คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 349/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ได้บรรยายฟ้องแจ้งชัดว่าจำเลยออกเช็ค 2 ฉบับเมื่อปรากฏว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามเช็คแต่ละฉบับ ศาลย่อมลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดได้ตาม ป.อ. มาตรา 91 แม้โจทก์ไม่ได้อ้างบทมาตราดังกล่าวมาในคำขอท้ายฟ้อง ก็จะถือว่าศาลลงโทษเกินคำขอหาได้ไม่ ป.วิ.อ. มาตรา 158(6) เพียงแต่บัญญัติให้โจทก์อ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่า การกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดเท่านั้น.
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 กรรมการร่วมกันออกเช็คอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯจำเลยที่ 1 โดย ธ.และร. กรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อผูกพันจำเลยที่ 1 ได้ตั้งทนายความก่อนมีการไต่สวนมูลฟ้อง ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้เข้ามาในคดีนี้แล้ว นับตั้งแต่วันที่ตั้งทนายความ เมื่อจำเลย ที่ 3 ในนามของจำเลยที่ 1และในฐานะส่วนตัวให้การ รับสารภาพโดยจำเลยที่ 3 กับทนายจำเลยผู้นั้นลงลายมือชื่อท้ายคำให้การและรายงานกระบวนพิจารณาการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลที่พิพากษาลงโทษปรับจำเลยที่ 1 จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 172.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยที่ 1 ที่ 3 ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยที่ 2 หลบหนีศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีชั่วคราว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3รวม 2 กระทง ปรับจำเลย ที่ 1 กระทงละ 20,000 บาท รวมเป็นเงิน40,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 3 กระทงละ 1 ปี รวมเป็น 2 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพภายหลังสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้วและจำเลยทั้งสองชำระเงินให้โจทก์เป็นเงิน 30,000 บาท เป็นเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 20,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 3 เหลือ 1 ปี ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับ ให้ยึดทรัพย์สินใช้แทนค่าปรับ
จำเลยที่ 1 ที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1 ที่ 3 ข้อ 2 ว่า คดีนี้โจทก์มิได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยเป็น 2กรรม และโจทก์มิได้อ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 มาในคำขอท้ายฟ้อง การที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยเป็น 2 กรรม จึงเป็นการเกินคำขอขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 นั้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องมาแจ้งชัดว่า จำเลยออกเช็ค2 ฉบับ เมื่อปรากฏว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามเช็คแต่ละฉบับเช่นนี้ ศาลย่อมต้องลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จะถือว่าศาลลงโทษเกินคำขอหาได้ไม่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา158(6) เพียงแต่บัญญัติให้โจทก์อ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดเท่านั้น หาได้บัญญัติให้จำต้องอ้างถึงบทมาตราเกี่ยวกับการลงโทษหลายกรรมด้วยไม่ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 1 ที่ 3 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยที่ 1 ที่ 3 ฎีกาข้อ 3 ว่า ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 เป็นการมิชอบ เพราะจำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้การรับสารภาพนั้น พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในสำนวนได้ความว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบริษัทจำกัดกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการฐานร่วมกันเป็นตัวการออกเช็คพิพาทอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ชั้นไต่สวนมูลฟ้อง จำเลยที่ 1 โดยนายธรรมนูญ กัจฉัปนันท์ และนางสาวเรขากัจฉัปนันท์ กรรมการซึ่งมีอำนาจลงชื่อผูกพันบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ตั้งนายตระกูล บุญปาสาณ เป็นทนายความของจำเลยที่ 1 ปรากฏตามใบแต่งทนายความลงวันที่ 14 ตุลาคม 2528 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 หลบหนี ศาลชั้นต้นจึงออกหมายจับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีชั่วคราวต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ 3 ได้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 3 ขึ้นพิจารณาต่อไป ในวันนัดพร้อมเพื่อกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์ จำเลยที่ 3 ตั้งนายตระกูล บุญปาสาณทนายความของจำเลยที่ 1 เป็นทนายความของจำเลยที่ 3 ด้วย และขอเลื่อนคดีโดยอ้างว่าเอกสารไม่พร้อม ศาลชั้นต้นได้อ่านและอธิบายฟ้องให้ฝ่ายจำเลยฟังและสอบถามคำให้การจำเลยแล้ว จำเลยที่ 3 ในนามของจำเลยที่ 1 และในฐานะส่วนตัวให้การปฏิเสธ ปรากฏตามคำให้การจำเลยลงวันที่ 27 ธันวาคม 2528 ประกอบกับรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ดังกล่าว ในวันนัดสืบพยานโจทก์ครั้งต่อมาโจทก์ จำเลยที่ 3ในนามของจำเลยที่ 1 และในฐานะส่วนตัว กับทนายจำเลยที่ 1 ที่ 3มาศาล เมื่อสืบพยานโจทก์ได้ 1 ปาก จำเลยที่ 3 ในนามของจำเลยที่ 1และในฐานะส่วนตัวขอถอนคำให้การเดิมที่ปฏิเสธฟ้องโจทก์ตลอดข้อหาแล้วให้การใหม่ว่ารับสารภาพตามฟ้อง ปรากฏตามคำให้การจำเลยลงวันที่3 กุมภาพันธ์ 2528 (ที่ถูกเป็น 2529) ประกอบกับรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ดังกล่าว โดยมีจำเลยที่ 3 และทนายจำเลยลงลายมือชื่อท้ายคำให้การและรายงานกระบวนพิจารณา ฝ่ายจำเลยขอให้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาไปหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายขอเลื่อนจากวันที่ 15 ตุลาคม2529 ไปอีกโดยอ้างว่าจำเลยที่ 3 ป่วย ศาลชั้นต้นไม่เชื่อว่าจำเลยที่ 3 ป่วยจริง จึงไม่อนุญาตให้เลื่อน แล้วพิพากษาลงโทษปรับจำเลยที่ 1 ตามคำให้การรับสารภาพดังกล่าวตามข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทจำกัด เป็นนิติบุคคลจึงเป็นเพียงบุคคลสมมุติโดยอำนาจของกฎหมาย ดำเนินหรือปฏิบัติงานตามวัตถุประสงค์ของบริษัทด้วยตนเองไม่ได้ ต้องดำเนินหรือปฏิบัติงานโดยผู้แทนนายธรรมนูญ กัจฉัปนันท์ และนางสาวเรขา กัจฉัปนันท์ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อผูกพันบริษัทจำเลยที่ 1 ตามหนังสือรับรองของสำนักทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครเอกสารหมาย จ.2จึงเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินหรือปฏิบัติงานของบริษัทจำเลยที่ 1ดังนั้นเมื่อนายธรรมนูญ กัจฉัปนันท์ และนางสาวเรขา กัจฉัปนันท์ลงชื่อด้วยกันและประทับตราบริษัทจำเลยที่ 1 ในการตั้งนายตระกูลบุญปาสาณ เป็นทนายความของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ก่อนมีการไต่สวนมูลฟ้องปรากฏตามใบแต่งทนายความ ลงวันที่ 14 ตุลาคา 2528 เช่นนี้จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้เข้ามาในคดีนี้แล้วนับตั้งแต่วันที่ตั้งทนายความเป็นต้นไปและจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพตามฟ้อง ตามคำให้การจำเลยลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2528 (ที่ถูกเป็น 2529) แล้วการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172…”
พิพากษายืน

Share