คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1589/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ทั้งหกสิบสองนัดหยุดงานในวันที่ 6 ตุลาคม 2540 เวลา 8 นาฬิกาเศษ โดยไม่ได้แจ้งเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้าเป็นเวลาอย่างน้อยยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่รับแจ้งตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 34 วรรคท้าย โจทก์ทั้งหกสิบสองก็ระบุในฟ้องอย่างชัดแจ้งว่าได้นัดหยุดงานในวันที่ 6 ตุลาคม 2540เวลา 8 นาฬิกา โดยแจ้งเป็นหนังสือให้จำเลยทราบเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2540เวลา 15 นาฬิกา อันเป็นการแจ้งล่วงหน้าเป็นเวลาไม่ถึงยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่รับแจ้ง ที่โจทก์ทั้งหกสิบสองอุทธรณ์ว่า โจทก์ทั้งหกสิบสองนัดหยุดงานโดยแจ้งเป็นหนังสือให้จำเลยทราบล่วงหน้าเป็นเวลาอย่างน้อยยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่รับแจ้งตามกฎหมายแล้ว เพราะได้ยื่นหนังสือแจ้งนัดหยุดงานต่อนางสาวสายัณห์พนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยในวันที่ 5 ตุลาคม 2540 เวลา 7 นาฬิกาเศษซึ่งแตกต่างจากที่ระบุในฟ้อง อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งหกสิบสองจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ.มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31
การนัดหยุดงานเป็นเรื่องที่ลูกจ้างแต่ละคนซึ่งร่วมในการนัดหยุดงานต่างละทิ้งการงานซึ่งตามปกติตนมีหน้าที่ปฏิบัติ และย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้าง กฎหมายจึงต้องบัญญัติไว้ว่า ลูกจ้างจะนัดหยุดงานได้ต่อเมื่อปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ เมื่อลูกจ้างนัดหยุดงานโดยมิได้แจ้งเป็นหนังสือให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างทราบล่วงหน้าเป็นเวลาอย่างน้อยยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่รับแจ้งตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 34 วรรคท้าย การนัดหยุดงานของลูกจ้างจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ข้ออ้างของลูกจ้างที่ว่าเข้าใจว่าเป็นการนัดหยุดงานโดยชอบด้วยขั้นตอนตามกฎหมายและมิได้มีเจตนาจะฝ่าฝืนกฎหมายถือว่ามีเหตุสมควรตามกฎหมายที่ได้มีการนัดหยุดงานสามวันติดต่อกันจึงรับฟังมิได้
การนัดหยุดงานของลูกจ้างเป็นการละทิ้งหน้าที่อยู่ในตัว เมื่อโจทก์ทั้งหกสิบสองนัดหยุดงานโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันจึงถือได้ว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรด้วย จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกสิบสองโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า

Share