คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3476/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้ตามข้อตกลงจะแสดงว่าธนาคารโจทก์มีสิทธิและอำนาจหักทอนบัญชีนำเงินฝากประจำตามสมุดคู่ฝากเงินที่จำเลยจำนำไว้แก่โจทก์มาหักกลบลบหนี้กับยอดเงินเบิกเกินบัญชีได้เมื่อใดก็ตามแต่สิทธิและอำนาจนี้โจทก์ต้องดำเนินการในระหว่างสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีมีผลใช้บังคับเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามการ์ดบัญชีกระแสรายวันว่าไม่มีรายการเดินสะพัดทางบัญชีอันจะเป็นหลักฐานว่าโจทก์ยอมให้จำเลยเบิกเงินเกินบัญชีต่อปีอีกนับแต่วันสิ้นสุดของสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีในวันที่5พฤศจิกายน2534ทั้งสมุดเงินฝากประจำก็ปิดบัญชีแล้วในวันที่11กันยายน2534คงมีแต่จำเลยได้นำเงินบัญชีเพื่อหักทอนหนี้ตามยอดเงินที่ค้างชำระในวันที่8พฤษภาคม2535จำนวน353,997.70บาทเท่านั้นหาเป็นการเดินสะพัดทางบัญชีแต่อย่างใดไม่แสดงว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะเดินสะพัดทางบัญชีกับจำเลยอีกสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจึงสิ้นสุดลงนับแต่วันที่5พฤศจิกายน2534เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้โจทก์ชอบที่จะใช้สิทธินำเงินฝากประจำตามสมุดคู่ฝากเงินที่จำเลยจำนำไว้แก่โจทก์มาหักโอนชำระหนี้แก่โจทก์ทันทีหลังจากนั้นหากจำเลยยังค้างชำระหนี้อยู่จำนวนเท่าใดโจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำนวนเงินดังกล่าวแบบไม่ทบต้นในอัตราร้อยละ19ต่อปีจนกว่าจะชำระเสร็จเท่านั้นหาใช่โจทก์จะใช้สิทธิและอำนาจคิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นตามอำเภอใจเมื่อใดก็ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องจำนวน 478,938.84 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปีในต้นเงิน 454,566.60 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องจำนวน 478,938.84 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปีในต้นเงิน 454,566.60 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า สัญญากู้มีกำหนดระยะเวลาชำระกันในวันที่5 พฤศจิกายน 2534 โจทก์จะต้องหักบัญชีกันในวันดังกล่าว โดยนำเงินฝากประจำพร้อมดอกเบี้ยของจำเลยมาหักชำระหนี้ และดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกจากจำเลยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี และอัตราอื่น ๆนั้น เกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี ตามที่กฎหมายกำหนด จึงเป็นการไม่ชอบจำเลยไม่ต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน4,317,265.86 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปีนับแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2534 แบบทบต้น แล้วให้นำเงินจำนวน 4,123,250 บาท หักออกจากยอดเงินดังกล่าวเหลือเงินเท่าใดคงเป็นเงินที่จำเลยจะต้องชำระแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2534 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยคิดแบบไม่ทบต้น
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้ว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน204,704.63 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2534 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2522 จำเลยขอเปิดบัญชีเดินสะพัดกระแสรายวัน เลขที่ 1785 กับโจทก์ ต่อมาวันที่5 พฤศจิกายน 2533 จำเลยทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์ในวงเงิน 4,000,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15.5 ต่อปีชำระดอกเบี้ยทุกสิ้นเดือน หากผิดนัดยอมให้คิดดอกเบี้ยทบต้นได้และกำหนดชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2534ตามเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 โดยมีสมุดเงินฝากประเภทประจำของจำเลยเป็นประกันการชำระหนี้ มีข้อตกลงว่า หากถึงกำหนดชำระแล้วจำเลยไม่ชำระก็ให้ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากดังกล่าวมาชำระหนี้แก่โจทก์ได้ ตามสัญญาจำนำสิทธิตามสมุดคู่ฝากเงินและหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.9 และ จ.10 ครั้นวันที่ 7 ธันวาคม 2533 จำเลยตกลงเพิ่มดอกเบี้ยในวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีให้แก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.11 โดยโจทก์อาศัยประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยตามเอกสารหมาย จ.12 ถึง จ.14 หลังจากนั้นจำเลยเดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์เรื่อยมา เมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญาแล้วโจทก์มิได้บอกเลิกสัญญา แต่มาบอกเลิกสัญญาและหักทอนบัญชีกับจำเลยในวันที่29 มกราคม 2536 ตามเอกสารหมาย จ.17 และ จ.18 ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกมีว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี แบบไม่ทบต้นในจำนวนเงินทั้งหมดตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีได้หรือไม่ และการคิดดอกเบี้ยเริ่มนับตั้งแต่เมื่อใด โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ19 ต่อปี แบบไม่ทบต้นในจำนวนเงินทั้งหมดตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีนับแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2534 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดชำระหนี้ถึงวันที่ 25 พฤษภาคม 2535 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยนำเงินฝากประจำที่จำนำไว้แก่โจทก์เข้าลดยอดหนี้ ทั้งนี้เป็นสิทธิของโจทก์ที่จะดำเนินการตามข้อตกลงในสัญญาจำนำสิทธิตามสมุดคู่ฝากเงินเอกสารหมาย จ.9 ข้อ 2 ที่ระบุความให้เห็นว่าเมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว หากโจทก์จะขอให้ชำระหนี้เมื่อใดจำเลยยินยอมให้โจทก์ใช้สิทธิของจำเลย หัก ยึด โอน เงินฝากประจำของจำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ได้ทันที ซึ่งมิได้บังคับโจทก์จะต้องดำเนินการดังกล่าวทันทีเมื่อสัญญาสิ้นสุดลงแต่อย่างใด โจทก์จึงใช้สิทธินั้นเมื่อใดก็ได้นั้น เห็นว่า เมื่อพิจารณาข้อสัญญาตามเอกสาร จ.9 ข้อ 2 ดังกล่าวประกอบกับหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.10 ข้อ 2 ที่ระบุความว่าจำเลยมอบอำนาจให้โจทก์มีอำนาจหักบัญชีหรือถอนเงินฝากรวมทั้งดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นหรือทบเข้าในสิทธิตามตราสารของจำเลยดังกล่าวทั้งหมดหรือแต่บางส่วนโดยไม่ต้องคำนึงว่าจะครบกำหนดไถ่ถอนแล้วหรือไม่เพื่อนำเงินของจำเลยมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์เป็นการหักกลบลบหนี้ได้ทุกเมื่อแล้ว แม้ข้อตกลงดังกล่าวจะแสดงว่าโจทก์มีสิทธิและอำนาจหักทอนบัญชีนำเงินฝากประจำตามสมุดคู่ฝากเงินที่จำเลยจำนำไว้แก่โจทก์มาหักกลบลบหนี้กับยอดเงินเบิกเกินบัญชีได้เมื่อใดก็ตาม แต่สิทธิและอำนาจนี้โจทก์ต้องดำเนินการในระหว่างสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีมีผลใช้บังคับ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามการ์ดบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.17 ว่า ไม่มีรายการเดินสะพัดทางบัญชีอันจะเป็นหลักฐานแสดงว่าโจทก์ยอมให้จำเลยเบิกเงินเกินบัญชีต่อไปอีกนับแต่วันสิ้นสุดของสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2534 ทั้งสมุดเงินฝากประจำก็ปิดบัญชีแล้วในวันที่ 11 กันยายน 2534 คงมีแต่จำเลยได้นำเงินเข้าบัญชีเพื่อหักทอนหนี้ตามยอดเงินที่ค้างชำระในวันที่ 8 พฤษภาคม2535 จำนวน 353,997.70 บาท เท่านั้น หาเป็นการเดินสะพัดทางบัญชีแต่อย่างใดไม่ จึงเห็นเจตนาของโจทก์ได้ชัดแจ้งว่าไม่ประสงค์จะเดินสะพัดทางบัญชีกับจำเลยอีก สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจึงสิ้นสุดลงนับแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2534 เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้โจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิตามเอกสารหมาย จ.9 ข้อ 2 และเอกสารหมาย จ.10ข้อ 2 นำเงินฝากประจำตามสมุดคู่ฝากเงินที่จำเลยจำนำไว้แก่โจทก์มาหักโอนชำระหนี้แก่โจทก์ทันที หลังจากนั้นหากจำเลยยังค้างชำระหนี้อยู่จำนวนเท่าใด โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำนวนเงินดังกล่าวแบบไม่ทบต้นในอัตราร้อยละ 19 ต่อปีจนกว่าจะชำระเสร็จเท่านั้น หาใช่โจทก์จะใช้สิทธิและอำนาจตามอำเภอใจเมื่อใดก็ได้โดยสามารถคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี แบบไม่ทบต้นจากจำนวนเงินทั้งหมดตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีตามที่กล่าวอ้างมาฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อสุดท้ายมีว่าจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ ในจำนวนเงินเท่าใด โจทก์ฎีกาว่าจำเลยต้องชำระต้นเงินที่ค้างชำระพร้อมดอกเบี้ยเป็นเงิน 504,993.62 บาทนั้น เห็นว่า เมื่อสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเลิกกันเมื่อวันที่5 พฤศจิกายน 2534 ซึ่งตามการ์ดบัญชีเอกสารหมาย จ.17 คงมียอดหนี้เพียงวันที่ 31 ตุลาคม 2534 จำนวน 4,317,265.86 บาท โดยโจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยทบต้นในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2534 คำนวณเป็นดอกเบี้ยได้10,688.77 บาท ซึ่งจำเลยไม่ได้โต้แย้งคัดค้านเมื่อรวมกับยอดหนี้ในวันที่ 31 ตุลาคม 2534 จึงเป็นหนี้ที่จำเลยค้างชำระแก่โจทก์ถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2534 จำนวน 4,327,954.63 บาท เมื่อนำเงินฝากประจำของจำเลยพร้อมดอกเบี้ยในวันที่ 11 กันยายน 2534ที่ปิดบัญชีแล้ว จำนวน 4,123,250.00 บาท ตามเอกสารหมาย จ.19มาหักยอดหนี้ที่จำเลยค้างชำระจำนวน 4,327,954.63 บาทตามข้อตกลงในสัญญาแล้ว คงเหลือหนี้ที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์เพียง 204,704.63 บาท เท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามาชอบแล้วฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share