คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3526/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่ศาลจะอนุญาตให้พิจารณาใหม่ได้ต้องเป็นกรณีที่มีคู่ความขาดนัดพิจารณาและมีเหตุสมควรเชื่อว่าคู่ความฝ่ายที่ขาดนั้นมิได้จงใจขาดนัดพิจารณาเมื่อศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่าจำเลยจงใจขาดนัดพิจารณาแม้ฟังข้อเท็จจริงด้วยว่าจำเลยมิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การจำเลยไม่มีสิทธิที่จะร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสามออกจากที่ดินและเรียกค่าเสียหาย จำเลยทั้งสามขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาศาลชั้นต้นพิจารณาคดีไปฝ่ายเดียวแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสามและบริวารรื้อถอนพืชไร่ออกจากที่ดินของโจทก์ ห้ามเกี่ยวข้องและให้ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้องว่า ในวันที่เจ้าพนักงานศาลนำหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไปส่งนั้น จำเลยที่ 1 ที่ 2 ไปธุระที่ต่างจังหวัดเมื่อกลับมาก็ไม่พบว่ามีหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องที่เจ้าพนักงานศาลนำหมายนัดสืบพยานโจทก์ไปส่งนั้นจำเลยที่ 1 ที่ 2 ออกไปทำไร่ เมื่อกลับมาก็ไม่พบว่ามีหมายนัดปิดอยู่ จำเลยที่ 1 ที่ 2 มิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา หากจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ต่อสู้คดีก็จะชนะคดีเพราะที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 ที่ 2 โดยได้รับการยกให้จากนายเฉลิมชัยจำเลยที่ 1 ที่ 2 ครอบครองที่ดินพิพาทมาโดยตลอด แต่ยังมิได้เปลี่ยนแปลงทางทะเบียน ต่อมาจำเลยที่ 1 นำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปมอบให้นายสุพรรณ วัดเวียงคำ ยึดถือไว้เพื่อให้ช่วยเหลือฝากงานให้จำเลยที่ 1 โจทก์รับโอนที่ดินมาโดยมิชอบ ขอให้พิจารณาใหม่
ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้วเห็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2ไม่ได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การ แต่จงใจขาดนัดพิจารณาไม่อนุญาตให้ยื่นคำให้การให้ยกคำร้อง
จำเลย ที่ 1 และ ที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลย ที่ 1 และ ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 และที่ 2ออกจากอสังหาริมทรัพย์อันอาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องเดือนละ500 บาท จึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคสอง และข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 มิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การ แต่จงใจขาดนัดพิจารณา มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 มีสิทธิขอให้พิจารณาใหม่ได้หรือไม่ เห็นว่า กรณีที่ศาลอนุญาตให้พิจารณาใหม่นั้นต้องเป็นกรณีที่ขาดนัดพิจารณาและมีเหตุสมควรเชื่อว่าคู่ความฝ่ายที่ขาดนัดนั้นมิได้จงใจขาดนัดพิจารณา ฉะนั้น เมื่อศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 จงใจขาดนัดพิจารณาเช่นนี้ แม้จะฟังข้อเท็จจริงดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1ที่ 2 มิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยที่ 1 ที่ 2 ก็ไม่มีสิทธิที่จะร้องขอให้พิจารณาใหม่ได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1ชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share