คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3108/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ภาษีที่โจทก์เรียกคืนจากจำเลยที่ 1 เกิดจากการที่โจทก์ตรวจสอบการขอคืนภาษีของจำเลยที่ 1 พบว่าจำเลยที่ 1 แสดงรายได้จากการขายสินค้าต่ำไป โดยแสดงราคาขายและราคาซื้อไม่เป็นไปตามรายการซื้อขายจริงจึงปรับปรุงเพิ่มต้นทุนและนำมูลค่าสินค้าในแต่ละเดือนภาษีมาคำนวณภาษีขายให้ถูกต้องแล้วหักด้วยภาษีซื้อ พบว่าจำเลยที่ 1 ยังมีภาษีมูลค่าเพิ่มต้องชำระเพิ่มอีกในบางเดือน และบางเดือนมีสิทธิขอคืนได้บางส่วนเท่านั้น เงินภาษีที่จำเลยที่ 1 ขอคืนไปจึงไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานประเมินจึงแจ้งให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้แก่โจทก์ตามฟ้อง ซึ่งเห็นได้ว่าจำนวนเงินที่โจทก์ฟ้องเรียกคืนจากจำเลยที่ 1 เกิดจากการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่เห็นด้วยย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินอาจถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงโดยคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จึงต้องรอฟังคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก่อน เมื่อข้อเท็จจริงที่รับกันฟังได้ว่าฝ่ายจำเลยยื่นอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ซึ่งในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยังไม่มีคำวินิจฉัย ดังนั้น โจทก์จึงยังไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องแม้ต่อมาภายหลังคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จะวินิจฉัยว่าการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มของเจ้าพนักงานประเมินชอบและเป็นธรรมแล้ว ก็ไม่ทำให้ฟ้องที่ไม่ชอบมาตั้งแต่ต้นกลับเป็นฟ้องที่ชอบได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ประกอบการค้าประกอบกิจการนำเข้าและจำหน่ายไม้แปรรูปและอื่นๆ ทั้งเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทชำระภาษีมูลค่าเพิ่มจากการคำนวณภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อ จำเลยที่ 1 ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 30) ต่อเจ้าพนักงานของโจทก์ โดยแสดงภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อ มีภาษีชำระทุกเดือนภาษีตั้งแต่เดือนมกราคมถึงธันวาคม 2537 จำเลยที่ 1 ขอคืนภาษีชำระเกินเป็นเงินสดทุกเดือน เจ้าพนักงานของโจทก์ได้พิจารณาอนุมัติให้คืนภาษีแก่จำเลยที่ 1 ในแต่ละเดือนภาษีก่อนทำการตรวจสอบ โดยมีภาษีที่ขอคืนรวม 1,610,115.79 บาท ภาษีที่ได้รับคืนรวม 1,603,762.79 บาท จำเลยที่ 1 ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวคืนไปแล้ว ต่อมาเจ้าพนักงานของโจทก์ทำการตรวจสอบภาษีอากรของจำเลยที่ 1 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2537 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2537 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 แสดงรายได้จากการขายสินค้าต่ำไป โดยแสดงราคาขายและราคาซื้อไม่เป็นไปตามรายการซื้อขายจริง เจ้าพนักงานของโจทก์จึงปรับปรุงเพิ่มต้นทุนและนำมูลค่าสินค้าในแต่ละเดือนภาษีมาคำนวณภาษีขายที่ถูกต้อง เมื่อนำภาษีขายตามผลการตรวจสอบมาหักด้วยภาษีซื้อแล้ว ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินภาษีที่ได้รับคืนไปรวม 1,413,261.11 บาท เจ้าพนักงานของโจทก์จึงแจ้งให้จำเลยที่ 1 ส่งคืนเงินภาษีที่ได้รับคืนไปโดยไม่มีสิทธิรับคืนหรือรับคืนเกินไปดังกล่าว โดยคืนให้แก่โจทก์ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งให้ส่งคืนเงินตามหนังสือแจ้งให้ส่งคืนเงินภาษีอากรที่ได้รับคืนขาดไป (ค.31) ของสำนักงานสรรพากรจังหวัดนราธิวาส ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2543 จำเลยที่ 1 เพิกเฉย จำเลยที่ 1 จึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินภาษีที่ต้องส่งคืนในแต่ละเดือนภาษีนับจากวันพ้นกำหนดตามหนังสือแจ้งให้คืนภาษีถึงวันฟ้อง คิดเป็นดอกเบี้ยจำนวน 92,684.64 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระถึงวันฟ้อง 1,505,945.75 บาท จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในหนี้ภาษีอากรที่ต้องคืนแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือชำระเงินภาษีอากรและชำระดอกเบี้ยรวมจำนวน 1,505,945.75 บาท แก่โจทก์ และชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินที่ต้องคืนจำนวน 1,413,261.11 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความเพราะเรียกร้องคืนเงินจากจำเลยที่ 1 เกินกว่า 1 ปี นับตั้งแต่รู้ว่ามีสิทธิเรียกคืน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์ข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องเพราะจำเลยที่ 1 ขอคืนภาษีไปจากโจทก์โดยไม่มีสิทธิ โจทก์มีอำนาจติดตามและเรียกคืนเงินรายได้ของรัฐจากจำเลยที่ 1 ผู้ไม่มีสิทธิได้รับคืน การเรียกคืนดังกล่าวมิใช่เรียกค่าภาษีที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระตามการประเมินของโจทก์ซึ่งยังอยู่ในระหว่างพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์นั้น เห็นว่า ภาษีที่โจทก์เรียกคืนจากจำเลยที่ 1 ซึ่งปรากฏจากคำบรรยายฟ้องของโจทก์เองว่าเกิดจากการที่โจทก์ตรวจสอบการขอคืนภาษีของจำเลยที่ 1 พบว่าจำเลยที่ 1 แสดงรายได้จากการขายสินค้าต่ำไปโดยแสดงราคาขายและราคาซื้อไม่เป็นไปตามรายการซื้อขายจริงจึงปรับปรุงเพิ่มต้นทุนและนำมูลค่าสินค้าในแต่ละเดือนภาษีมาคำนวณภาษีขายให้ถูกต้องแล้วหักด้วยภาษีซื้อพบว่าจำเลยที่ 1 ยังมีภาษีมูลค่าเพิ่มต้องชำระเพิ่มอีกในบางเดือนและบางเดือนมีสิทธิขอคืนได้บางส่วนเท่านั้น เงินภาษีที่จำเลยที่ 1 ขอคืนไปจึงไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานประเมินจึงแจ้งให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้แก่โจทก์ตามฟ้อง ซึ่งเห็นได้ว่า จำนวนเงินที่โจทก์ฟ้องเรียกคืนจากจำเลยที่ 1 เกิดจากการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่เห็นด้วยย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินอาจถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงโดยคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงต้องรอฟังคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก่อน เมื่อได้ความตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลภาษีอากรกลาง ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2545 คู่ความรับกันว่า ฝ่ายจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ซึ่งในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยังไม่มีคำวินิจฉัย ดังนั้น โจทก์จึงยังไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้อง แม้จะปรากฏในอุทธรณ์ของโจทก์ว่าคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 แล้ว เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2545 ว่าการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มของเจ้าพนักงานประเมินชอบและเป็นธรรมแล้ว และให้ยกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ก็ตาม ก็ไม่ทำให้ฟ้องที่ไม่ชอบมาตั้งแต่ต้นกลับเป็นฟ้องที่ชอบได้ ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยมาศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share