คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1237/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีทุกประเด็นแต่ไม่ได้มีคำพิพากษาในคำขอเกี่ยวกับที่ดินที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 โอนคืนให้แก่โจทก์ โจทก์จึงอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์แก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยให้พิพากษาตามคำขอท้ายฟ้องให้ครบทุกข้อ โดยมิได้อุทธรณ์โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์
การบรรยายฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับพินัยกรรมทั้งสองฉบับว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันปลอมพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 2 มีนาคม 2545 และไม่ว่าจะฟังข้อเท็จจริงอย่างไรพินัยกรรมฉบับนี้ก็ถูกเพิกถอนโดยพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 2 เมษายน 2545 เป็นการบรรยายฟ้องตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ซึ่งจำเลยก็เข้าใจสภาพแห่งข้อหาไม่ได้หลงต่อสู้ คำฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม
การห้ามฟ้องบุพการีเป็นบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิจำต้องตีความโดยเคร่งครัดว่า กรณีของผู้สืบสันดานชั้นบุตรหมายถึงบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้นที่ต้องห้ามมิให้ฟ้องบุพการีของตน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1562
ตามฟ้องโจทก์อ้างว่า ผู้ตายลงลายมือชื่อในพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 2 มีนาคม 2545 โดยผู้ตายสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรมซึ่งถือเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมจึงเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 กรณีมิใช่การฟ้องขอให้เพิกถอนข้อกำหนดพินัยกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1710 จึงไม่อยู่ในบังคับกำหนดอายุความตามมาตรา 1710

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้พิพากษาว่าพินัยกรรมของผู้ตายฉบับลงวันที่ 2 มีนาคม 2545 ที่ยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 1 ตกเป็นโมฆะหรือเป็นอันถูกเพิกถอนไปโดยพินัยกรรมของผู้ตายฉบับลงวันที่ 2 เมษายน 2545 ที่ยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่โจทก์ กับให้พิพากษาว่า พินัยกรรมฉบับลงวันที่ 2 เมษายน 2545 เป็นพินัยกรรมที่สมบูรณ์ใช้บังคับได้ตามกฎหมายและโจทก์เป็นผู้มีสิทธิได้รับมรดกตามพินัยกรรม กับห้ามจำเลยทั้งสองไม่ให้ทำการรบกวนสิทธิการครอบครองอาคารและที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย กับขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ 10,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 1 โอนหุ้นของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัทกรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) คืนแก่โจทก์พร้อมดอกผลที่เกิดขึ้นนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 รับโอนไป หากจำเลยที่ 1 ไม่ยอมโอนหุ้นคืนแก่โจทก์ ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ในการรับโอนหุ้นคืนจากบริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด หากไม่สามารถโอนคืนแก่โจทก์ได้ ให้จำเลยทั้งสองใช้ราคาหุ้นจำนวน 29,262,742 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องหมายเลข 6 อันดับที่ 1 ถึงอันดับที่ 28 คืนโจทก์ มิฉะนั้นให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ในการจดทะเบียนโอนคืนและขอให้มีคำสั่งห้ามเจ้าพนักงานที่ดินรับจดทะเบียนนิติกรรมใดเกี่ยวกับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เป็นทรัพย์มรดก
จำเลยทั้งสองให้การกับแก้ไขคำให้การและจำเลยที่ 1 ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้อง และขอให้บังคับโจทก์ชำระค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 1 จำนวน 2,100,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า พินัยกรรมของนางเจือจันทร์ ผู้ตาย ฉบับลงวันที่ 2 มีนาคม 2545 ที่ยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 1 ตกเป็นโมฆะ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 8 ตุลาคม 2545) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 1 โอนหุ้นของธนาคารกรุงเทพจำกัด (มหาชน) หุ้นของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และหุ้นของบริษัทกรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) ตามที่ศาลมีคำสั่งอายัดไว้คืนให้แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ยอมโอนหุ้นคืน ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท ฟ้องแย้งและคำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า พินัยกรรมของผู้ตายฉบับลงวันที่ 2 มีนาคม 2545 ไม่ตกเป็นโมฆะ แต่เป็นอันถูกเพิกถอนไป พินัยกรรมฉบับลงวันที่ 2 เมษายน 2545 ของผู้ตายเป็นพินัยกรรมที่สมบูรณ์ใช้บังคับได้ตามกฎหมาย ห้ามจำเลยทั้งสองไม่ให้ทำการรบกวนสิทธิครอบครองอาคารและที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย แต่จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมที่เกี่ยวกับฟ้องเดิมและฟ้องแย้งในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 และโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามฎีกาของของจำเลยที่ 1 และของโจทก์มีประเด็นที่เห็นสมควรวินิจฉัยเรียงตามลำดับดังต่อไปนี้
1. อุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์อย่างคดีมีทุนทรัพย์ แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์ ศาลฎีกาจึงต้องสั่งยกอุทธรณ์ของโจทก์ตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกาหรือไม่
2. ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกาหรือไม่
3. ฟ้องโจทก์เป็นคดีอุทลุมต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 ตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกาหรือไม่
4. ฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1710 ตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกาหรือไม่
………
สำหรับปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยเป็นประเด็นข้อที่ 1 คือ อุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์อย่างคดีมีทุนทรัพย์ แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์ ศาลฎีกาจึงต้องสั่งยกอุทธรณ์ของโจทก์หรือไม่นั้น เห็นว่า โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งคำวินิจฉัยในการฟังข้อเท็จจริงของศาลชั้นต้นที่เชื่อพยานหลักฐานโจทก์ในทุกประเด็นและให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดี โจทก์อุทธรณ์แต่เพียงว่า ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาที่ไม่ครบถ้วนชัดเจนโดยไม่ได้สั่งคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ให้ครบถ้วนทุกข้อ จึงอาจเกิดปัญหาในการตีความต่อไปได้ โจทก์จึงอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยขอให้สั่งคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ให้ครบถ้วนทุกข้อ ดังนี้ อุทธรณ์ของโจทก์เช่นนี้จึงไม่ถือเป็นอุทธรณ์คดีอย่างมีทุนทรัพย์ โจทก์เสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์ ชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยเป็นประเด็นข้อที่ 2 คือ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า คำฟ้องโจทก์บรรยายยืนยันข้อเท็จจริงชัดเจนว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันปลอมพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 2 มีนาคม 2545 โดยหลอกลวงผู้ตายให้ลงลายพิมพ์นิ้วมือ โดยอ้างว่าเป็นเอกสารเกี่ยวกับการมอบอำนาจให้รับเงินค่าเวนคืนที่ดิน ทั้งโจทก์บรรยายฟ้องต่อไปด้วยในทำนองว่า ต่อมาคือวันที่ 2 เมษายน 2545 ผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้โจทก์ ส่วนพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 2 มีนาคม 2545 ไม่ว่าจะฟังข้อเท็จจริงได้อย่างไรก็เป็นอันถูกเพิกถอนโดยพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 2 เมษายน 2545 แล้ว ดังนี้ เป็นการบรรยายฟ้องตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ทั้งจำเลยทั้งสองเข้าใจสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามคำฟ้องของโจทก์แล้ว ดังปรากฏตามคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองที่ให้การต่อสู้ว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้หลอกลวงผู้ตาย ผู้ตายเต็มใจยกทรัพย์มรดกให้จำเลยที่ 1 จึงได้ทำพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 2 มีนาคม 2545 ส่วนพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 2 เมษายน 2545 กลับเป็นพินัยกรรมที่ผู้ตายไม่ได้ทำโดยมีสติสัมปชัญญะเพราะขณะนั้นผู้ตายป่วยหนักใกล้ตายไม่รู้สึกตัว ไม่อาจที่จะแสดงเจตนาทำพินัยกรรมได้ เห็นได้ว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้หลงต่อสู้ ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ฎีกาจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยเป็นประเด็นข้อที่ 3 คือ ฟ้องโจทก์เป็นคดีอุทลุม ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 หรือไม่ เห็นได้ว่า จำเลยที่ 1 ยกข้อเท็จจริงใหม่ขึ้นอ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นบุพการีของโจทก์ แต่การห้ามฟ้องบุพการีดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิ ต้องตีความโดยเคร่งครัด บุตรที่ต้องห้ามใช้สิทธิจึงต้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 ยกข้อเท็จจริงที่จำกัดสิทธิของโจทก์ดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้าง จำเลยที่ 1 จึงต้องมีภาระการพิสูจน์ให้ศาลเห็นโดยชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 1 เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้นำสืบพยานหลักฐานพิสูจน์ ข้อเท็จจริงจึงไม่ปรากฏตามที่อ้าง ไม่อาจรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์อันจะทำให้ฟ้องโจทก์เป็นคดีอุทลุม ส่วนที่จำเลยที่ 1 ยกข้อเท็จจริงขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสกับมารดาโจทก์ในภายหลังนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 เพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ ไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ได้ว่ากันมาก่อนแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งโจทก์ก็คัดค้านความถูกต้องแท้จริงของเอกสารดังกล่าว ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้ ฎีกาจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยเป็นประเด็นข้อที่ 4 คือ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1710 หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าผู้ตายไม่ได้มีเจตนาทำพินัยกรรม แต่ถูกจำเลยที่ 1 และที่ 2 หลอกลวงให้ลงลายพิมพ์นิ้วมือในพินัยกรรม ในขณะนอนป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล โดยหลอกลวงว่าเอกสารดังกล่าวเป็นหนังสือมอบอำนาจการขอรับเงินค่าเวนคืนที่ดิน พินัยกรรมจึงเสียเปล่าเป็นโมฆะ เช่นนี้จึงเป็นคำฟ้องว่า การแสดงเจตนาของผู้ตายในการลงลายพิมพ์นิ้วมือในเอกสารดังกล่าวเกิดขึ้นโดยสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม ซึ่งถือเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมจึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 156 ไม่ใช่คำฟ้องขอให้เพิกถอนข้อกำหนดพินัยกรรมตามความหมายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1710 ที่หมายถึงผู้ตายมีเจตนาทำพินัยกรรมและได้ทำพินัยกรรมแล้ว แต่มีเหตุตามกฎหมายที่จะขอให้เพิกถอนข้อกำหนดในพินัยกรรมนั้น ซึ่งต้องฟ้องภายในกำหนด 3 เดือน ตามมาตรา 1710 (1) หรือ 1710 (2) ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
………….
พิพากษาแก้เป็นว่า พินัยกรรมของนางเจือจันทร์ ผู้ตายฉบับลงวันที่ 2 มีนาคม 2545 ตกเป็นโมฆะ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์จำนวน 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้เพิกถอนชื่อจำเลยที่ 1 ในรายการจดทะเบียนในโฉนดทุกฉบับ ทั้งในฐานะผู้จัดการมรดกและในฐานะผู้รับมรดกของผู้ตายซึ่งเป็นผู้มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินดังกล่าว นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้จำนวน 50,000 บาท

Share