คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3486/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ธนาคารจำเลยเพิ่มทุนโดยการออกหุ้นใหม่ภายในกำหนดเวลา 5 ปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 ใช้บังคับ การเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนจะต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ จะนำมาตรา 1222 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับหาได้ไม่
มาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ฉบับดังกล่าวบัญญัติให้ธนาคารพาณิชย์ ที่ยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนจำกัดที่ประสงค์จะเพิ่มทุนโดยการออกหุ้นใหม่ ต้องขายหุ้นใหม่แก่บุคคลธรรมดาซึ่งไม่ใช่ผู้ถือหุ้นเดิมไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้าของจำนวนหุ้นที่ออกใหม่นั้น หมายความว่าต้องขายหุ้นใหม่แก่บุคคลภายนอกตั้งแต่ร้อยละยี่สิบห้าขึ้นไป ดังนั้น การที่กรรมการธนาคารมีมติให้ขายหุ้นใหม่แก่บุคคลภายนอกเกินกำหนดดังกล่าวจึงไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย แต่เมื่อที่ประชุมใหญ่วิสามัญของผู้ถือหุ้นมีมติให้ขายหุ้นใหม่แก่บุคคลภายนอกเท่าที่จำเป็นแก่การปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว คือเพียงร้อยละยี่สิบห้าเท่านั้นการที่กรรมการธนาคารลงมติให้ขายเกินกำหนดดังกล่าวแม้ไม่ขัดต่อกฎหมายแต่เมื่อขัดต่อมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญของผู้ถือหุ้นย่อมเป็นการละเมิดต่อโจทก์และโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นเดิมในอันที่จะจองซื้อหุ้นที่ออกใหม่ โจทก์และโจทก์ร่วมชอบที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนมติของกรรมการธนาคารได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๑๑ เป็นกรรมการธนาคารจำเลยที่ ๑ ได้ลงมติให้ขายหุ้นเพิ่มทุนจำเลยที่ ๑ โดยฝ่าฝืนกฎหมายและมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ขอให้พิพากษาว่าการจองและการขายหุ้นที่ออกใหม่ในส่วนที่เกินมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นไม่ผูกพันจำเลยที่ ๑ และห้ามจำเลยเสนอขายหุ้นขัดกับมติดังกล่าวอีก
นายประชากับพวกซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นธนาคารจำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยทั้งสิบเอ็ดให้การว่า โจทก์และโจทก์ร่วมไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยขายหุ้นที่ออกใหม่ถูกต้องตามกฎหมายและมติที่ประชุมวิสามัญถือหุ้นแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนมติกรรมการของจำเลยที่ ๑ ในส่วนที่เกี่ยวกับการขายหุ้นให้แก่บุคคลภายนอก ให้จำเลยทั้งสิบเอ็ดปฏิบัติตามมติของที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น
จำเลยทั้งสิบเอ็ดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสิบเอ็ดฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาว่ามติกรรมการของจำเลยที่ ๑ ในส่วนที่เกี่ยวกับการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนแก่บุคคลภายนอกขัดต่อกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า เมื่อกรรมการของจำเลยที่ ๑ มีมติดังกล่าว ยังอยู่ภายในกำหนดเวลา ๕ ปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๒ ใช้บังคับ ดังนั้นจะนำมาตรา ๑๒๒๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งบัญญัติว่าจะต้องเสนอขายแก่ผู้ถือหุ้นเดิมก่อนมาใช้บังคับไม่ได้ คำว่า “ไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้าของจำนวนหุ้นที่ออกใหม่” ตามมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ฉบับดังกล่าวหมายความว่า เป็นจำนวนร้อยละยี่สิบห้าขึ้นไป เมื่อหุ้นเพิ่มทุนที่เสนอขายคราวนี้มีจำนวน ๕๐๐,๐๐๐ หุ้น จึงต้องเสนอขายให้แก่บุคคลธรรมดาที่มิได้เป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ ๑ ตั้งแต่ ๑๒๕,๐๐๐ บาทขึ้นไป ดังนั้น มติกรรมการของจำเลยที่ ๑ ที่ให้เสนอขายหุ้นเพิ่มทุนแก่บุคคลภายนอก ๒๐๐,๐๐๐ หุ้น รวมกับที่เสนอขายไปก่อนหน้านั้น ๕๐,๐๐๐ หุ้นแล้ว เป็น ๓๕๐,๐๐๐ หุ้น จึงไม่ขัดต่อกฎหมาย
ปัญหาว่ามติดังกล่าวละเมิดต่อโจทก์และโจทก์ร่วมหรือไม่ เห็นว่า ลำพังแต่ข้อความในรายงานการประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นไม่อาจชี้ขาดข้อเท็จจริงได้ว่า ที่ประชุมใหญ่มีมติให้ขายหุ้นเพิ่มทุนแก่บุคคลภายนอกเท่าไร คดีนี้ไม่มีการสืบพยาน การที่จะหาความจริงว่าผู้ถือหุ้นได้ตกลงอย่างไรจึงต้องพิจารณาไปถึงความเป็นมาของการลงมติในการประชุมใหญ่วิสามัญดังกล่าวว่าเป็นอย่างไร โดยอาศัยพิจารณาจากคำฟ้องและคำให้การ เมื่อจำเลยมิได้ปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ ศาลฎีกาจึงเชื่อว่า ในการประชุมใหญ่ดังกล่าวที่ประชุมมีมติให้ขายหุ้นเพิ่มทุนแก่บุคคลภายนอกซึ่งไม่เป็นผู้ถือหุ้นเดิมเพียงเท่าที่จำเป็นคือร้อยละยี่สิบห้าของจำนวนหุ้นที่ออกใหม่เท่านั้น ดังนั้นมติของกรรมการจำเลยที่ ๑ จึงขัดต่อมติของที่ประชุมใหญ่วิสามัญของผู้ถือหุ้น แม้มติของกรรมการจำเลยที่ ๑ จะไม่ขัดต่อมติของที่ประชุมใหญ่วิสามัญของผู้ถือหุ้น แม้มติของกรรมการจำเลยที่ ๑ จะไม่ขัดต่อกฎหมายแต่เมื่อขัดต่อมติของที่ประชุมใหญ่วิสามัญของผู้ถือหุ้น จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์และโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นเดิมในอันที่จะจองซื้อหุ้นที่ออกใหม่ โจทก์และโจทก์ร่วมชอบที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนมติดังกล่าวของกรรมการจำเลยที่ ๑ ได้
พิพากษายืน

Share