คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8261/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อาคารชั้นเดียวขนาด4.00×3.00เมตรที่ก่อสร้างต่อเติมขึ้นใหม่ขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคารพ.ศ.2522ข้อ76(1)ซึ่งเป็นกรณีไม่สามารถแก้ไขให้ถูกต้องตามข้อบัญญัติดังกล่าวได้ ส่วนอาคารสูง4ชั้นที่จำเลยต่อเติมนั้นเมื่อรื้ออาคารชั้นเดียวแล้วก็จะทำให้มีที่ว่างอันปราศจากหลังคาหรือสิ่งปกคลุมเกินกว่า30ใน100ส่วนของพื้นที่และยังมีที่ว่างโดยปราศจากสิ่งปกคลุมเป็นทางเดินหลังอาคารได้ถึงกันไม่น้อยกว่า2.00เมตรซึ่งจะไม่ขัดข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคารพ.ศ.2522ข้อ76(1)(4)ดังนั้นการที่จำเลยก่อสร้างต่อเติมอาคารสูง4ชั้นจึงเป็นกรณีที่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ซึ่งโจทก์มีอำนาจสั่งให้จำเลยยื่นคำขอใบรับอนุญาตตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ.2522มาตรา43 ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยรื้อถอนอาคารชั้นเดียวขนาด4.00×4.00เมตรปรากฏว่าอาคารดังกล่าวโจทก์มิได้ขอให้รื้อถอนและไม่มีอาคารดังกล่าวอยู่ในที่ดินของจำเลยที่โจทก์บรรยายฟ้องถึงอาคารดังกล่าวมาเป็นการบรรยายโดยสับสนที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้รื้อถอนอาคารดังกล่าวด้วยนั้นจึงไม่ชอบศาลฎีกาแก้ไขให้ถูกต้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มอบอำนาจให้หัวหน้าเขตปฏิบัติราชการแทนตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินและอาคารตึกแถว3 ชั้น 1 คูหา เลขที่ 94/5 ซอยสุขุมวิท 101/1 (วชิรธรรมสาธิต)ตำบลบางจาก (ตำบลบางนา) อำเภอพระโขนงกรุงเทพมหานคร ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 101553 ตำบลบางนาอำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2528เจ้าหน้าที่ของโจทก์ตรวจพบว่าจำเลยได้ให้ช่างทำการปลูกสร้างอาคารเชื่อมอาคารเดิม สูง 4 ชั้นและชั้นเดียว ขนาด 4.00 x 4.00 เมตร และชั้นเดียวขนาด4.00 x 3.00 เมตร โดยหลังคาอาคารชั้นเดียวเชื่อมกับอาคาร4 ชั้น ที่สร้างเชื่อมขึ้นที่อาคาร เลขที่ 94/5 ดังกล่าว โดยมิได้รับอนุญาต โดยมีที่ว่างปราศจากสิ่งปกคลุมเป็นทางเดินหลังอาคารได้ถึงกันกว้าง 1.93 เมตร ขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522ข้อ 76(4) ซึ่งกำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 2.00 เมตร จำเลยมีพื้นที่ดินตามโฉนดที่ดินของจำเลย 116 ตารางเมตร ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคารพ.ศ. 2522 ข้อ 76(1) มีว่า “อาคารที่พักอาศัยแต่ละหลังให้มีที่ว่างอยู่ 30 ใน 100 ส่วนของพื้นที่” ที่ดินตามโฉนดที่ดินของจำเลยดังกล่าวจะต้องมีที่ว่างอันปราศจากหลังคาหรือสิ่งปกคลุมอยู่ 30 ใน 100 ส่วนของพื้นที่ หรือเท่ากับ34.8 ตารางเมตร แต่พื้นที่ที่จำเลยใช้สร้างอาคารทั้งหมด(รวมทั้งอาคารเดิมและอาคารที่สร้างดัดแปลงเพิ่มเติม) รวม85.105 ตารางเมตร มีที่ว่างเหลืออยู่เพียง 30.895 ตารางเมตรหรือเท่ากับ 26.6 ใน 100 ส่วน เป็นการขัดหรือฝ่าฝืนข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครดังกล่าว ต่อมาวันที่18 พฤศจิกายน 2528 นายวิจิตร จรูญธรรม ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตพระโขนง รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการเขตพระโขนงปฏิบัติราชการแทนโจทก์ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ออกคำสั่งให้จำเลยระงับการก่อสร้างดัดแปลงอาคารซึ่งจำเลยทราบโดยชอบแล้วและได้ออกคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารโดยให้รื้อถอนอาคาร ค.ส.ล.สูง 4 ชั้น และชั้นเดียวขนาด 4.00 x 4.00 เมตร จำนวน1 หลัง และขนาด 4.00 x 3.00 เมตร จำนวน 1 หลังให้เสร็จภายใน 30 วัน จำเลยได้รับทราบโดยชอบแล้วแต่จำเลยเพิกเฉยและไม่ได้ใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์โจทก์เห็นว่าจำเลยกระทำความผิดฐานทำการดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 มาตรา 22, 65, 69, 71 จึงแจ้งให้สารวัตรใหญ่สถานีตำรวจนครบาลบางนาดำเนินคดีแก่จำเลยจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลอาญาได้พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 3 เดือน และปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษมีกำหนด 2 ปี เนื่องจากคำสั่งของโจทก์ที่สั่งให้จำเลยระงับการก่อสร้างดัดแปลงอาคารฉบับลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2528 และคำสั่งให้รื้อถอนอาคารฉบับลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2528 ได้ระบุบ้านเลขที่ที่สั่งให้ระงับการก่อสร้างดัดแปลงอาคารและรื้อถอนเป็นบ้านเลขที่ 94/6 ซึ่งความจริงบ้านที่เกิดเหตุเป็นบ้านเลขที่ 94/5 นายปรีชา โกศลผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตรักษาการแทนผู้อำนวยการเขตพระโขนง ปฏิบัติราชการแทนโจทก์ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นจึงได้ออกคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างดัดแปลงฉบับลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2530และคำสั่งให้รื้อถอนอาคารฉบับลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2530ถึงจำเลยใหม่อีกครั้งหนึ่งให้จำเลยระงับการก่อสร้างและให้รื้อถอนอาคารที่ทำการต่อเติม จำเลยได้รับคำสั่งทั้งสองฉบับโดยชอบแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยและมิได้ใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ การกระทำของ จำเลยที่ทำการดัดแปลงอาคารต่อเติมจากอาคารเดิมโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการกระทำที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคารพ.ศ. 2522 ข้อ 76(1)(4) ได้ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างดัดแปลงเพิ่มเติมขึ้นใหม่ทั้งหมดคือรื้อถอนอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กขนาด 4.00 x 4.00 เมตรสูง 4 ชั้น ซึ่งก่อสร้างต่อเติมติดหรือเชื่อมกับอาคารเดิมและต่อเติมอาคารด้านหลังชั้นที่ 1 ออกไปอีก 12 เมตรและทำเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียวขนาด4.00 x 3.00 เมตร ถ้าจำเลยไม่ยอมรื้อถอนให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนได้เองโดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย การมอบอำนาจของโจทก์ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ไม่สมบูรณ์เพราะเอกสารดังกล่าวเป็นเพียงคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดที่สั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติงานราชการเท่านั้น ไม่ใช่หนังสือมอบอำนาจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คำสั่งต่าง ๆ ในคดีนี้ที่ออกโดยเจ้าหน้าที่เขตที่ไม่มีอำนาจจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายการต่อเติมอาคารตามฟ้องนั้น ได้มีการปลูกสร้างตั้งแต่ปี2521 และแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2522 ก่อนที่พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 จะใช้บังคับโจทก์จึงไม่มีอำนาจสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เพราะเป็นกฎหมายย้อนหลังที่มีผลเสียหายแก่จำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ไม่มีอำนาจสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารส่วนที่ต่อเติมได้ เนื่องจากอาคารที่ต่อเติมได้สร้างอย่างมั่นคงแข็งแรงและมีความปลอดภัยปราศจากภยันตรายต่อร่างกาย ชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งจำเลยและครอบครัวใช้อยู่อาศัยมานาน 10 ปีแล้ว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์ได้ออกคำสั่งให้จำเลยระงับการก่อสร้างและให้รื้อถอนอาคารเกินกว่า 30 วัน นับแต่ที่โจทก์ตรวจพบในวันที่ 28 มิถุนายน 2528 อาคารพิพาทสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครได้กล่าวคือ อาคารพิพาทส่วนที่เป็นอาคารชั้นเดียวขนาด3.00 x 3.65 เมตร ซึ่งเป็นห้องครัวขนาดเล็กปลูกเป็นหลังเดี่ยว ไม่ได้เชื่อมกับตัวอาคารใดที่ติดกับทางเดินหลังอาคารกว้าง 1.93 เมตร หากทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงด้วยการรื้อถอนอาคารชั้นเดียวนี้ออก ที่ว่างจะเพิ่มขึ้น 10.95ตารางเมตร รวมที่ว่างทั้งหมด 41.845 ตารางเมตรหรือ 36.073 ใน 100 ส่วน ของพื้นที่ซึ่งถูกต้องตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ข้อ 76(1) และยังเป็นผลให้ที่ว่างอันปราศจากสิ่งปกคลุมเป็นทางเดินหลังอาคารได้ถึงกันจากความกว้างเดิม 1.93 เมตร เป็นกว้าง4.93 เมตร ซึ่งถูกต้องตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครข้อ 76(4) อีกด้วย กรณีจึงเป็นเรื่องการก่อสร้างขัดต่อบัญญัติกรุงเทพมหานครบางส่วนและสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ โจทก์จึงมีอำนาจเพียงให้จำเลยรื้อถอนเฉพาะส่วนที่เห็นสมควร คืออาคารชั้นเดียวดังกล่าวแล้วมิใช่ให้รื้อถอนอาคารทั้งหมด ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 43 วรรคหนึ่งเมื่อโจทก์ไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนตามกฎหมายโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรื้อถอนอาคาร ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยรื้อถอนอาคารชั้นเดียว ขนาด 4.00 x 4.00 เมตร และขนาด4.00 x 3.00 เมตร ซึ่งหลังคาเชื่อมกับอาคาร 4 ชั้นถ้าจำเลยไม่รื้อถอนก็ให้โจทก์รื้อถอนได้เองโดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฎีกาขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กขนาด 4.00 x 4.00 เมตรสูง 4 ชั้น ซึ่งก่อสร้างต่อเติมติดหรือเชื่อมกับอาคารเดิมเพราะเป็นกรณีไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ ส่วนจำเลยฎีกาขอให้ยกฟ้องเพราะอาคารชั้นเดียวเป็นกรณีที่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ ข้อนี้นายสรี วัฒนเดชาหาญพยานโจทก์เบิกความว่า ได้ไปตรวจอาคารของจำเลยพบว่าจำเลยได้ต่อเติมอาคารด้านหลังยาวออกไป 4.00 เมตรสูง 4 ชั้น และสร้างหลังคาทางเดินเชื่อมกับอาคารชั้นเดียวซึ่งอยู่ด้านหลังสอบถามจำเลยแล้วบอกว่าทำการก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาต และขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคารพ.ศ. 2522 ข้อ 76(1) เพราะบ้านพักอาศัยต้องมีที่ว่าง30 ใน 100 ส่วนของพื้นที่แต่ที่ว่างของที่ดินจำเลยมีพื้นที่เพียง 26.6 ใน 100 ส่วน รายละเอียดปรากฏตามเอกสารหมาย ล.2 ส่วนที่ขัดกับข้อ 76(4) เนื่องจากที่ว่างเป็นทางเดินด้านหลังอาคารซึ่งปราศจากสิ่งปกคลุมมีน้อยกว่า 2.00 เมตร เพราะมีเพียง1.93 เมตร ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.18 อาคารชั้นเดียวที่ก่อสร้างต่อเติมขึ้นใหม่ซึ่งอยู่ด้านหลังใช้เป็นห้องครัวมีเนื้อที่ประมาณ 12.00 ตารางเมตร ขนาด 3.00 x 4.00 เมตรหากรื้อถอนอาคารชั้นเดียวนี้ออกไปจะมีที่ว่างเป็นทางเดินด้านหลังอาคารที่ปราศจากสิ่งปกคลุมกว้างเกินกว่า2.00 เมตร และพื้นที่ที่ว่างก็จะมีจำนวนเกินกว่า 30ใน 100 ส่วน เมื่อรื้อถอนอาคารหลังเดียวนี้ออกแล้วก็จะไม่ขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ข้อ 76(1)(4) ทางสำนักงานเขตพระโขนงน่าที่จะสั่งให้รื้อเฉพาะอาคารชั้นเดียวเนื้อที่ 12.00 ตารางเมตรนี้ได้ จำเลยเบิกความแต่เพียงว่าอาคารพิพาทสามารถแก้ไขให้ถูกต้องตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครได้ โดยรื้อกันสาดที่ห้องครัวทิ้งส่วนเนื้อที่ว่างของอาคารจำเลยยอมรับว่าขณะนี้มีจำนวนเพียง 26.6 เปอร์เซ็นต์ ตามเอกสารหมาย ล.2ดังที่พยานโจทก์ปากนายเสรีเบิกความจริงข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า อาคารชั้นเดียวขนาด 4.00 x 3.00 เมตร ขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคารพ.ศ. 2522 ข้อ 76(1) ซึ่งเป็นกรณีไม่สามารถแก้ไขให้ถูกต้องตามข้อบัญญัติดังกล่าวได้ที่จำเลยฎีกาว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์หมาย ล.4 ระบุว่าอาคารนี้สร้างมาก่อนข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครโดยมีแนวอาคารและระยะไม่ขัดต่อข้อบัญญัติดังกล่าว จึงไม่ต้องห้ามต่อเติมนั้น เห็นว่า คำวินิจฉัยตามเอกสารหมาย ล.4เป็นคำวินิจฉัยเกี่ยวกับคำสั่งเจ้าพนักงานที่สั่งให้จำเลยรื้อถอนบันได ค.ส.ล. ชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3พื้น ค.ส.ล. ชั้นที่ 3 พื้นดาดฟ้าชั้นที่ 4 พร้อมถังเก็บน้ำค.ส.ล. ซึ่งเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับคดีนี้ จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้
ส่วนอาคารสูง 4 ชั้น ที่จำเลยต่อเติมนั้น เมื่อรื้ออาคารชั้นเดียวดังวินิจฉัยข้างต้นแล้วก็จะทำให้มีที่ว่างอันปราศจากหลังคาหรือสิ่งปกคลุมเกินกว่า 30 ใน 100 ส่วนของพื้นที่ และยังมีที่ว่างโดยปราศจากสิ่งปกคลุมเป็นทางเดินหลังอาคารได้ถึงกันไม่น้อยกว่า 2.00 เมตรซึ่งจะไม่ขัดข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ข้อ 76(1)(4)ดังนั้นการที่จำเลยก่อสร้างต่อเติมอาคารสูง 4 ชั้นจึงเป็นกรณีที่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ซึ่งโจทก์มีอำนาจสั่งให้จำเลยยื่นคำขอใบรับอนุญาตตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522มาตรา 43
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยรื้อถอนอาคารชั้นเดียวขนาด 4.00 x 4.00 เมตร ด้วยนั้น ปรากฏว่าอาคารดังกล่าวโจทก์มิได้ ขอให้รื้อถอนและไม่มีอาคารดังกล่าวอยู่ในที่ดินของจำเลย ที่โจทก์บรรยายฟ้องถึงอาคารดังกล่าวมาเป็นการบรรยายโดยสับสน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้รื้อถอนอาคารดังกล่าวด้วยจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้จำเลยรื้อถอนอาคารชั้นเดียวขนาด 4.00 x 4.00 เมตร นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share