แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บุคคลใดซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักร อ้างว่าเป็นคนไทยบุคคลนั้นต้องเป็นผู้พิสูจน์ การพิสูจน์นั้นจะกระทำโดยร้องขอพิสูจน์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือร้องขอต่อศาลก็ได้ตามความที่บัญญัติไว้ในมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2493
ได้ความว่า โจทก์เดินทางเข้ามาถึงประเทศไทยได้ 3 วัน ก็ยื่นฟ้องจำเลยซึ่งเป็นกรมตำรวจและหัวหน้ากองตรวจคนเข้าเมือง อ้างว่าโจทก์เป็นคนสัญชาติไทยแต่จำเลยไม่ยอมให้โจทก์อยู่โดยมีคำสั่งให้โจทก์ออกไปจากประเทศไทย โจทก์จึงฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยระงับเพิกถอนคำสั่งและขอให้ศาลสั่งแสดงว่าโจทก์มีสัญชาติไทยตามกฎหมายจำเลยได้ให้การต่อสู้คดีว่า โจทก์ไม่ใช่บุคคลสัญชาติไทยจนศาลได้ทำการพิจารณาคดีมาโดยลำดับดังนี้ แม้จะได้ความว่าเมื่อก่อนที่โจทก์ฟ้องคดีนี้จำเลยยังไม่ได้โต้แย้งสิทธิในเรื่องสัญชาติของโจทก์มาก่อนก็ตามก็เป็นอันผ่านไปได้ เพราะเกิดเป็นประเด็นข้อพิพาทในเรื่องสัญชาติระหว่างคู่ความในคดีแล้ว ศาลพิจารณาพิพากษาประเด็นข้อพิพาทในเรื่องสัญชาติไปได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า นายไซเฮงเป็นบุคคลมีสัญชาติไทยโดยกำเนิดในระหว่าง พ.ศ. 2490 นายตินฮงบิดาได้พาไปเยี่ยมญาติที่ประเทศจีนแล้วให้นายไซเฮงอาศัยอยู่กับญาติที่นั่น ครั้นวันที่ 10 สิงหาคม 2502 ได้เดินทางกลับประเทศไทยโดยขอหนังสือเดินทางในฐานะเป็นคนจีนจากรัฐบาลฮ่องกง เพราะเมื่อตอนออกจากประเทศไทยไปนั้นไม่ได้ขอหนังสือเดินทางไปด้วย เมื่อเข้ามาในประเทศไทยแล้ว นายไซเฮงประสงค์จะอยู่ในประเทศไทย แต่จำเลยไม่ยอมให้อยู่ โดยมีคำสั่งกำหนดให้นายไซเฮงออกไปเสียจากประเทศไทย ขอพิพากษาให้จำเลยเพิกถอนระงับคำสั่งที่ให้นายไซเฮงออกไปจากประเทศไทย และสั่งแสดงว่านายไซเฮงมีสัญชาติไทยตามกฎหมาย
จำเลยให้การต่อสู้ว่า นายไซเฮงไม่ใช่บุคคลสัญชาติไทย และตัดฟ้องว่า นายไซเฮงเดินทางเข้าประเทศไทยโดยตามหลักฐานว่าเป็นบุคคลสัญชาติจีนและได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยชั่วคราวตามกำหนดเวลาตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของนายไซเฮงจะต้องปฏิบัติตามนั้น จำเลยไม่ได้สั่งกำหนดให้นายไซเฮงออกไปจากประเทศไทย จำเลยยังมิได้ออกคำสั่งโต้แย้งสิทธิเรื่องสัญชาติของนายไซเฮงแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้อง
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ข้อตัดฟ้องของจำเลยฟังไม่ขึ้น และไม่เชื่อว่านายไซเฮงเกิดในประเทศไทย พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่าโจทก์มีสัญชาติไทยตามกฎหมายมีสิทธิอยู่ในประเทศไทยได้ต่อไป ส่วนที่โจทก์ขอให้เพิกถอนระงับคำสั่งของจำเลยที่ให้โจทก์ออกไปจากประเทศไทย ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีคำสั่งเช่นนั้น จึงไม่ต้องสั่ง
จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีสิทธินำคดีฟ้องต่อศาล เพราะยังไม่มีผู้ใดกล่าวอ้างโต้แย้งสิทธิ และไม่ควรฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์มีสัญชาติไทย
ศาลฎีกาเห็นว่า ในข้อตัดฟ้องของจำเลยนั้น ได้ความว่า พอโจทก์เดินทางมาถึงประเทศไทยได้ 3 วัน ก็ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ขึ้นมาโดยจำเลยยังไม่ได้กระทำให้กระทบกระเทือนต่อสิทธิของโจทก์อย่างใดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2493 มาตรา 43 บัญญัติความว่าผู้ใดซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรอ้างตนว่าเป็นคนไทย ผู้นั้นต้องพิสูจน์โดยร้องขอพิสูจน์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือร้องขอต่อศาลให้วินิจฉัยก็ได้ เมื่อศาลได้รับคำร้องดังกล่าว ให้ศาลแจ้งแก่พนักงานอัยการซึ่งมีสิทธิที่จะโต้แย้งคัดค้านได้ แต่เนื่องด้วยการฟ้องคดีนี้ โจทก์อ้างว่าจำเลยไม่ยอมให้โจทก์อยู่ โดยมีคำสั่งกำหนดให้โจทก์ออกไปเสียจากประเทศไทย เป็นเหตุให้เข้าใจไปว่าจำเลยได้โต้แย้งสิทธิเรื่องสัญชาติของโจทก์ขึ้นแล้ว ศาลจึงได้ดำเนินการไปอย่างคดีมีข้อพิพาท ซึ่งเมื่อกระทำไปเช่นนั้นแล้ว ฝ่ายจำเลยก็คัดค้านสิทธิสัญชาติของโจทก์ขึ้นต่อสู้คดีจนได้ทำการพิจารณามาโดยลำดับ กรณีเช่นนี้จึงควรที่ให้เป็นอันผ่านไปได้ เพราะเกิดเป็นประเด็นข้อพิพาทขึ้นระหว่างคู่ความแล้ว ตามนัยฎีกาที่ 1129/2496 ซึ่งศาลอุทธรณ์อ้างมา ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงต่อไปว่า โจทก์เป็นคนสัญชาติไทยตามกฎหมายดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาและพิพากษายืน