คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3485/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทยพ.ศ.2519มาตรา15บัญญัติให้พนักงานของการสื่อสารแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาจำเลยดำรงตำแหน่งพนักงานการสื่อสารแห่งประเทศไทยทำหน้าที่บุรุษไปรษณีย์มีหน้าที่ปิดเปิดถุงไปรษณีย์ภัณฑ์และคัดเลือกไปรษณีย์ภัณฑ์เข้าด้านจ่ายได้เบียดบังเอาจดหมายต่างประเทศต้นทางเยอรมันและบราซิลเป็นของตนโดยทุจริตและตั้งใจกักหรือหน่วงเหนี่ยวไปรษณีย์ภัณฑ์ในระหว่างทางไปรษณีย์ย่อมเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา147และพระราชบัญญัติไปรษณีย์พ.ศ.2477มาตรา58

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147พระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ. 2477 มาตรา 58
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 พระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ. 2477 มาตรา 58 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 5 ปี
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาข้อกฎหมายว่า จำเลยเป็นพนักงานของการสื่อสารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 จำเลยจึงมิใช่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ไม่ได้นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าขณะเกิดเหตุจำเลยดำรงตำแหน่งพนักงานการสื่อสารแห่งประเทศไทย ทำหน้าที่บุรุษไปรษณีย์ระดับ 3 ประจำที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขพระโขนง มีหน้าที่ปิดเปิดถุงไปรษณีย์ภัณฑ์และคัดเลือกไปรษณีย์ภัณฑ์เข้าด้านจ่ายโดยอยู่เวรก. ปรากฎตามคำสั่งที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขพระโขนงที่ 27/2530เอกสารหมาย จ.2 จำเลยจึงมีหน้าที่จัดการไปรษณีย์ภัณฑ์ดังกล่าวและตามพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 มาตรา 15บัญญัติให้พนักงานของการสื่อสารแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ดังนั้น การที่จำเลยเบียดบังเอาจดหมายธรรมดาต่างประเทศต้นทางเยอรมันและบราซิลอย่างละ 1 ฉบับรวม 2 ฉบับ เป็นของจำเลยโดยทุจริตและจำเลยตั้งใจกักหรือหน่วงเหนี่ยวไปรษณีย์ภัณฑ์ในระหว่างส่งทางไปรษณีย์ การกระทำของจำเลยดังกล่าวย่อมเป็นความผิดต่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147และต่อพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ. 2477 มาตรา 58ดังที่โจทก์ฟ้อง ฉะนั้นที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ซึ่งเป็นบทกฎหมายบทหนักนั้นชอบแล้วฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share