คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3523/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ซื้อกระบือเพื่อนำไปฆ่าทำลูกชิ้น ไม่เป็นการซื้อขายสัตว์พาหนะซึ่งต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนตาม ป.พ.พ.มาตรา 456 วรรคหนึ่ง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามได้ซื้อกระบือของโจทก์ไปจำนวน 6 ตัวรวมเป็นเงิน 43,200 บาท จำเลยทั้งสามสัญญาว่าจะนำเงินค่ากระบือมาชำระให้โจทก์ภายในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2529 เมื่อถึงกำหนดจำเลยทั้งสามไม่ชำระขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 43,200บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่เคยซื้อกระบือตามที่โจทก์ฟ้อง การซื้อขายไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงเป็นโมฆะ ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า เคยซื้อกระบือจากโจทก์ 2 ตัว ราคาตัวละ5,000 บาท และได้ชำระราคาให้โจทก์แล้วเป็นเงิน 5,000 บาท ยังคงค้างชำระเพียง 5,000 บาท โดยตกลงจะชำระภายในต้นปี 2530ขณะที่โจทก์ฟ้องจึงยังไม่ถึงกำหนด สัญญาซื้อขายเป็นโมฆะ และฟ้องโจทก์เป็นฟ้องเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงินจำนวน 43,200บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2529 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จ
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า สัญญาซื้อขายกระบือตามฟ้องโจทก์เป็นการซื้อขายสัตว์พาหนะ เมื่อไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่น ๆ พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว พยานหลักฐานโจทก์มีตัวโจทก์เบิกความว่า โจทก์ได้ขายกระบือตามฟ้อง 6 ตัว ให้จำเลยที่ 2และที่ 3 โดยนำกระบือไปส่งมอบให้ที่บ้านจำเลยที่ 1 และไปเก็บเงินค่ากระบือพร้อมกับนายสีไพ ศิริเทพ แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้ อ้างว่าได้ให้เงินค่ากระบือแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไปแล้วโจทก์ยังมีนายสีไพศิริเทพ เป็นพยานเบิกความว่า พยานรู้จักจำเลยทั้งสาม พยานเคยขายกระบือให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 เพื่อนำไปฆ่าทำลูกชิ้นที่โรงงานของจำเลยที่ 1 ประมาณ 10 ครั้ง เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2529จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไปซื้อกระบือจากพยาน 12 ตัว และซื้อกระบือจากโจทก์ 6 ตัว โจทก์นำกระบือไปส่งให้จำเลยที่ 1 ในวันที่ 11เดือนดังกล่าว ส่วนพยานนำกระบือไปส่งให้จำเลยที่ 1 ในวันที่ 12เดือนเดียวกัน โดยโจทก์ไปด้วยเพื่อเก็บเงินค่ากระบือของโจทก์จากจำเลยที่ 1 พร้อมกัน แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้ นอกจากนี้โจทก์ยังมีนายอนันต์ ศิริเขียว ผู้ใหญ่บ้านเบิกความว่า พยานรู้จักจำเลยที่ 2 และที่ 3 เคยเห็นคนทั้งสองซื้อกระบือจากโจทก์ 3-4 ครั้งและนายทอง หงส์ทอง เบิกความว่า พยานเคยขายกระบือให้จำเลยที่ 2และที่ 3 ประมาณ 20 ครั้ง โดยพยานไปเก็บเงินค่ากระบือที่โรงงานทำลูกชิ้นของจำเลยที่ 1 ได้ทุกครั้งไม่มีปัญหา นอกจากนั้นพยานยังแนะนำให้จำเลยไปซื้อกระบือจากโจทก์และนายสีไพ โจทก์เคยบอกให้พยานทราบว่าเก็บเงินค่ากระบือจากจำเลยที่ 1 ไม่ได้พยานไปสอบถามจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ว่าได้ให้เงินค่ากระบือแก่จำเลยที่ 2 ไปแล้ว เห็นว่า นายสีไพและนายทองเคยขายกระบือให้จำเลยทั้งสามมาก่อนหลายครั้ง พยานทั้งสองเบิกความสอดคล้องต้องกันกับคำเบิกความของโจทก์ โดยเฉพาะค่ากระบือของนายสีไพที่ขายให้จำเลยทั้งสามเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2529 จำเลยทั้งสามไม่ยอมชำระนายสีไพก็ได้ฟ้องจำเลยทั้งสามต่อศาลชั้นต้น แต่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่าการซื้อขายกระบือไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงเป็นโมฆะ ดังปรากฏตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 367/2531 ที่จำเลยทั้งสามแนบมาท้ายอุทธรณ์คดีนี้คำเบิกความของนายสีไพและนายทองมีเหตุผลน่าเชื่อถือ เมื่อรับฟังประกอบคำเบิกความของโจทก์แล้ว พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานจำเลย รับฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2529โจทก์ตกลงขายกระบือ 6 ตัว เป็นเงิน 43,200 บาท ให้จำเลยทั้งสามโดยนำไปส่งมอบให้ที่บ้านของจำเลยที่ 1 ตามฟ้อง แต่จำเลยที่ 1ไม่ชำระค่ากระบือให้โจทก์ ปัญหาต่อไปมีว่า การซื้อขายกระบือตามฟ้องเป็นโมฆะหรือไม่ โจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า กระบือทั้ง6 ตัว ที่ขายให้จำเลยทั้งสามมีตั๋วรูปพรรณแล้ว ดังนี้ กระบือตามฟ้องจึงเป็นสัตว์พาหนะตาม มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติสัตว์พาหนะพ.ศ. 2482 ซึ่งการซื้อขายต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456มิฉะนั้นเป็นโมฆะ แต่คดีนี้โจทก์นำสืบและฎีกาว่าจำเลยทั้งสามได้ซื้อกระบือจากโจทก์เพื่อนำไปฆ่าทำลูกชิ้นที่โรงงานของจำเลยที่ 1โดยมีนายสีไพและนายทองเบิกความว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เคยซื้อกระบือจากพยานไปฆ่าทำลูกชิ้นที่โรงงานทำลูกชิ้นของจำเลยที่ 1โดยเฉพาะนายทองเบิกความว่า เคยไปรับค่ากระบือที่โรงงานทำลูกชิ้นของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 เพียงแต่เบิกความปฏิเสธลอย ๆ ว่าจำเลยที่ 1 ไม่เคยซื้อกระบือจากโจทก์และไม่มีโรงงานทำลูกชิ้นแม้โจทก์จะไม่มีใบอนุญาตประกอบการค้าและใบอนุญาตตั้งโรงงานทำลูกชิ้นของจำเลยที่ 1 มาแสดง คำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวก็มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังว่า จำเลยที่ 1 ซื้อกระบือจากโจทก์ไปฆ่าทำลูกชิ้นการซื้อขายกระบือตามฟ้องจึงไม่เป็นการซื้อขายสัตว์พาหนะซึ่งต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนตามกฎหมาย ไม่เป็นโมฆะ ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น…”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share