส่วนที่โจทก์เรียกร้องเกี่ยวกับค่าขาดรายได้นั้น โจทก์นำสืบว่าโจทก์ขาดรายได้จากการใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าและเครื่องอบความร้อนคลื่นสั้นในการรักษาผู้ป่วยคิดเป็นเงิน148,320 บาท เห็นว่า โจทก์เป็นส่วนราชการมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบกิจการค้าหากำไร ค่าเสียหายส่วนนี้เป็นค่าเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่า จำเลยทั้งสองได้คาดเห็นหรือควรจะคาดเห็นว่าจะเกิดค่าเสียหายส่วนนี้โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายส่วนนี้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าปรับรายวันให้โจทก์เป็นจำนวนเงิน 150,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์