แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ทรัพย์สินที่จะต้องริบตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 30 ต้องเป็นทรัพย์สินที่ถูกนำมาใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและจากนิยามความหมายของคำว่า “ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด” ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 หมายความว่า การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติด อาวุธปืนไม่ใช่เป็นทรัพย์ที่ถูกนำมาใช้ในการผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดหรือใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลหรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์ที่ไม่อาจริบได้
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2540 เวลากลางคืนหลังเที่ยง นายพิทักษ์ ด้วงช้าง กับพวกซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายได้ร่วมกันทำการจับกุมนายสมาน เสาร์เพ็ชร พร้อมด้วยเมทแอมเฟตามีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 17,505 เม็ด น้ำหนัก 1,555,460 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 488.834 กรัม และอาวุธปืนพกออโตเมติก (NORINCO) ขนาด 9 มม. PARABELLUM (LUGER) หมายเลขทะเบียน รบ. 7/5364 จำนวน 1 กระบอก กระสุนปืนออโตเมติก ขนาด 9 มม. (LUGER) จำนวน 9 นัด (ซึ่งกระสุนปืนของกลางทดลองยิงหมด) พร้อมซองบรรจุกระสุน จำนวน 1 ซอง ซึ่งจำเลยมีไว้เพื่อใช้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเป็นของกลาง ต่อมาวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2541 ผู้ร้องได้ฟ้องนายสมาน เสาร์เพ็ชร เป็นจำเลยฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เป็นเจ้าพนักงานกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต และต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยมีอาวุธปืน เป็นคดีหมายเลขดำที่ 616/2541 ของศาลชั้นต้นโดยอาวุธปืนและซองบรรจุกระสุนของกลางดังกล่าวเป็นเครื่องมือที่จำเลยมีไว้เพื่อความสะดวกในการคุ้มครองและสามารถใช้ทำร้ายผู้อื่นได้ในขณะที่จำเลยกับพวกลำเลียงเมทแอมเฟตามีนมาเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย อันเป็นการใช้อุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ขอให้ริบทรัพย์สินดังกล่าวให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 30, 31
พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันที่มีจำหน่ายแพร่หลายสองวันติดต่อกันเพื่อให้บุคคลซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินยื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีตามกฎหมายแล้ว
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านว่า คำร้องของผู้ร้องคลุมเครือ ส่วนอาวุธปืนดังกล่าวผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านมีหน้าที่ต้องรักษาความสงบเรียบร้อยในหมู่บ้าน ตำบล ทางสาธารณะ จึงต้องมีไว้เพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ผู้คัดค้านมิได้มีอาวุธไว้เพื่อความสะดวกในการคุ้มครองหรือใช้ทำร้ายร่างกายหรือเพื่อจำหน่ายยาเสพติดและไม่ได้ใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จึงขอให้ยกคำร้อง คืนอาวุธปืน กระสุนปืนและซองกระสุนปืนให้แก่ผู้คัดค้าน
ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้ว มีคำสั่งว่าให้ริบอาวุธปืน ยี่ห้อนอรินโก ขนาด 9 มิลลิเมตร หมายเลขทะเบียน รบ. 7/5364 จำนวน 1 กระบอกของกลาง ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 30, 31 คำขออื่นให้ยก
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุคดีนี้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมผู้คัดค้านได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนจำนวน 17,505 เม็ด และอาวุธปืนพกออโตเมติก ขนาด 9 มม. หมายเลขทะเบียน รบ. 7/5364 จำนวน 1 กระบอก กระสุนปืนออโตเมติก ขนาด 9 มม. จำนวน 9 นัด ซึ่งใช้ทดลองยิงหมด ซองกระสุน 1 ซอง ของกลาง ชั้นจับกุมแจ้งข้อหาผู้คัดค้านว่ามีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติการตามหน้าที่ และพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านว่าอาวุธปืนของกลางเป็นทรัพย์อันพึงริบได้ ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2543 มาตรา 30 หรือไม่ เห็นว่า ทรัพย์สินที่จะต้องริบตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ มาตรา 30 นั้น ต้องเป็นทรัพย์สินที่ถูกนำมาใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และจากนิยามความหมายของคำว่า “ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด” ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 หมายความว่า การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติด… อาวุธปืนไม่ใช่เป็นทรัพย์ที่ถูกนำมาใช้ในการผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดหรือใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลหรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์ที่ไม่อาจริบได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้อง และให้คืนอาวุธปืนและซองบรรจุกระสุนปืนของกลางแก่เจ้าของ