แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หัวหน้าคนงานสั่งให้โจทก์ซึ่งเป็นคนงานกลับไปทำงานโจทก์ไม่ไป หัวหน้าคนงานจึงผลักอกโจทก์เบา ๆ 2 ครั้งอันเป็นการละเมิดสิทธิในร่างกายของโจทก์ โจทก์จึงต่อยหัวหน้าคนงาน 1 ครั้งถูกที่ซอกคอ หัวหน้าคนงานจึงต่อยตอบแล้วกอดรัดฟัดเหวี่ยงกัน เมื่อมีผู้มาห้ามจึงเลิกรากันหัวหน้าคนงานไม่ได้รับบาดเจ็บ ดังนี้ แม้การกระทำของโจทก์จะเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลย แต่หัวหน้าคนงานก็มีส่วนทำให้โจทก์กระทำความผิดขึ้นด้วย พฤติการณ์ดังกล่าวยังไม่เพียงพอที่จะถือเป็นกรณีร้ายแรงถึงขนาดที่นายจ้างจะมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ โดยไม่จ่ายค่าชดเชย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างประจำโดยไม่จ่ายค่าชดเชยขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์
จำเลยแถลงต่อสู้คดีว่า โจทก์ถูกเลิกจ้างเพราะชกต่อยหัวหน้างานในเวลาทำงานเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่เป็นการกระทำผิดร้ายแรง ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ได้ชกต่อยนายวิไลหัวหน้าคนงาน เนื่องจากนายวิไลสั่งให้โจทก์กลับไปทำงานโจทก์ไม่ไป นายวิไลจึงผลักอกโจทก์ 1 ที โจทก์ไม่ไปทำงานกลับเดินเข้าหานายวิไล นายวิไลจึงผลักอกโจทก์อีก 1 ที โจทก์จึงต่อยนายวิไล 1 ทีถูกที่ซอกคอ นายวิไลต่อยตอบแล้วกอดรัดฟัดเหวี่ยงกันมีผู้มาห้ามจึงเลิกรากัน ศาลฎีกาเห็นว่า แม้โจทก์จะได้ต่อยนายวิไลหัวหน้าคนงาน 1 ทีเนื่องจากนายวิไลสั่งให้โจทก์กลับเข้าทำงานเป็นการผิดระเบียบข้อบังคับในการทำงานที่ว่าทะเลาะวิวาทหรือทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกันหรือต่อบุคคลใด ๆ ภายในบริเวณโรงงานมีโทษเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยแต่สาเหตุที่โจทก์ต่อยนายวิไลนั้นเพราะนายวิไลได้ผลักอกโจทก์ถึง 2 ครั้งก่อน โจทก์จึงต่อยนายวิไล เห็นว่าแม้นายวิไลสั่งให้โจทก์กลับเข้าทำงานเป็นการปฏิบัติหน้าที่ แต่นายวิไลก็ไม่มีอำนาจผลักอกโจทก์ถึง 2 ครั้ง แม้ผลักเพียงเบา ๆ ก็เป็นการละเมิดต่อสิทธิในร่างกายของโจทก์ ซึ่งนายวิไลหัวหน้าคนงานในฐานะผู้บังคับบัญชาของโจทก์ไม่น่าจะทำกับโจทก์เช่นนั้น ทำให้โจทก์ไม่พอใจและชกต่อยนายวิไลไปเพียง 1 ทีถูกที่ซอกคอ นายวิไลไม่ได้รับบาดเจ็บประการใด แม้การกระทำของโจทก์จะเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลย แต่นายวิไลก็มีส่วนทำให้โจทก์กระทำความผิดขึ้นด้วย พฤติการณ์ดังกล่าวนี้ยังไม่เพียงพอที่จะถือเป็นกรณีร้ายแรงถึงขนาดที่จำเลยจะมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่จ่ายค่าชดเชยให้ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 47(3)
พิพากษายืน