แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตเลียมนั้นคู่สัญญาคือจำเลยที่1กับโจทก์เท่านั้นจำเลยที่3ไม่ได้เป็นคู่สัญญากับโจทก์ด้วยเพียงแต่ว่าโจทก์ได้ตกลงกับจำเลยที่1กำหนดเงื่อนไขการชำระราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่จำเลยที่1สั่งซื้อจากโจทก์ว่าจำเลยที่1จะชำระเป็นเช็คและกำหนดตัวผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเช็คในนามของจำเลยที่1ได้คือจำเลยที่2หรือที่3และเช็คที่สั่งจ่ายต้องเป็นเช็คของธนาคารที่ระบุไว้ในข้อตกลงเท่านั้นดังนั้นการที่จำเลยที่3ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คทั้ง15ฉบับตามฟ้องจำเลยที่3จึงกระทำไปในฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยที่1เท่านั้นเมื่อไม่ปรากฎว่าจำเลยที่3กระทำนอกขอบอำนาจในฐานะตัวแทนของจำเลยที่1ซึ่งเป็นตัวการจำเลยที่3จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นการส่วนตัว ตามคำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดชำระราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่จำเลยที่1ค้างชำระแก่โจทก์เท่านั้นไม่มีข้อความในคำฟ้องที่แสดงให้เห็นว่าโจทก์ประสงค์จะให้จำเลยที่3รับผิดตามเช็คที่จำเลยที่3เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายและเมื่อมีการชี้สองสถานศาลชั้นต้นก็กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ในข้อ2เพียงว่าจำเลยทั้งสามซื้อสินค้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมตามฟ้องแล้วค้างชำระราคาจำเลยทั้งสามต้องร่วมกันชำระค่าสินค้าและค่าปรับแก่โจทก์ดังฟ้องหรือไม่ดังนั้นปัญหาที่ว่าจำเลยที่3จะต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา900หรือไม่จึงเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันแล้วในศาลชั้นต้นศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยในประเด็นนี้จึงชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามเป็นลูกค้าของโจทก์โดยทำสัญญาในนามจำเลยที่ 1 กับโจทก์ เป็นผู้แทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมประเภทสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซยานพาหนะของโจทก์มีกำหนด 10 ปี นับแต่ วันที่ 3 มีนาคม 2529 ถึงวันที่2 มีนาคม 2539 ในการซื้อผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมจากโจทก์ จำเลยทั้งสามจะต้องชำระด้วยเงินสดหรือตั๋วแลกเงิน เว้นแต่โจทก์จะตกลงยินยอมให้จำเลยชำระโดยวิธีอื่น ต่อมาจำเลยทั้งสามได้ทำข้อตกลงกับโจทก์กำหนดวิธีการซื้อผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมไปส่งให้ ณ สถานที่จำหน่ายของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1จะชำระราคา ณ สถานที่นั้นโดยใช้เช็ค (วิธี ซี.โอ.ดี) โดยจำเลยที่ 2 หรือที่ 3 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่าย ในกรณีธนาคารปฎิเสธการจ่ายเงิน จำเลยจะต้องชำระค่าปรับแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน จากจำนวนเงินที่ระบุในเช็ค โดยคำนวณเป็นรายวันนับแต่วันรับมอบผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมจากโจทก์จนถึงวันที่โจทก์ได้รับชำระเงินตามเช็คจนครบ ระหว่างวันที่15 ตุลาคม 2531 ถึงวันที่ 25 มกราคม 2532 จำเลยทั้งสามสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมจากโจทก์ 15 ครั้ง โจทก์ได้ส่งมอบผลิตภัณฑ์ให้ครบถ้วนแล้ว จำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คธนาคารไทยทนุ จำกัด สาขารามคำแหง ชำระราคารวม15 ฉบับ เป็นเงินทั้งสิ้น 655,423.40 บาท แต่โจทก์เรียกเก็บเงินจากธนาคารตามเช็คไม่ได้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน จำนวน 655,423.40 บาท พร้อมค่าปรับอัตราร้อยละ2 ต่อเดือน นับแต่วันรับมอบผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมถึงวันฟ้องเป็นเงิน 311,335.08 บาท และนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 1 ขออนุมัติซื้อผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมจากโจทก์โดยวิธี ซี.โอ.ดี ซึ่งจะต้องชำระราคาผลิตภัณฑ์ปิโตเลียมเป็นเช็ค เบิกจ่ายจากบัญชีกระแสรายวันของธนาคารสหธนาคาร จำกัด สาขารามคำแหง จะชำระเป็นเช็คของธนาคารอื่นไม่ได้ เพราะขัดกับวิธี ซี.โอ.ดี. หนี้ที่โจทก์ฟ้องจึงไม่เป็นความจริงและขัดต่อสัญญา ลายมือชื่อในใบสั่งซื้อไม่ใช่ลายมือชื่อผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คก็เป็นเพียงผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยเลยที่ 1 และที่ 2 เท่านั้น หาได้เป็นลูกหนี้โจทก์เป็นการส่วนตัวไม่ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 966,758.48 บาท พร้อมเบี้ยปรับอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน ในต้นเงิน 655,423.40 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3
โจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์ แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2มิได้นำส่งสำเนาคำร้องขอทุเลาการบังคับและสำเนาอุทธรณ์ให้แก่โจทก์ตามคำสั่งของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1และที่ 2 ทิ้งฟ้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าว่าจำเลยที่ 1เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2529 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2หุ้นส่วนผู้จัดการได้ทำสัญญาเป็นผู้แทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมประเภทสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงก๊าซยานพาหนะกับโจทก์ เป็นเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ 3 มีนาคม 2529 ถึงวันที่2 มีนาคม 2539 ตามเอกสารหมาย จ.6 หลังจากทำสัญญาดังกล่าวแล้วโจทก์และจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการได้ทำข้อตกลงกันว่า การสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมจากโจทก์ให้ใช้วิธี ซี.โอ.ดี ซึ่งมีความหมายว่า โจทก์จะนำผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่จำเลยที่ 1 สั่งซื้อไปส่ง ณ สถานที่จำหน่ายของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 จะชำระราคา ณ สถานที่ส่งมอบการสั่งซื้อก็ดีหรือการชำระราคาแก่โจทก์ก็ดี จำเลยที่ 2 หรือที่ 3 จะเป็นผู้สั่งซื้อหรือสั่งจ่ายเช็คก็ได้ ในกรณีที่ธนาคารตามเช็คปฎิเสธการจ่ายเงิน จำเลยที่ 1 ยอมชำระค่าปรับแก่โจทก์อัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน นับแต่วันรับมอบผลิตภัณฑ์จนกว่าจะชำระเสร็จตามเอกสารหมาย จ. 7 ระหว่างวันที่ 15 ตุลาคม 2531 ถึงวันที่ 17 มกราคม 2532 จำเลยที่ 3 ได้สั่งซื้อผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมจากโจทก์ 15 ครั้ง ตามใบสั่งซื้อเอกสารหมาย จ.18ถึง จ.32 รวมเป็นเงิน 655,423.40 บาท โจทก์ส่งมอบผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมให้จำเลยที่ 1 ครบถ้วนแล้วตามเอกสารหมาย จ.35 ถึงจ.42 จำเลยที่ 3 ได้สั่งจ่ายเช็คธนาคารไทยทนุ จำกัด สาขารามคำแหง ชำระราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมให้แก่โจทก์ จำนวน 15ฉบับ แต่ธนาคารตามเช็คปฎิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้ง 15 ฉบับตามเอกสารหมาย จ.43 ถึง จ. 51 และ จ.53 ถึง จ.58 ซึ่งเป็นการผิดสัญญาต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมต่อโจทก์เป็นเงิน 655,423.40 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยปรับอีกร้อยละ 2 ต่อเดือน นับแต่วันรับมอบผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 311,335.08 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 966,758.48 บาท และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ต้องรับผิดค่าเบี้ยปรับอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนในต้นเงิน 655,423.40 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์อีกด้วย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมพร้อมด้วยเบี้ยปรับแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า เอกสารหมาย จ.6 ซึ่งเป็นสัญญาตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมนั้น คู่สัญญาคือจำเลยที่ 1 กับโจทก์เท่านั้น จำเลยที่ 3 ไม่ได้เป็นคู่สัญญากับโจทก์ด้วยเพียงแต่ว่าโจทก์ได้ตกลงกับจำเลยที่ 1 กำหนดเงื่อนไขการชำระราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่จำเลยที่ 1 สั่งซื้อจากโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 จะชำระเป็นเช็คและกำหนดตัวผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเช็คในนามของจำเลยที่ 1 ได้ คือจำเลยที่ 2 หรือที่ 3 และเช็คที่สั่งจ่ายต้องเป็นเช็คของธนาคารที่ระบุไว้ในข้อตกลงเท่านั้นดังจะเห็นได้จากหนังสือรับรองการซื้อผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมโดยวิธี ซี.โอ.ดี ที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับโจทก์ และโจทก์ได้อนุมัติแล้วตามเอกสารหมาย จ.7 ข้อ 9 ที่ว่า ข้าพเจ้า (หมายถึงจำเลยที่ 1) ได้มอบตัวอย่างลายมือชื่อของผู้มีอำนาจกระทำการในนามหรือทำแทนข้าพเจ้า (จำเลยที่ 1) ไว้แก่ ปตท. (หมายถึงโจทก์) ดังต่อไปนี้ โดยมีตัวอย่างลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งเอกสารหมาย จ.7 นี้ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อในช่องผู้ให้คำรับรองในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1เพียงผู้เดียวโดยจำเลยที่ 3 ไม่ได้ลงลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าวด้วยแต่อย่างใด คงมีปรากฎเฉพาะตัวอย่างลายมือชื่อของจำเลยที่ 3 เท่านั้น ดังนั้นการที่จำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คทั้ง 15 ฉบับ ตามฟ้อง จำเลยที่ 3 จึงกระทำไปในฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 เท่านั้น เมื่อไม่ปรากฎว่าจำเลยที่ 3 กระทำนอกเหนือขอบอำนาจในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นตัวการ จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นการส่วนตัว ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระราคาค่าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมแก่โจทก์ เมื่อธนาคารปฎิเสธการจ่ายเงินจำเลยที่ 3 ก็ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 900 นั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดชำระราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระแก่โจทก์เท่านั้น ไม่มีข้อความในคำฟ้องที่แสดงให้เห็นว่าโจทก์ประสงค์จะให้จำเลยที่ 3 รับผิดตามเช็คที่จำเลยที่ 3 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่าย และเมื่อมีการชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นก็กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ในข้อ 2 เพียงว่า จำเลยทั้งสามซื้อผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมตามฟ้อง แล้วค้างชำระราคา จำเลยทั้งสามต้องร่วมกันชำระค่าสินค้าและค่าปรับแก่โจทก์ดังฟ้องหรือไม่ดังนั้น ปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คหรือไม่จึงเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น เป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยในประเด็นนี้จึงชอบแล้ว
พิพากษายืน