คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3539/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยได้พร้อมยึดหลอดกาแฟ 10 หลอด เป็นของกลาง และขอให้ริบของกลางด้วยนั้น แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 จะพิพากษายกฟ้องโจทก์ ก็ต้องมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับของกลางด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่วินิจฉัยเกี่ยวกับของกลางดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องโดยพิพากษายืน แต่ไม่ริบหลอดกาแฟของกลาง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67 และริบหลอดกาแฟ 10 หลอด ของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 5 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน กับให้ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2541 เวลา 14 นาฬิกา ร้อยตำรวจเอกมนัส ฑิตะลำพูน ร้อยตำรวจเอกกำพล จินดาวงษ์ กับพวก จับกุมจำเลยได้ที่บ้านเลขที่ 54/1 หมู่ที่ 2 ตำบลบางสะพาน อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชั้นจับกุมแจ้งข้อหาจำเลยว่าจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำนวน 2 เม็ด ของกลาง ตามบันทึกการตรวจค้นและจับกุมเอกสารหมาย ป.จ.4 มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลางหรือไม่ โจทก์มีร้อยตำรวจเอกมนัสและร้อยตำรวจเอกกำพลเบิกความว่า ทราบว่าจำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนที่บ้านเลขที่ 54/1 หมู่ที่ 2 ตำบลบางสะพาน อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จึงวางแผนจับกุมโดยวิธีใช้สายลับไปล่อซื้อ ส่วนร้อยตำรวจเอกมนัสและร้อยตำรวจเอกกำพลได้ไปซุ่มดูการล่อซื้อ โดยร้อยตำรวจเอกมนัสเบิกความว่า เมื่อสายลับจอดรถจักรยานยนต์แล้วสายลับเดินไปหาจำเลยซึ่งนั่งอยู่บนแคร่หน้าบ้าน สายลับมอบธนบัตรแก่จำเลย และจำเลยมอบสิ่งของแก่สายลับแล้วจำเลยเดินเข้าบ้านไป ส่วนร้อยตำรวจเอกกำพลเบิกความว่าเมื่อสายลับจอดรถจักรยานยนต์แล้ว จำเลยเป็นฝ่ายเดินเข้าไปหาสายลับ สายลับมอบธนบัตรแก่จำเลย แล้วจำเลยเดินกลับมาที่แคร่และส่งของแก่สายลับ พยานโจทก์ทั้งสองปากดังกล่าวอ้างว่าซุ่มดูอยู่จุดเดียวกัน แต่เบิกความถึงพฤติการณ์ในการจำหน่ายซึ่งเป็นสาระสำคัญแตกต่างกัน เป็นข้อพิรุธสงสัยว่าพยานโจทก์ทั้งสองได้ไปซุ่มดูเหตุการณ์ล่อซื้อหรือไม่ ประกอบกับร้อยตำรวจเอกมนัสเบิกความว่า ซุ่มดูการล่อซื้อที่รั้วทางมะพร้าวใกล้บ่อน้ำ ส่วนร้อยตำรวจเอกกำพลเบิกความว่าซุ่มอยู่บริเวณบ่อตะพาบน้ำ โจทก์มิได้อ้างแผนที่เกิดเหตุแสดงจุดที่พยานโจทก์ทั้งสองซุ่มดูเป็นพยาน คงมีเพียงภาพถ่ายหมาย จ.5 ซึ่งถ่ายภาพหลังจับกุมจำเลยแล้ว ภาพถ่ายดังกล่าวมีรั้วทางมะพร้าว แต่ไม่ปรากฏภาพของบ่อน้ำหรือบ่อตะพาบน้ำ จึงไม่ทราบว่าพยานโจทก์ทั้งสองซุ่มอยู่ที่ใด และสามารถมองเห็นเหตุการณ์ล่อซื้อได้หรือไม่ โจทก์จึงมีเพียงคำรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเท่านั้น พยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวมีข้อพิรุธสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลางหรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยได้พร้อมยึดหลอดกาแฟ 10 หลอด เป็นของกลาง และขอให้ริบของกลางด้วยนั้น แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 จะพิพากษายกฟ้องโจทก์ก็ต้องมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับของกลางด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186 (9) การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่วินิจฉัยเกี่ยวกับของกลางดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษายืน แต่ไม่ริบหลอดกาแฟของกลาง

Share