คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5350/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้จำนวน 277,000 บาทตามเอกสารสัญญากู้ยืมเงิน จำเลยให้การว่าโจทก์จะซื้อที่ดินจากจำเลย ได้วางเงินมัดจำ 277,000 บาท แก่จำเลยเอกสารสัญญากู้ยืมเงินไม่ใช่หลักฐานการกู้เงิน จำเลยจึงนำสืบข้อเท็จจริงตามคำให้การได้ว่าเงินตามที่ระบุไว้ในเอกสารดังกล่าว เป็นเงินมัดจำที่โจทก์วางไว้แก่จำเลยเพราะเป็นการนำสืบถึงความไม่มีมูลหนี้ที่จำเลยต้องรับผิดหรืออีกนัยหนึ่งหนี้ที่ระบุในสัญญากู้ไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคท้าย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้เงินโจทก์ 16 ครั้ง รวมเป็นเงิน277,000 บาท จำเลยตกลงจะชำระคืนเมื่อจำเลยหาที่ดินมาขายให้โจทก์ โดยหักเอาจากราคาที่ดิน จำเลยไม่นำที่ดินมาขายให้โจทก์โจทก์ทวงถาม จำเลยเพิกเฉย โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันรับเงินกู้แต่ละครั้ง ถึงวันฟ้องเป็นเงิน203,917.44 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน480,917.44 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 277,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์จะซื้อที่ดินจากจำเลยจำนวน 350 แปลงวางเงินมัดจำไว้จำนวน 277,000 บาท หลักฐานที่โจทก์นำมาฟ้องไม่ใช่หลักฐานการกู้ยืม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์จะฟ้องคดีใหม่ภายในอายุความ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 94 ตำบลประเวศ (คลองประเวศฝั่งใต้)อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร จำเลยจัดสรรแบ่งเป็นแปลงย่อย390 แปลง ขายไปแล้ว 23 แปลง โจทก์ตกลงจะซื้อที่ดินแปลงที่เหลือทั้งหมดในราคา 6,000,000 บาท แต่ยังไม่ได้ทำสัญญาจะซื้อขายเป็นหนังสือต่อกันเนื่องจากไม่ได้ระบุวันรับโอนที่ดินนั้นเพราะโจทก์จะต้องเสนอโครงการเพื่อกู้เงินต่อทางธนาคารก่อนระหว่างนั้นจำเลยได้รับเงินไปจากโจทก์รวม 16 ครั้ง โดยทำบันทึกการเงินไว้ตามเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.9 รวมเป็นเงิน277,000 บาท มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าเงินจำนวน 277,000 บาท นั้นเป็นเงินที่จำเลยกู้ไปจากโจทก์หรือไม่จำเลยเบิกความว่า ในวันที่จำเลยมอบสำเนาโฉนดที่ดินและแผนผังการจัดสรรที่ดินให้โจทก์ โจทก์วางเงินมัดจำไว้ 40,000 บาทเพื่อไม่ให้จำเลยขายที่ดินแก่ผู้อื่น โดยขอเวลา 7 วัน จะมาทำสัญญากัน แต่เมื่อครบกำหนดโจทก์แจ้งว่าตรวจสอบหลักฐานไม่เสร็จขอให้ระงับการขายต่อไปอีก 2 สัปดาห์ และวางเงินมัดจำให้แก่จำเลยไว้อีก 50,000 บาท แต่ก็ยังไม่อาจทำสัญญากันได้ โดยโจทก์อ้างว่าหลักฐานไม่พร้อมและขอผัดผ่อนอีกหลายครั้ง แต่ละครั้งก็วางเงินมัดจำและทำบันทึกการรับเงินไว้ จนครั้งสุดท้ายจำเลยให้โอกาสเป็นเวลา 1 เดือน แต่โจทก์ก็มิได้มารับโอนที่ดินตามกำหนดจำเลยจึงได้ขายที่ดินดังกล่าวแก่ผู้อื่นไป ส่วนโจทก์เบิกความยืนยันว่า ตามเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.9 มีข้อความระบุชัดแจ้งว่าเป็นการยืมเงินกัน หาได้ระบุว่าเงินมัดจำไม่ เห็นว่า การที่จำเลยรับเงินจากโจทก์ตามหลักฐานเอกสารหมาย จ.11 ถึง จ.9เป็นช่วงระยะเวลาที่โจทก์จำเลยเจรจาตกลงจะซื้อที่ดิน แต่เนื่องจากโจทก์จะต้องขอกู้เงินจากธนาคารมาซื้อซึ่งตามปกติต้องใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ที่ดินของจำเลยมีจำนวน 355 แปลง ราคาที่จะซื้อขายเป็นเงินถึง 6,000,000 บาท ย่อมไม่มีเหตุใดที่จำเลยจะยอมผูกพันต่อโจทก์ไม่ขายที่ดินดังกล่าวแก่บุคคลอื่น โดยไม่ได้ทำหลักฐานหรือหนังสือสัญญาจะซื้อขายไว้ต่อกันอันเป็นการผิดวิสัยที่จำเลยจะยอมเสียประโยชน์แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่มีสิ่งใดตอบแทนหรือเป็นหลักประกันจากโจทก์เลย และตามเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.9ซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นหลักฐานที่จำเลยกู้เงินโจทก์รวม 16 ครั้งแต่ละครั้งมีจำนวนตั้งแต่ 1,000 บาท ไปจนถึง 56,000 บาทและเป็นระยะที่อยู่ระหว่างรอการอนุมัติของธนาคารตามที่โจทก์อ้างซึ่งสอดคล้องกับทางนำสืบของจำเลยยิ่งกว่าข้อนำสืบของโจทก์แม้เอกสารการรับเงินไปจะระบุว่าเป็นการกู้เงิน แต่มีข้อตกลงในการชำระเงินคือเมื่อซื้อขายที่ดินกันแล้วจึงจะหักเงินจำนวนที่รับไปนั้น อันแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งถึงเจตนาของโจทก์และจำเลย ว่าโจทก์มอบเงินแก่จำเลยไว้เนื่องจากข้อตกลงที่จะซื้อขายที่ดินกันนั่นเอง ถือได้ว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินมัดจำตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 377 มิใช่เป็นการกู้ยืมดังที่โจทก์ฟ้องว่า ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์จำเลยยังมิได้ทำสัญญาซื้อขายกันเงินดังกล่าวย่อมไม่เป็นมัดจำนั้น เห็นว่าโจทก์จำเลยต่างรับกันว่าโจทก์ตกลงจะซื้อที่ดินของจำเลยจำนวน355 แปลง อันเป็นจำนวนที่แน่นอนในราคา 6,000,000 บาทเช่นนี้ย่อมเป็นเจตนาของโจทก์จำเลยที่จะก่อให้เกิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินต่อกันแล้ว แต่เนื่องจากฝ่ายโจทก์ยังจะต้องรอการอนุมัติเงินกู้จากทางธนาคารก่อนซึ่งยังไม่แน่นอนว่าเป็นเมื่อใดจึงกำหนดวันโอนที่ดินและชำระราคากันไม่ได้และไม่ได้ทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ ฉะนั้น เงินที่มอบไว้ต่อกันย่อมเป็นมัดจำที่ผูกพันคู่กรณีให้ฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ ข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยหาใช่เป็นเพียงคำมั่นว่าจะซื้อขายที่ดินดังที่โจทก์อ้างไม่
ข้อที่โจทก์ฎีกาว่า เอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.9 ระบุไว้ชัดแจ้งว่าเป็นการกู้เงิน จำเลยนำสืบพยานบุคคลว่าเป็นการวางเงินมัดจำไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 นั้นเห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้จำนวน 277,000 บาทตามเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.9 จำเลยให้การว่าโจทก์จะซื้อที่ดินจากจำเลยได้วางเงินมัดจำ 277,000 บาท แก่จำเลย เอกสารหมาย จ.1ถึง จ.9 ไม่ใช่หลักฐานการกู้เงิน จำเลยจึงนำสืบข้อเท็จจริงตามคำให้การได้ว่าเงินตามที่ระบุไว้ในเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.9เป็นเงินมัดจำที่โจทก์วางไว้แก่จำเลย เพราะเป็นการนำสืบถึงความไม่มีมูลหนี้ที่จำเลยต้องรับผิดหรืออีกนัยหนึ่งหนี้ที่ระบุไว้ในสัญญากู้ไม่สมบูรณ์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94 วรรคท้าย ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share