คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7185/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฎีกาจำเลยที่ว่า โจทก์ได้สละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาสิ้นสุดตามสัญญาแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา เมื่อปัญหาดังกล่าวจำเลยมิได้ให้การต่อสู้ไว้ ทั้งมิได้อุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าวแต่อย่างใด จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ อีกทั้งมิใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ.มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้
เมื่อขณะทำสัญญาจะซื้อจะขาย ที่ดินพิพาทสามารถโอนกรรมสิทธิ์กันได้ เพียงแต่กรมที่ดินให้มีหมายเหตุไว้ในบัญชีอายัดและกลัดติดไว้ในโฉนดที่ดินว่า”เมื่อมีผู้มาขอจดทะเบียนเกี่ยวกับที่ดินแปลงนี้ ให้แจ้งให้คู่กรณีทราบว่ากองทัพบกอ้างว่าเป็นที่สนามบินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน หากเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินจริง ผู้รับโอนย่อมไม่ได้สิทธิในที่ดินนี้แต่อย่างใด ถ้าคู่กรณีทราบแล้วประสงค์จะให้จดทะเบียน ก็ให้บันทึกถ้อยคำไว้แล้วดำเนินการจดทะเบียนต่อไปได้” ดังนั้นในขณะทำสัญญาจะซื้อจะขาย วัตถุที่ประสงค์ของสัญญามิได้เป็นการพ้นวิสัยตาม ป.พ.พ.มาตรา 113 เดิม (มาตรา 150 ใหม่) จึงมีผลใช้บังคับระหว่างโจทก์และจำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญา
เหตุที่จำเลยไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้โจทก์ได้เกิดจากผู้ว่าราชการจังหวัดมีหนังสือแจ้งอายัดที่ดินพิพาทตาม ป.ที่ดิน มาตรา 83ไปยังเจ้าพนักงานที่ดิน ซึ่งผลของการแจ้งอายัดนั้น ป.ที่ดิน มาตรา 83 วรรคสองบัญญัติให้เจ้าพนักงานที่ดินเมื่อได้สอบสวนหลักฐานที่ผู้ขอได้นำมาแสดงให้ปรากฏแล้วถ้าเห็นสมควรเชื่อถือก็ให้รับอายัดไว้ได้มีกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่ขออายัด โดยให้ผู้นั้นไปดำเนินการทางศาล และให้นำหลักฐานการยื่นฟ้องพร้อมสำเนาคำฟ้องในกรณีที่ขออายัดมาแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินผู้รับอายัดภายในกำหนดเวลาที่อายัดถ้าผู้ขออายัดมิได้ปฏิบัติดังกล่าวให้ถือว่าการอายัดสิ้นสุดและจะขออายัดซ้ำในกรณีเดียวกันอีกไม่ได้ แต่ถ้าผู้ขออายัดได้แสดงหลักฐานดังกล่าวภายในกำหนดเวลาที่อายัดให้การอายัดมีผลต่อไปจนกว่าศาลจะสั่งให้ถอนการอายัดหรือมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุด เพราะฉะนั้นการแจ้งขออายัดจึงไม่ทำให้ที่ดินพิพาทถูกห้ามจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์โดยเด็ดขาด และไม่ทำให้การโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเป็นการชำระหนี้พ้นวิสัยตาม ป.พ.พ.มาตรา 219 อีกทั้งหนังสือแจ้งอายัดก็ไม่ใช่เหตุใด ๆ อันจะเกิด จะให้ผลพิบัติ ไม่มีใครจะอาจป้องกันได้ อันเป็นเหตุสุดวิสัยตาม ป.พ.พ.มาตรา 8 การที่จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งสองไม่ได้ตามกำหนดในสัญญาจะซื้อจะขายจึงไม่ทำให้จำเลยหลุดพ้นจากการชำระหนี้คือการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้โจทก์
ในวันครบกำหนดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตามสัญญา ฝ่ายโจทก์นำแคชเชียร์เช็คไปพร้อมชำระราคาให้แก่จำเลย โดยโจทก์ไม่ได้ผิดสัญญา แต่ต่อมาหลังจากครบกำหนดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท และไม่สามารถโอนให้ได้แล้วจำเลยได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทั้งสองชำระเงินตามสัญญาภายใน 10 วัน หากพ้นกำหนดถือว่าโจทก์ผิดสัญญาและให้ถือว่าหนังสือดังกล่าวเป็นการแจ้งบอกเลิกสัญญาอันเป็นการที่จำเลยแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาพร้อมกันนั้นโจทก์ก็ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญา ให้จำเลยคืนเงินมัดจำ และราคาที่ได้ชำระแล้ว พฤติการณ์ดังกล่าวมาแสดงว่าโจทก์ทั้งสองและจำเลยต่างสมัครใจเลิกสัญญา สัญญาจะซื้อจะขายจึงเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ.มาตรา 391 จำเลยจึงต้องให้โจทก์ทั้งสองได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม

Share