คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2266/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีไปจากโจทก์และมิได้ชำระหนี้คืนโจทก์ โจทก์ได้หักเงินฝากประจำของจำเลยที่ 2เข้าชำระหนี้เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2527 เป็นเงิน 2,000,000 บาทและต่อมาได้หักทอนบัญชีกันเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2527จำเลยที่ 1 เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีอยู่ 586,293.50 บาท ปรากฏตามภาพถ่ายบัญชีกระแสรายวันเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 7 ดังนี้แม้โจทก์จะมิได้บรรยายฟ้องว่า ในวันที่ 26 เมษายน 2527 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์หักเงินฝากของจำเลยที่ 2 ใช้หนี้เบิกเงินเกินบัญชีจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 1 เป็นหนี้อยู่จำนวนเท่าใด เมื่อหักหนี้แล้วเหลืออยู่เท่าใดก็ตาม แต่จากข้อความดังกล่าวย่อมเป็นการชัดแจ้งอยู่แล้วว่า ในวันที่โจทก์หักเงินฝากประจำของจำเลยที่ 2ชำระหนี้ นั้น จำเลยที่ 1 ย่อมจะเป็นหนี้โจทก์อยู่เกินกว่า2,000,000 บาท ทั้งตามภาพถ่ายบัญชีกระแสรายวันเอกสารท้ายฟ้องซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องก็ปรากฏรายการชัดแจ้งด้วยว่า ในวันดังกล่าวจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์อยู่เท่าใด ฟ้องโจทก์ชอบด้วยป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ไม่เคลือบคลุม.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกค้าบัญชีกระแสรายวันของโจทก์ได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ เป็นจำนวนเงิน 2,500,000 บาทโดยยอมให้ดอกเบี้ยแก่โจทก์สำหรับจำนวนเงินที่เบิกเกินบัญชีไปในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี กำหนดส่งดอกเบี้ยทุกเดือน ภายในวันที่5 ของเดือน หากจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ส่งดอกเบี้ยยอมให้นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระนั้นทบเข้ากับจำนวนเงินที่เบิกเกินบัญชีทันที่ จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันให้ไว้แก่โจทก์ โดยยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 และได้มอบเงินฝากประจำ 12 เดือน บัญชีเลขที่1022060741 จำนวนเงิน 2,000,000 บาท ให้แก่โจทก์ไว้ และยินยอมให้โจทก์หักเงินฝากกจำนวนดังกล่าวเข้าชำระหนี้ที่ค้างได้ทั้งสิ้นโดยไม่ต้องบอกกล่าวให้ทราบล่วงหน้า จำเลยที่ 1 ได้เบิกเงินเกินบัญชีไปจากโจทก์เรื่อยมาจนเกินกำหนดตามสัญญาแล้ว แต่มิได้ชำระหนี้คืนให้โจทก์ โจทก์จึงได้หักเงินฝากประจำของจำเลยที่ 2 เข้าบัญชีหนี้เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2527 เป็นจำนวน 2,000,000 บาท และต่อมาได้หักทอนบัญชีกันเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2527 จำเลยที่ 1 คงเป็นลูกหนี้โจทก์อยู่เป็นเงินจำนวน 586,293.50 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ17.5 ต่อปี ของต้นเงิน 586,293.50 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินให้แก่โจทก์เสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 2 ยอมรับว่าได้ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชี โดยร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และได้ทำหนังสือยอนยอมมอบเงินฝากเพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 กับโจทก์จริง หนังสือต่ออายุสัญญาค้ำประกันเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 เป็นหนังสือที่โจทก์ทำปลอมขึ้นเพราะโจทก์ให้จำเลยที่ 2 เซ็นชื่อในช่องผู้ค้ำประกันเท่านั้น ส่วนข้อความอื่น ๆ โจทก์กรอกเพิ่มเติมขึ้นในภายหลัง ส่วนจำเลยที่ 1จะเป็นลูกหนี้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์เมื่อสิ้นวันที่ 20มิถุนายน 2526 เป็นเงินจำนวน 3,318,083.63 บาท จริงหรือไม่จำเลยที่ 2 ไม่ทราบ และจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดชำระเงินให้โจทก์เพราะจำเลยที่ 1 กับโจทก์ตกลงต่อสัญญากันเอง โดยจำเลยที่ 2 มิได้รู้เห็นยินยอม ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่ได้บรรยายฟ้องว่าก่อนที่โจทก์จะหักเงินฝากของจำเลยที่ 2 เพื่อชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1นั้น จำเลยที่ 1 เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีโจทก์อยู่จำนวนเท่าใดและเมื่อโจทก์หักเงินฝากของจำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 1 ยังคงเป็นหนี้โจทก์อยู่อีกจำนวนเท่าใด ขึ้นตอนของการหักบัญชีเพื่อหักกลบลบหนี้ตามวิธีการของธนาคารดำเนินการอย่างไร และโจทก์ไม่เคยแจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบว่าได้หักเงินฝากของจำเลยที่ 2 ไปแล้ว จำเลยที่ 2จึงไม่ได้เป็นฝ่ายผิดนัดชำระหนี้ให้โจทก์ แต่โจทก์เองเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และขอฟ้องแย้งโจทก์ด้วยว่าโจทก์ทำการโดยละเมิดต่อสิทธิของจำเลยที่ 2 ที่ได้หักเงินในบัญชีเงินฝากไปชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ทำให้จำเลยที่ 2 ได้รับความเสียหายคือต้องเสียเงินไปจำนวน 2,000,000 บาท กับต้องขาดประโยชน์ที่ไม่ได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี จากต้นเงิน 2,000,000บาท นับแต่วันที่ 26 เมษายน 2527 เป็นต้นไป เพราะจำเลยที่ 2 ฝากเงินไว้กับโจทก์ประเภทประจำ โจทก์ตกลงชำระดอกเบี้ยให้ในอัตราร้อยละ12.5 ต่อปี จึงขอให้ยกฟ้อง และขอให้บังคับโจทก์ชำระเงินจำนวน2,000,000 บาท คืนให้จำเลยที่ 2 พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ12.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 26 เมษายน 2527เป็นต้นไปจนถึงวันให้การและฟ้องแย้งคิดเป็นเงินค่าดอกเบี้ยจำนวน 262,328.74 บาท และให้ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12.5ต่อปี จากต้นเงิน 2,000,000 บาท นับถัดจากวันให้การและฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินให้จำเลยที่ 2 ครบถ้วน
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งยืนยันตามคำฟ้องของโจทก์ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์จำนวน 586,293.50 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 21กุมภาพันธ์ 2528 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จกับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท และให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี ของต้นเงิน 586,293.50 บาทนับแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2527 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ1,500 บาท
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาเป็นประการแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมโดยอ้างว่าโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าวันที่26 เมษายน 2527 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์หักเงินฝากของจำเลยที่ 2 ใช้หนี้เบิกเงินเกินบัญชีจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 1 เป็นหนี้อยู่จำนวนเท่าใด เมื่อหักแล้วเหลือหนี้เท่าใด ทำให้จำเลยที่ 2 ไม่อาจต่อสู้คดีได้ เห็นว่าโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีไปจากโจทก์และมิได้ชำระหนี้คืนโจทก์ โจทห์ได้หักเงินฝากประจำของจำเลยที่ 2 เข้าชำระหนี้เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2527 เป็นเงินจำนวน2,000,000 บาท และต่อมาได้หักทอนบัญชีกันเมื่อวันที่ 30พฤศจิกายน 2527 จำเลยที่ 1 เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีอยู่586,293.50 บาท ปรากฏตามภาพถ่ายบัญชีกระแสรายวันเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 7 จากข้อความดังกล่าวย่อมเป็นการชัดแจ้งอยู่แล้วว่าในวันที่โจทก์หักเงินฝากประจำของจำเลยที่ 2 ชำระหนี้นั้น จำเลยที่ 1ย่อมจะเป็นหนี้โจทก์อยู่เกินกว่า 2,000,000 บาท ทั้งตามภาพถ่ายบัญชีกระแสรายวันเอกสารท้ายฟ้องซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องก็ปรากฏรายการโดยชัดแจ้งด้วยว่าในวันดังกล่าวจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์อยู่เท่าใด ฟ้องโจทก์ขอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา172 วรรคสอง จึงไม่เคลือบคลุม…
จำเลยที่ 2 ฎีกาต่อไปอีกว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้ผิดสัญญาโจทก์จึงหักบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 เข้าชำระหนี้ไม่ได้และการหักเงินฝากของจำเลยที่ 2 เข้าชำระหนี้นั้น โจทก์จะต้องบอกกล่าวแก่จำเลยที่ 2 ก่อน หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระโจทก์จึงมีสิทธิหักเงินฝากเข้าชำระหนี้ได้นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 ได้ทำหนังสือยินยอมมอบเงินฝากให้ไว้แก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.10 เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งตามเอกสารหมาย จ.10 ข้อ 2 ระบุว่าในกรณีที่จำเลยที่ 2 หรือที่ 1 ไม่ชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีในประการที่ทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 หรือจำเลยที่ 1 ชำระหนี้หรือค่าเสียหายได้แล้ว จำเลยที่ 2 ยินยอมให้โจทก์หักเงินฝากไปชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าวได้โดยไม่จำต้องบอกกล่าวให้จำเลยที่ 2 ทราบล่วงหน้าก่อน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัด โจทก์จึงมีสิทธิหักเงินฝากของจำเลยที่ 2ชำระหนี้ได้ตามสัญญาโดยไม่ต้องบอกกล่าวแก่จำเลยที่ 2 ก่อนฎีกาจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยที่ 2 ฎีกาเป็นประการสุดท้ายว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เพียงอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 586,293.50 บาท นับตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2528 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดให้จำเลยที่ 1ชำระหนี้แก่โจทก์ มิใช่คิดตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2527 นั้นเห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์หักทอนบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2527 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1ยังคงเป็นหนี้โจทก์ 586,293.50 บาท แต่โจทก์ได้ประกาศทวงถามจำเลยที่ 1 ทางหนังสือพิมพ์ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2528 ให้จำเลยที่ 1 จัดการชำระหนี้ซึ่งคิดคำนวณเพียงวันที่ 28 ธันวาคม 2527เป็นเงิน 586,293.50 บาท ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด 7 วัน นับแต่ประกาศตามเอกสารหมาย จ.7 ซึ่งครบกำหนดวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2528แต่จำเลยที่ 1 หาได้ชำระหนี้ไม่ ดังนี้ แม้จะถือว่าจำเลยที่ 1ผิดนัดไม่ชำระหนี้ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2528 แต่ก่อนหน้านั้นโจทก์ก็มีสิทธิจะได้ดอกเบี้ยตามสัญญามิใช่โจทก์มีสิทธิได้ดอกเบี้ยตั้งแต่วันผิดนัดเท่านั้น และเห็นว่าจำนวนเงินที่หักกลบลบหนี้กันแล้วซึ่งไม่มีเงินฝากเป็นประกัน โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี ตามหนังสือต่ออายุสัญญาเอกสารหมาย จ.11ข้อ 2 และเมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดแล้วก็ยังต้องเสียดอกเบี้ยในอัตรานี้เช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 1,000 บาทแทนโจทก์.

Share