คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5452/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า “JEPO” ซึ่งเคยส่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาจำหน่ายในประเทศไทยอันเป็นการใช้เครื่องหมายการค้าในประเทศไทยก่อนที่จำเลยจะยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้ โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้านี้ดีกว่าจำเลย ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 67 และการที่โจทก์ได้ยื่นฟ้องภายใน 5 ปี นับแต่วันที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งให้จดทะเบียนเป็นการใช้สิทธิตามปกติ มิใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
อนึ่ง บทบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจศาลพิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นได้ โดยไม่จำต้องให้จำเลยไปดำเนินการเพิกถอนคำขอจดทะเบียนหรือการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแต่อย่างใด ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาบังคับให้จำเลยเพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “JEPO” ตามคำขอเลขที่ 575049 ทะเบียนเลขที่ ค 267771 หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค 267771 หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยยุติการใช้ การผลิต การจำหน่ายสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าว กับห้ามเกี่ยวข้องและยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์และให้ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 50,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะยุติการทำละเมิดต่อโจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า “JEPO” และมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าจำเลย ให้จำเลยเพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “JEPO” ตามคำขอเลขที่ 575049 ทะเบียนเลขที่ ค 267771 หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย โดยให้จำเลยรับผิดในค่าใช้จ่ายในการเพิกถอนดังกล่าว ค่าฤชาธรรมเนียมเห็นสมควรให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรก โจทก์ทำหนังสือมอบอำนาจให้นายดนัย ฟ้องคดีนี้โดยชอบหรือไม่ เห็นว่า จำเลยให้การและอุทธรณ์เป็นทำนองว่า หนังสือมอบอำนาจตามเอกสารท้ายคำฟ้อง ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษ ไม่มีการลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์ จึงเป็นเอกสารปลอมนั้น ปรากฏว่าหนังสือมอบอำนาจตามเอกสารท้ายคำฟ้องมีข้อความและลายมือชื่อนายดนัยลงไว้เป็นการรับรองว่าเอกสารฉบับนี้เป็นสำเนาเอกสารที่ถูกต้อง จึงเป็นธรรมดาที่เมื่อการทำสำเนาเอกสารโดยการพิมพ์ข้อความตามต้นฉบับมิได้ถ่ายเอกสารจากต้นฉบับย่อมไม่ปรากฏลายมือชื่อผู้มอบอำนาจในสำเนาเอกสาร และในชั้นพิจารณาโจทก์นำสืบโดยมีบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของนายดนัย ซึ่งนายดนัยได้เบิกความต่อว่า โจทก์ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้ตนเป็นผู้ฟ้องคดีแทนโจทก์โดยทำหนังสือมอบอำนาจเป็นภาษาจีน มีการรับรองโดยโนตารีปับลิกและกงสุลไทยและมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษ รายละเอียดปรากฏตามหนังสือมอบอำนาจภาษาจีนและคำแปลเป็นภาษาอังกฤษ โดยเอกสารนี้โจทก์เป็นผู้จัดทำและส่งให้นายดนัยรับไปดำเนินคดีนี้ ซึ่งเมื่อพิจารณาหนังสือมอบอำนาจฉบับภาษาจีน ก็เห็นได้ว่าด้านล่างมีการลงลายมือชื่อและรอยประทับรูปวงกลมที่มีอักษรภาษาจีนอยู่ ข้อความด้านบนมีชื่อและนามสกุลเป็นภาษาอังกฤษของนายดนัยปรากฏให้เห็นได้ และในเอกสารนี้ยังปรากฏลักษณะของการรับรองโดยโนตารีปับลิกรวมทั้งคำรับรองลายมือชื่อและตราสำคัญของสำนักงานโนตารีปับลิกโดยกระทรวงการต่างประเทศของสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมทั้งการรับรองโดยกงสุลไทยณ นครกว่างโจวด้วย ส่วนการแปลเอกสาร ฉบับที่ทำเป็นภาษาจีนเป็นภาษาอังกฤษนั้น นายดนัยเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ตนไม่มีความรู้ภาษาจีน แต่พยานได้สอบถามนายบุญเกียรติ์ ซึ่งเป็นผู้แปลเป็นภาษาไทยและเป็นผู้มีความรู้ภาษาจีนด้วย นายบุญเกียรติ์แจ้งว่า หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีที่ทำขึ้นเป็นภาษาจีนมีข้อความตรงกับภาษาไทยและภาษาอังกฤษด้วย ทั้งยังปรากฏลายมือชื่อนายบุญเกียรติ์รับรองคำแปลในเอกสารคำแปลเป็นภาษาไทยโดยจำเลยไม่ได้นำสืบพยานหลักฐานโต้แย้งว่าคำเบิกความของนายดนัยตลอดจนหนังสือมอบอำนาจฉบับภาษาจีน คำแปลภาษาอังกฤษและภาษาไทยตลอดจนการรับรองของโนตารีปับลิก เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และกงสุลไทยไม่ถูกต้องในส่วนใดอย่างใดเลย ทั้งที่หากการแปลดังกล่าวมีส่วนใดไม่ถูกต้องจริง การหาบุคคลผู้มีความรู้ภาษาจีน ภาษาอังกฤษและภาษาไทยมาตรวจสอบและนำสืบก็ไม่ใช่เรื่องยากลำบาก ซึ่งแม้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีจะเป็นเรื่องสำคัญก็ตาม แต่การวินิจฉัยข้อเท็จจริงในเรื่องนี้เป็นกรณีสืบเนื่องจากโจทก์กล่าวอ้างว่ามีการมอบอำนาจเช่นว่านี้ แต่จำเลยให้การปฏิเสธ ย่อมต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงโดยการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่าย เมื่อโจทก์มีทั้งพยานบุคคลและเอกสารมาแสดงข้อเท็จจริงได้พอสมควรและมีเหตุผลที่พอเชื่อได้ ขณะที่ฝ่ายจำเลยกลับไม่นำสืบตามข้อโต้เถียงของตนเลยเช่นนี้ พยานหลักฐานของโจทก์ย่อมมีน้ำหนักให้รับฟังได้ดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย จึงฟังได้ว่าโจทก์ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้นายดนัยฟ้องคดีนี้แทนโจทก์จริง นายดนัยย่อมมีอำนาจฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ได้โดยชอบ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยต่อไปว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า “JEPO” ดีกว่าจำเลยหรือไม่ และโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหรือไม่ ซึ่งเห็นสมควรวินิจฉัยไปด้วยกัน ปัญหานี้ ข้อเท็จจริงรับฟังยุติแล้วว่า บริษัทจงซาน เซี่ยวหลาน เซิ่นฮัว อิเลคทริคคอล แอพไพลแอ็นซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเดียวกับบริษัทโจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน สำหรับสินค้าจำพวกที่ 7 ในรายการสินค้าหลายรายการรวมทั้งเครื่องปั๊มน้ำปั๊มลมที่ใช้ในตู้ปลาด้วย ต่อมาบริษัทได้โอนเครื่องหมายการค้าให้แก่โจทก์ ต่อมาจำเลยนำเครื่องหมายการค้าคำว่า “JEPO” นี้ ไปยื่นขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและได้รับจดทะเบียนให้ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้า นอกจากนี้โจทก์ยังมีนายดนัยผู้รับมอบอำนาจโจทก์ยื่นบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงและมาเบิกความประกอบได้ความว่า โจทก์เคยส่งสินค้ามาจำหน่ายในประเทศไทยก่อนวันที่จำเลยยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ซึ่งก็ปรากฏว่า ตามเอกสารเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าที่จำเลยอ้างส่งเป็นพยานในชุดเอกสาร แสดงให้เห็นว่ามีการนำเข้าสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า”JEPO” ของโจทก์มาในประเทศไทยก่อนวันที่จำเลยยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว เจือสมกับคำเบิกความของนายดนัยพยานโจทก์ จึงฟังได้ว่าโจทก์ส่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า “JEPO” เข้ามาจำหน่ายก่อนวันที่จำเลยยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้ ส่วนที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยจะสั่งให้โจทก์ผลิตสินค้าส่งให้จำเลย โดยจำเลยสอบถามทางโจทก์ก่อนว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า “JEPO” นี้มีบุคคลใดเป็นเจ้าของที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้แล้วหรือไม่ ซึ่งโจทก์ก็แจ้งว่ายังไม่มีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า จำเลยจึงตกลงสั่งให้โจทก์ผลิตสินค้าโดยใช้เครื่องหมายการค้าให้แก่จำเลย ซึ่งข้อนำสืบของจำเลยเช่นนี้ขัดต่อเหตุผล เพราะเมื่อโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้านี้กับสินค้าที่โจทก์ผลิต จำเลยก็ควรคาดคิดได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของผู้ใช้เครื่องหมายการค้า และควรเคารพในสิทธินั้นของโจทก์ มิใช่กรณีที่จำเลยจะถือเอาเครื่องหมายการค้านี้เป็นของจำเลยที่จะนำมายื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศไทย พยานหลักฐานตามข้อนำสืบของจำเลยขัดต่อเหตุผลไม่น่าเชื่อ ฟังไม่ได้ว่าโจทก์หลอกให้จำเลยทำการตลาดในประเทศไทยก่อนฟ้องคดีนี้โดยไม่สุจริต นอกจากนี้นายพิชิต พยานจำเลยยังเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านรับว่า ปี 2538 พยานกับจำเลยไปดูงานแสดงสินค้าที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนพบสินค้าเครื่องปั๊มน้ำปั๊มลมสำหรับตู้ปลาที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “JEPO” แสดงในงานและทราบว่าโจทก์เป็นผู้ผลิตสินค้านี้ โดยจำเลยได้ถามพนักงานของโจทก์ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้านี้ในงานแสดงสินค้าด้วย แสดงว่าจำเลยก็รู้ดีว่าโจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้านี้กับสินค้าของโจทก์ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนตั้งแต่ปี 2538 แล้ว จึงฟังได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า “JEPO” ซึ่งเคยส่งสินค้ามาขายในประเทศไทยอันเป็นการใช้เครื่องหมายการค้าในประเทศไทยก่อนที่จำเลยจะยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้ โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้านี้ดีกว่าจำเลย ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 67 และได้ยื่นฟ้องคดีนี้ภายใน 5 ปี นับแต่วันที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งให้จดทะเบียน อันเป็นการใช้สิทธิตามปกติ มิใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลยและมีสิทธิโดยชอบในอันที่จะฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า “JEPO” ดีกว่าจำเลยผู้ซึ่งได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า โจทก์ย่อมมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นได้ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 67 วรรคหนึ่ง อันเป็นบทกฎหมายที่ให้อำนาจศาลพิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นได้ โดยไม่จำต้องให้จำเลยไปดำเนินการเพิกถอนคำขอจดทะเบียนหรือการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแต่อย่างใด ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาบังคับให้จำเลยเพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “JEPO” ตามคำขอเลขที่ 575049 ทะเบียนเลขที่ ค 267771 หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 67 วรรคหนึ่ง จึงเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า”JEPO” ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 575049 ทะเบียนเลขที่ ค 267771 โดยไม่ต้องบังคับจำเลยให้เพิกถอนคำขอหรือใช้คำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share