คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3483/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษฐานลักทรัพย์รับของโจร ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ลงโทษจำเลยฐานรับของโจร จำเลยฎีกาว่า จำเลยมิได้กระทำความผิดฐานรับของโจรศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่กระทำความผิดเข้าองค์ประกอบฐานลักทรัพย์ ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์ ตาม ป.อ. มาตรา 334 ประกอบด้วยมาตรา 336 ทวิแต่ให้กำหนดโทษคงเดิมได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นครร้ายที่ลักเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปหรือมิฉะนั้นจำเลยได้รับเอาทรัพย์ของผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายลักไปไว้จากคนร้าย โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 336 ทวิ,357 ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 9,260 บาท แก่ผู้เสียหายด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 357 วรรคแรก ลงโทษจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 9,260 บาท แก่ผู้เสียหาย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า พยานโจทก์จำได้ว่าจำเลยเป็นคนร้ายโดยไม่ผิดตัว ทรัพย์ของผู้เสียหายอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหายโดยนำไปไว้ที่หน้าลิฟต์ชั้น 4 เมื่อเวลาประมาณ 12นาฬิกา ของวันเกิดเหตุ ต่อมาประมาณ 15 นาที ปรากฏว่าทรัพย์นั้นหายไป และต่อมาในเวลาใกล้ชิดกันนั้นพยานโจทก์ดังกล่าวเห็นจำเลยครอบครองทรัพย์ของผู้เสียหายขณะยังอยู่ที่ลิฟต์ชั้น 2 ในอาคารเดียวกัน ดังนี้ แม้จะไม่มีประจักษ์พยานเห็นว่า จำเลยลักทรัพย์ของผู้เสียหายจากที่วางไว้ แต่โจทก์ก็มีพยานเห็นว่าจำเลยครอบครองทรัพย์นั้นในเวลากระชั้นชิดกับเวลาที่ทรัพย์นั้นหาย จึงถือได้ว่าจำเลยกระทำผิดฐานลักทรัพย์โดยตรง มิใช่กระทำผิดฐานรับของโจรดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ว่า ที่ศาลอุทธรณ์ปรับบทลงโทษฐานรับรองของโจรมานั้นไม่ต้องตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความ จึงเห็นควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสาม
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ประกอบด้วยมาตรา 336 ทวิ แต่กำหนดโทษให้คงเดิมนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share