คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3654/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นท้ายคำให้การจำเลยปรากฏว่า ศาลชั้นต้นได้อ่านอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังจนเข้าใจ โดยสอบเรื่องทนายความแล้ว จำเลยแถลงไม่ต้องการทนายความช่วยเหลือ และให้การรับสารภาพตามฟ้อง จึงเป็นกรณีที่ก่อนเริ่มพิจารณาศาลชั้นต้นได้ถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่แล้ว และเมื่อจำเลยแถลงไม่ต้องการทนายความ ย่อมไม่มีกรณีที่ศาลชั้นต้นต้องตั้งทนายความให้จำเลย กระบวนพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นจึงชอบด้วย ป.วิ.อ.มาตรา 173 วรรคสอง แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ ระหว่างวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๓๖ เวลากลางวัน ถึงวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๓๗ เวลากลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยรู้อยู่แล้วว่าความจริงจำเลยไม่มีสิทธิที่จะขอเบิกเงินค่าเช่าบ้านประจำเดือนกันยายน ๒๕๓๖ ถึงเดือนธันวาคม ๒๕๓๖ เดือนมกราคม ๒๕๓๗ และเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๗ แต่จำเลยกลับแจ้งข้อความอันเป็นเท็จโดยยื่นคำขอเบิกเงินค่าเช่าบ้านประจำเดือนดังกล่าวรวม ๖ เดือน เดือนละ ๑,๘๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๑๐,๘๐๐ บาท และได้เงินจำนวน ๑๐,๘๐๐ บาท ไป และระหว่างวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๓๗ เวลากลางวัน ถึงวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๓๙ เวลากลางวัน ทั้งเวลากลางวันและเวลากลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยปลอมใบเสร็จรับเงินในราชการสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ พร้อมปลอมลายมือชื่อของเจ้าหน้าที่การเงินและบัญชีกองคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ในช่องผู้รับเงิน ทั้งนี้เพื่อให้เจ้าหน้าที่คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ และประชาชนหลงเชื่อว่าใบเสร็จรับเงินดังกล่าวเป็นเอกสารที่แท้จริง เหตุเกิดที่แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ แขวงราชบพิตร เขตพระนคร และแขวงจิตรลดา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เกี่ยวพันกัน และเมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๓๙ เวลากลางวัน จำเลยได้แจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่นายนรินทร์ กมลรัตน์ เจ้าหน้าที่กองสืบสวนสอบสวน และคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย และนำเอาใบเสร็จรับเงินซึ่งเป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอมดังกล่าวใช้อ้างแก่นายนรินทร์ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น เหตุเกิดที่แขวงจิตรลดา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ , ๑๓๗ , ๒๖๖ , ๒๖๘ , ๓๔๑
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗ , ๒๖๖ , ๒๖๘ , ๓๔๑ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ จำคุก ๒ เดือน ฐานปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการและใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม เนื่องจากจำเลยเป็นผู้ปลอมเอกสารนั้น จึงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๘ วรรคสอง จำคุก ๔ ปี ฐานฉ้อโกง จำคุก ๑ ปี รวมจำคุก ๕ ปี ๒ เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ กึ่งหนึ่ง คงจำคุก ๒ ปี ๗ เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ และฐานใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอมซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา ๙๐ แต่สำหรับความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการและใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอมนั้น จำเลยเป็นผู้ปลอมและใช้เอกสารดังกล่าวจึงให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๘ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๖๖ (๑) จำคุก ๓ ปี ฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑ จำคุก ๑ ปี รวมจำคุก ๔ ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ กึ่งหนึ่ง คงจำคุก ๒ ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า คดีนี้เป็นคดีที่มีอัตราโทษจำคุกไม่ปรากฏว่าศาลได้ถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและจำเลยต้องการทนายความก็ให้ศาลตั้งทนายความให้ จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นไม่ได้ดำเนินกระบวนพิจารณาให้ถูกต้อง การที่ศาลอุทธรณ์ไม่ได้หยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นมาวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องเป็นการไม่ชอบ ขอให้ยกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองเสียแล้วให้ดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่นั้น เห็นว่า ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นท้ายคำให้การจำเลยว่า ศาลชั้นต้นได้อ่านอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังจนเข้าใจ โดยสอบเรื่องทนายความแล้ว จำเลยแถลงไม่ต้องการทนายความช่วยเหลือ และให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลได้บันทึกคำให้การของจำเลยไว้แล้ว จึงเป็นกรณีที่ก่อนเริ่มพิจารณาศาลชั้นต้นได้ถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่แล้ว และเมื่อจำเลยแถลงไม่ต้องการทนายความย่อมไม่มีกรณีที่ศาลชั้นต้นต้องตั้งทนายความให้จำเลย กระบวนพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๗๓ วรรคสอง แล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ไม่ได้หยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นมาวินิจฉัยนั้นชอบแล้ว กรณีไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะยกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองแล้วให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่แต่อย่างใด ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น … ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษแก่จำเลยนั้น… ฎีกาข้อนี้ฟังขึ้น…
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่ง โดยความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๘ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๖๖ (๑) ปรับ ๒๐,๐๐๐ บาท และความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑ ปรับ ๒,๐๐๐ บาท รวมปรับ ๒๒,๐๐๐ บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ กึ่งหนึ่ง คงปรับ ๑๑,๐๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๒ ปี ให้คุมความประพฤติจำเลย ค่าปรับไม่ชำระให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙ , ๓๐ … นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share