แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์มายื่นฟ้องโดยอ้างหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ (ซึ่งโจทก์ทำในเมืองต่างประเทศ) จำเลยคัดค้านไว้ในคำให้การว่า ใบมอบอำนาจนั้นมิใช่ใบมอบอำนาจอันแท้จริง ขอศาลอย่าได้รับฟังใบมอบอำนาจนั้นจนกว่าจะได้มีการปฏิบัติให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 47 เสียก่อน ดังนี้ ถ้าศาลเชื่อตามพยานหลักฐานว่าเป็นใบมอบอำนาจอันแท้จริง ย่อมถือว่าไม่มีเหตุอันควรสงสัยอย่างใดว่าจะมิใช่ใบมอบอำนาจอันแท้จริงดังที่จำเลยคัดค้านอีกแล้ว ศาลไม่จำเป็นต้องสั่งให้ทำใบมอบอำนาจมาใหม่อีก
คำฟ้องที่กล่าวรวมกันมาว่า การโฆษณาของจำเลยทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงเกียรติคุณ ทางเจริญและทางทำมาหาได้ นั้น ทำให้เข้าใจชัดแจ้งอยู่แล้วว่าเสียหายอย่างไร ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม
การที่จำเลยไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝืนความจริงว่าโจทก์เป็นผู้ไม่นิยมการปกครองระบอบที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ย่อมทำให้โจทก์ซึ่งเห็นคนไทยคนหนึ่งเป็นที่น่ารังเกียจของประชาชนคนไทยโดยทั่วไป และการไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝืนความจริงว่าโจทก์เป็นคนโลภอำนาจทางการเมืองหรือมักใหญ่ใฝ่สูง ยอมทิ้งตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และกลายเป็นผู้ที่ประชาชนชิงชังจนไม่อาจอยู่ในประเทศไทยได้ดังนี้ ย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายได้แล้ว
โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหาย 100,000 บาทแม้ศาลจะพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพียง 10,000 บาท ศาลจะใช้ดุลพินิจกำหนดให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแก่โจทก์เต็มตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ฟ้องเรียกก็ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์สยามรัฐ จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และเป็นผู้อำนวยการ จำเลยที่ ๓ เป็นบรรณาธิการและผู้พิมพ์ ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ได้ร่วมกันกล่าวและไขข่าวแพร่หลายในบทความต่าง ๆ ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงเกียรติคุณ ทางทำมาหาได้ และทางเจริญของโจทก์ ขอให้พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวนละ ๕๐,๐๐๐ ฯลฯ
จำเลยให้การว่า ใบมอบอำนาจในฟ้องคดีของโจทก์ไม่มีพยานและใบสำคัญรับรองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๔๗ ทั้งโจทก์ก็เป็นคนชรา มีโรคเบียดเบียนอยู่เป็นประจำ ไม่มีใครทราบว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร ไม่อยู่ในวิสัยที่จะทำใบมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้ได้ ขออย่าให้ศาลรับฟังใบมอบอำนาจจนกว่าจะได้มีการปฏิบัติให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๔๗ เสียก่อน จำเลยขอปฏิเสธว่าใบมอบอำนาจที่โจทก์อ้างมิใช่ใบมอบอำนาจที่แท้จริง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะฟ้องรวมกันมาว่า การโฆษณาของจำเลยทำให้เสียชื่อเสียงเกียรติคุณทางเจริญ ทางทำมาหาได้ของโจทก์ โดยไม่ได้แยกแยะให้แน่นอนว่าเสียหายอย่างไร โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายจากการโฆษณาของจำเลย แม้จะเสียหายก็ไม่เท่าจำนวนที่ฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๓ ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์สำนวนละ ๕,๐๐๐ บาท รวม ๑๐,๐๐๐ บาท ฯลฯ ให้จำเลยที่ ๓ ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายแก่โจทก์สำนวนละ ๕๐๐ บาท เกี่ยวกับจำเลยที่ ๑, ๒ ให้ยกฟ้องค่าฤชาธรรมเนียม และค่าทนายนอกจากที่กล่าวแล้ว ให้เป็นพับไป
จำเลยที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ ๓ เสียค่าทนายแก่โจทก์สำนวนละ ๑๒๕ บาท
จำเลยที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฎีกาข้อ ๑ นั้นเห็นว่าศาลจะบังคับให้ปฏิบัติตามประมวลผลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๔๗ วรรค ๓ เกี่ยวกับใบมอบอำนาจที่ยื่นต่อศาลก็ต่อเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าใบมอบอำนาจที่ยื่นนั้นไม่ใช่ใบมอบอำนาจอันแท้จริง ซึ่งอาจเกิดจากศาลมีเหตุอันควรสงสัยเองหรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งยื่นคำร้องแสดงเหตุอันควรสงสัยต่อศาล คดีนี้ แม้จำเลยจะได้คัดค้านไว้ในคำให้การว่าใบมอบอำนาจที่โจทก์อ้างมิใช่ใบมอบอำนาจอันแท้จริง ขออย่าให้ศาลรับฟังใบมอบอำนาจนั้นจนกว่าจะมีการปฏิบัติให้ถูกต้องตามาตรา ๔๗ เสียก่อนก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นทำการพิจารณาแล้วเชื่อพยานหลักฐานตามท้องสำนวนว่าใบมอบอำนาจนี้เป็นใบมอบอำนาจแท้จริง ก็เป็นที่เห็นได้ว่าไม่มีเหตุอันควรสงสัยอย่างใดว่าใบมอบอำนาจนี้จะมิใช่ใบมอบอำนาจที่แท้จริงดังที่จำเลยคัดค้านจึงไม่จำเป็นที่ศาลชั้นต้นจะต้องสั่งให้ทำใบมอบอำนาจมาใหม่อีก
ฎีกาข้อ ๒ นั้น เห็นว่า การที่โจทก์กล่าวฟ้องรวมกันมาว่า การโฆษณาของจำเลยทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงเกียรติคุณ ทางเจริญและทางทำมาหาได้นั้น ทำให้เข้าใจได้ชัดแจ้งอยู่แล้วว่า เสียหายอย่างไร ซึ่งจำเลยก็ได้ให้การได้ถูกต้อง ไม่ได้หลงต่อสู้แต่ประการใด ฟ้องโจทก์หาเป็นฟ้องเคลือบคลุมไม่
ฎีกาข้อ ๓ นั้น เห็นว่า ศาลล่างฟังข้อเท็จจริงมาโดยชอบแล้ว
ฎีกาข้อ ๔ นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ไม่ได้เดินทางไปประเทศรัสเซีย และเมื่อนายควง อภัยวงศ์ ยื่นใบลาออกจากนายกรัฐมนตรีนั้น โจทก์พ้นจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แล้ว ดังนี้ การที่จำเลยที่ ๓ ไขข่าวแพร่หลายตามสำนวนแรกว่าหลังจากโจทก์กลับจากการเยือนสหภาพโซเวียตรัสเซียซึ่งเป็นประเทศหัวหน้าฝ่ายคอมมิวนิสต์แล้วอุดมคติทางการเมืองของโจทก์โน้มเอียงไปในทางระบอบการปกครองที่มีประธานธิบดีเป็นประประมุขยิ่งกว่า การมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ทั้ง ๆ ที่ขณะจำเลยที่ ๓ ไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความนั้นประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเป็นที่เคารพเทอดทูนของประชาชนไทย ข้อความที่โฆษณาไขข่าวแพร่หลายอันฝ่าฝืนต่อความจริงดังกล่าว ย่อมทำให้โจทก์ซึ่งเป็นคนไทยคนหนึ่งเป็นที่น่ารังเกึยจของประชาขนไทยทั่วไป และย่อมได้รับความเสียหายชัดแจ้งแล้ว ส่วนข้อความที่จำเลยที่ ๓ ไขข่าวแพร่หลายในสำนวนหลังนั้น มีความหมายไปในทางที่โจทก์เป็นคนลโมภ โลภ อำนาจทางการเมือง หรือมักใหญ่ใฝ่สูงยอมทิ้งตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและกลายเป็นผู้ที่ประชาชนพารังเกียจจนไม่อาจอยู่ในประเทศไทยได้อันเห็นได้ว่าเป็นข้อความที่ทำให้โจทก์เสียหายโดยไม่มีปัญหา
ฎีกาข้อสุดท้ายนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๖๑ ให้อำนาจศาลใช้ดุลพินิจกำหนดให้คู่ความฝ่ายหนึ่งใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงหรือบางส่วนแทนคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งได้ หาจำกัดว่าต้องกำหนดให้ใช้เพียงตามส่วนแห่งค่าฤชาธรรมเนียมที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งชนะเท่านั้นไม่ ที่ศาลล่างใช้ดุลพินิจกำหนดให้จำเลยที่ ๓ ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแก่โจทก์เต็มตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ฟ้องเรียก จะถือว่าเป็นการไม่ชอบหาได้ไม่
พิพากษายืน