คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3523/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

องค์ประกอบความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362 นั้น ผู้กระทำผิดต้องเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์การที่จำเลยทั้งสองใช้ขวดขว้างและใช้มีดฟันประตูห้องพักผู้เสียหายทั้งสอง กับได้เรียกผู้เสียหายทั้งสองออกมาพูดคุยและขู่จะฆ่าผู้เสียหายทั้งสอง โดยที่จำเลยทั้งสองไม่ได้เข้าไปในห้องพักของผู้เสียหายทั้งสองจึงขาดองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 จำเลยทั้งสองไม่มีความผิดฐานบุกรุก องค์ประกอบความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 นั้น ต้องกระทำต่อทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย คำว่า”ทรัพย์ของผู้อื่น” ย่อมหมายความรวมถึงบุคคลที่ได้รับมอบหมายโดยตรงจากเจ้าของทรัพย์ให้เป็นผู้ครอบครองดูแลรักษาทรัพย์นั้น พ.กับธ. เป็นลูกจ้างของบริษัท บ.โดยบริษัทดังกล่าวจัดให้บุคคลทั้งสองพักอยู่ที่หอพักคนงานซึ่งทำให้ พ.และธ. มีเพียงใดใช้สิทธิอาศัยอยู่ในห้องพักเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าบริษัท บ. ซึ่งเป็นเจ้าของห้องพักได้มอบหมายโดยตรงให้ พ.และธ. เป็นผู้ครอบครองดูแลรักษาทรัพย์ดังกล่าวโดยอาศัยสิทธิของเจ้าของทรัพย์นั้น พ.และธ. จึงมิใช่ผู้เสียหาย เมื่อบริษัท บ. ซึ่งเป็นผู้เสียหายที่แท้จริงไม่ได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อ พนักงานสอบสวนไว้พนักงานสอบสวนย่อมไม่มีอำนาจสอบสวนใน ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้และ พนักงานอัยการไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องในข้อหาฐานทำให้ เสียทรัพย์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 358, 365
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, 365(2)(3), 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานบุกรุกเคหสถานซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุกคนละ 1 ปี
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า นางไพเราะ รักน้อย และนางสาวธิดารัตน์ รักน้อยผู้เสียหายทั้งสองพักอาศัยอยู่ที่ห้องพักเดียวกันในหอพักคนงานของโรงงานบริษัทบุญยภัทรเท็กซ์ไทล์การทอ จำกัด จำเลยที่ 1มีห้องพักอยู่ตรงกันข้ามกับห้องพักของผู้เสียหายทั้งสองส่วนจำเลยที่ 2 มีห้องพักอยู่ที่หอพักอีกหลังหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้กันปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืนตามฟ้องหรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่าความผิดฐานบุกรุกผู้กระทำผิดไม่จำต้องเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ทั้งตัวแต่หมายความรวมถึงการกระทำใด ๆ โดยไม่มีเหตุอันสมควรอันเป็นการรบกวนสิทธิในการครอบครองของเขาโดยปกติสุข การที่จำเลยทั้งสองใช้มีดดาบฟันและใช้ขวดขว้างประตูห้องพักของผู้เสียหายทั้งสองก็ถือได้ว่า จำเลยทั้งสองมีเจตนารบกวนสิทธิโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรของผู้เสียหายทั้งสองเป็นความผิดฐานบุกรุกแล้วนั้นเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 ได้บัญญัติถึงความผิดข้อหาฐานบุกรุกว่า “ผู้ใดเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือบางส่วนหรือเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุข” จะเห็นได้ว่าองค์ประกอบความผิดฐานบุกรุกผู้กระทำผิดต้องเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ เพื่อถือการครอบครองหรือเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุข แต่คดีนี้ข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของโจทก์ฟังได้ว่า ในคืนเกิดเหตุจำเลยทั้งสองใช้ขวดข้วางและใช้มีดฟันประตูห้องพักผู้เสียหายทั้งสอง กับได้เรียกผู้เสียหายทั้งสองออกมาพูดคุยและขู่จะฆ่าผู้เสียหายทั้งสองโดยที่จำเลยทั้งสองไม่ได้เข้าไปในห้องพักของผู้เสียหายทั้งสองและผู้เสียหายทั้งสองก็ไม่ได้เปิดประตูห้องมาพูดคุยกับจำเลยทั้งสอง เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ได้เข้าไปในห้องพักเกิดเหตุ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงขาดองค์ประกอบความผิดฐานบุกรุก ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362 จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานบุกรุกตามฟ้อง
โจทก์ฎีกาข้อสุดท้ายว่า จำเลยทั้งสองกระทำผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ เพราะผู้ครอบครองดูแลทรัพย์ใดก็ถือว่าเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ได้ คดีนี้ผู้เสียหายทั้งสองเป็นคนงานทอผ้าของบริษัทบุญยภัทรเท็กซ์ไทล์การทอ จำกัด และได้รับอนุญาตจากบริษัทดังกล่าวให้เข้าพักอาศัยในห้องพักของคนงานได้ถือว่าบริษัทได้มอบการครอบครองดูแลให้แก่ผู้เสียหายทั้งสองแล้วเมื่อผู้เสียหายทั้งสองได้ร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจให้ดำเนินคดีกับจำเลยทั้งสองแล้ว การสอบสวนของพนักงานสอบสวนจึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358ได้บัญญัติถึงความผิดข้อหาฐานทำให้เสียทรัพย์ว่า”ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์” จะเห็นได้ว่า องค์ประกอบความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์นั้น ต้องกระทำต่อทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยคำว่า “ทรัพย์ของผู้อื่น”นั้น ย่อมหมายความรวมถึงบุคคลที่ได้รับมอบหมายโดยตรงจากเจ้าของทรัพย์ให้เป็นผู้ครอบครองดูแลรักษาทรัพย์นั้น ดังเช่นผู้เช่าทรัพย์คดีนี้ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์และจำเลยทั้งสองนำสืบรับกันฟังได้ว่า ผู้เสียหายทั้งสองเป็นลูกจ้างของบริษัทบุญยภัทรเท็กซ์ไทล์การทอ จำกัด โดยบริษัทดังกล่าวจัดให้ผู้เสียหายทั้งสองพักอยู่ที่หอพักคนงานของโรงงานของบริษัทดังกล่าวแม้ผู้เสียหายทั้งสองจะได้พักอาศัยอยู่ในห้องพักเกิดเหตุก็เพียงใช้สิทธิอาศัยอยู่ในห้องพักเท่านั้น ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าบริษัทบุญยภัทรเท็กซ์ไทล์การทอ จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของหอพักได้มอบหมายโดยตรงให้ผู้เสียหายทั้งสองเป็นผู้ครอบครองดูแลรักษาทรัพย์ดังกล่าวได้โดยอาศัยสิทธิของเจ้าของทรัพย์นั้นนางไพเราะ รักน้อยและนางสาวธิดารัตน์ รักน้อยจึงมิใช่ผู้เสียหาย เมื่อปรากฏว่าบริษัทบุญภัทรเท็กซ์ไทล์กการทอ จำกัดซึ่งเป็นผู้เสียหายที่แท้จริงไม่ได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนไว้ พนักงานสอบสวนย่อมไม่มีอำนาจสอบสวนในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้และพนักงานอัยการไม่มีสิทธินำคดีนี้มาฟ้องในข้อหาฐานทำให้เสียทรัพย์ได้ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าการสอบสวนในข้อหาความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 121 วรรคสอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องในข้อหาความผิดฐานนี้ตามมาตรา 120 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share