คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3486/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาจำนำสิทธิการรับเงินฝากคืนไม่ใช่เป็นการจำนำตาม ป.พ.พ. มาตรา 747 หากแต่เป็นสัญญาประเภทหนึ่งซึ่งโจทก์และจำเลยที่ 1 ทำลงโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัครมุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล เพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ เมื่อไม่ปรากฏว่ามีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือเป็นการพ้นวิสัยหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแล้วย่อมใช้บังคับได้
การที่จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์กับพวกต่อศาลเพื่อบังคับให้ชำระหนี้และโจทก์กับพวกให้การต่อสู้คดี เมื่อปรากฏว่าศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์กับพวกชำระหนี้แล้ว และในที่สุดศาลฎีกาพิพากษายืนให้โจทก์ชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ผู้เข้าเป็นคู่ความแทน ดังนี้ หนี้ของโจทก์ที่มีต่อจำเลยทั้งสองจึงหาใช่เป็นหนี้ที่มีข้อต่อสู้อันจะไม่สามารถหักกลบลบหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 344 ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 10,147,611.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 9,969,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และร่วมกันชำระค่าเสียหาย 14,714,036.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรก โจทก์จำนำใบรับเงินฝากประจำ และจำนำเงินฝากประจำไว้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อประกันหนี้ที่โจทก์ค้ำประกันหนี้ของบริษัทอีส จีโอ – ซิสเต็มส์ จำกัด หรือไม่ เห็นว่า ตามสำเนาสัญญาจำนำสิทธิการรับเงินฝากคืน ระบุในข้อ 1 และข้อ 2 ไว้ชัดเจนว่า ขอจำนำใบรับเงินฝากประจำ และจำนำสมุดเงินฝากประจำ เพื่อประกันหนี้สินต่าง ๆ ทุกประเภทของผู้จำนำ (โจทก์) ทั้งที่มีอยู่แล้วและจะมีต่อไปในอนาคต เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของบริษัทอีส จีโอ – ซิสเต็มส์ จำกัด ไว้แก่จำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามสำเนาหนังสือสัญญาค้ำประกัน เช่นนี้ถือว่าหนี้ตามสัญญาค้ำประกันอยู่ในความหมายของหนี้สินต่างๆ ทุกประเภทในข้อ 2 ด้วย นอกจากนี้โจทก์เคยมีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 ขอนำเงินฝากประจำตามสมุดเงินฝากประจำเพื่อเป็นประกันหนี้ที่โจทก์ค้ำประกันบริษัทอีส จีโอ – ซิสเต็มส์ จำกัด ยิ่งเป็นข้อสนับสนุนที่โจทก์จำนำใบรับเงินฝากประจำและสมุดเงินฝากประจำเพื่อประกันหนี้ที่โจทก์ค้ำประกันหนี้ของบริษัทอีส จีโอ – ซิสเต็มส์ จำกัด จริง สำหรับหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องที่โจทก์ยกขึ้นต่อสู้ในชั้นฎีกานั้น เป็นหนี้รายอื่นที่ไม่เกี่ยวกับหนี้ที่โจทก์ค้ำประกันบริษัทอีส จีโอ – ซิสเต็มส์ จำกัด แต่ประการใด จึงไม่มีข้อที่จะต้องนำมาพิจารณา ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยประการที่สองว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิถอนเงินจากใบรับเงินฝากประจำ และสมุดเงินฝากประจำเพื่อชำระหนี้ของบริษัทอีส จีโอ – ซิสเต็มส์ จำกัด ที่โจทก์ค้ำประกันหรือไม่ และหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่มีข้อต่อสู้อันต้องห้ามมิให้หักกลบลบหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 344 หรือไม่ เห็นว่า แม้ตามสัญญาจำนำสิทธิการรับเงินฝากคืน จะไม่ใช่จำนำตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 747 ดังที่โจทก์ฎีกา แต่ก็เป็นสัญญาประเภทหนึ่งซึ่งโจทก์และจำเลยที่ 1 ทำลงโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัครมุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลเพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ เมื่อไม่ปรากฏว่ามีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือเป็นการพ้นวิสัยหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแล้วย่อมใช้บังคับได้ เมื่อตามสัญญาดังกล่าว ข้อ 5 และ ข้อ 7 ระบุไว้ชัดเจนว่าให้ผู้รับจำนำ (จำเลยที่ 1) ถอนเงินเพื่อชำระหนี้ของผู้จำนำ (โจทก์) ทั้งไม่ตัดสิทธิผู้รับจำนำ (จำเลยที่ 1) ที่จะใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ประกอบกับตามสำเนารายงานการประชุม โจทก์ก็ยอมรับว่าบริษัทอีส จีโอ – ซิสเต็มส์ จำกัด เป็นหนี้ค้างชำระจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ยอมนำเงินเข้าฝากเพื่อชำระหนี้ ดังนี้ จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิถอนเงินฝากประจำตามบัญชีเงินฝากทั้งสองประเภทดังกล่าวได้ตามสัญญา อนึ่ง แม้จำเลยที่ 1 จะได้ฟ้องโจทก์และบริษัทอีส จีโอ – ซิสเต็มส์ จำกัด กับพวกรวม 4 คน ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางและโจทก์กับบริษัทอีส จีโอ – ซิสเต็มส์ จำกัด กับพวกรวม 4 คนจะให้การต่อสู้คดี แต่ก็ปรากฏว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางก็พิพากษาให้โจทก์ชำระหนี้ซึ่งโจทก์และบริษัทอีส จีโอ – ซิสเต็มส์ จำกัด กับพวกรวม 4 คน จะได้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกาก็ตาม แต่ในที่สุดก็ปรากฏว่าศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาลงวันที่ 6 มีนาคม 2551 ให้โจทก์ชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ผู้เข้าเป็นคู่ความแทน เป็นจำนวน 51,375,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย โดยให้นำเงินจำนวน 34,408,554.79 บาท หักชำระหนี้ก่อนด้วย ปรากฏรายละเอียดตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1156/2551 ดังนี้ หนี้ของโจทก์ที่มีต่อจำเลยทั้งสองจึงหาใช่เป็นหนี้มีข้อต่อสู้อันจะไม่สามารถหักกลบลบหนี้ไม่ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share